ตรัง-ผ่าพิสูจน์แล้ว 4 ชั่วโมงเต็ม ซากพะยูนผอม ทีมสัตวแพทย์กรมทช.เผย เป็นพะยูนเพศผู้ อายุ 20 ปี หนัก 220 กิโลกรัม สาเหตุป่วยตาย เพราะพบพยาธิเต็มท้อง ยังมีหญ้าทะเลในกระเพาะอาหารและคาในปาก เผย สาเหตุเกยตื้นตายส่วนใหญ่มาจากอาการป่วย ปี67 พะยูนตรังเกยตื้นตายแล้วเป็นตัวที่ 4 ทีมบินสำรวจระบุ พบเป็นหากินเป็นฝูงน้อยลง อาจเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากวิกฤตหญ้าทะเลเสื่อมโทรมหรือไม่ ยังมีหวัง พะยูนกระบี่พบคู่แม่ลูกอีก
ผู้สื่อ/ข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า จากกรณีที่เพจโซเชียล “ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ” เผยโพสต์ภาพพะยูนที่มีสภาพผอม ว่ายอยู่บริเวณใกล้กับชายหาด บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง คืบล่าสุด วันนี้ 8 มีนาคม 2567 พบว่าพะยูนตัวดังกล่าวตายแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ เวลาประมาณ 09.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลปละชายฝั่ง(ทช.) ได้นำซำพะยูนผอมตัวดังกล่าวมาทำการผ่าชันสูตรซากโดยทีมสัตวแพทย์ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นซากพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ความยาว 250 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 220 กิโลกรัม ลักษณะภายนอกเขี้ยวอยู่ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง และยังมีร่องรอยการกินหญ้าคาอยู่ภายในปาก พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัวบ่งบอกว่าสัตว์อยู่นิ่งเป็นเวลานานเนื่องจากมีอาการป่วย เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายใน ส่วนของทางเดินอาหารพบพยาธิตัวกลมเต็มท้องในกระเพาะ ลำไส้พบเนื้องอกเนื้อตาย และยังพบพยาธิตัวกลมพยาธิใบไม้ และในลำไส้ใหญ่พบไมโครพลาสติกปะปนเล็กน้อย โดยในกระเพาะพบว่ามีหญ้าทะเลชนิดหญ้าใบมะกรูด หญ้าเข็ม(ซึ่งหญ้าเข็มจะพบในระดับน้ำลึกกว่าหญ้ามะกรูด) แต่มีอยู่น้อย
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทีมสัตวแพทย์ ใช้เวลาในการผ่าพิสูจน์นายถึง 4 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งเจ้าหน้าที่ลงความเห็นสาเหตุการตาย ว่า สัตว์ป่วยเรื้อรัง เนื่องจากมีพยาธิตัวกลมเต็มกระเพาะอาหาร โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูกเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป
นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทช. กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา สำหรับพะยูนเกยตื้นตายในจังหวัดตรัง พบพะยูนเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว โดยเราจะพบว่าพะยูนเกยตื้นมากที่สุดในช่วงปลายปี คาดว่าในช่วงกลางๆปีมีโอกาสการเกิดขึ้นน้อยลง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากที่เราเก็บข้อมูลมาหลายปี สาเหตุหลักของการเกยตื้นของพะยูนนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ค่อนข้างจะวินิจฉัยยาก เพราะซากจะเน่า น้อยมากที่เราจะเจอซากที่สด เมื่อเจอซากเน่า อวัยวะภายในค่อนข้างที่จะพิสูจน์ยาก จะเห็นได้ว่าตัวล่าสุด ลักษณะที่ 1.เราพบพยาธิในกระเพาะมากขึ้น ชี้ชัดว่ามันป่วย 2.พบหนอง พบก้อนเนื้อที่คล้ายมะเร็งลักษณะผิดปกติในอวัยวะภายใน ซึ่งค่อนข้างจะเจอในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของการเกยตื้น
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- นครพนม : กองทัพบก ร่วมกับ Kubota มอบไออุ่นในพื้นที่ภาคอีสาน มอบเสื้อกันหนาวให้ชาวนครพนม ตามโครงการ "คูโบต้า พลังใจ สู้ภัยหนาว" ปี 2567
- พะเยา สุดเศร้า!!เจ้าของลูกสุนัขช่วยสุนัขถูกวางยารอด 2ตาย 3
“ลักษณะที่พะยูนตัวดังกล่าวผอม เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือมันป่วยแล้วทำให้มันผอม หรือ มันอดอาหารแล้วเหนี่ยวนำทำให้มันป่วย ซึ่งจากการที่สัตวแพทย์ ชันสูตรในเบื้องต้นพบว่า ลักษณะของหัวใจอักเสบ และมีก้อนไขมันในหัวใจ ซึ่งถ้าพบว่าในกระเพาะของพะยูนมีแผล ก็อาจจะเป็นเพราะขาดอาหารได้ แต่นี่พบว่ามีพยาธิเต็มกระเพาะเกิดจากอาการป่วยเรื้อรัง” ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง ระบุ
ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กล่าวอีกว่า ส่วนพะยูนจะย้ายถิ่นฐานหรือไม่นั้นตัวเลขยังสรุปไม่ได้ หากพบแหล่งหญ้าเสื่อมโทรมสัตว์ก็จะย้าย และที่พบในกระเพาะตัวล่าสุดจะเป็นหญ้าเข็ม ซึ่งแสดงว่าพะยูน ไปหากินในระดับน้ำลึก แต่เราก็พบเจอหญ้าใบมะกรูดซึ่งเป็นหญ้าที่พะยูนยังคงหากินในที่แหล่งเดิมอยู่ เพราะหลักๆที่เราเจอความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล เราจะเจอในแหล่งน้ำตื้นและเป็นในบริเวณที่หญ้าแห้งระดับน้ำลงต่ำสุด ในเบื้องต้นทางศูนย์ตอนนี้ ที่ทำการสำรวจพะยูนโดยการใช้เครื่องบินเล็ก ซึ่งร่วมสำรวจตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา สิ้นสุดในวันที่ 10 มีนาคมนี้ เพราะฉะนั้นจำนวนตัวเลขพะยูนของจังหวัดตรัง เราก็ยังบอกไม่ได้ สำหรับจังหวัดตรังยังสำรวจไม่เสร็จ แต่ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พบพะยูนทั้งหมด 31 ตัว ซึ่งพบตัวแม่ลูก 2 คู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก พบว่าอยู่ในพื้นที่มีการขยายพันธุ์
ด้านนายวัชรบูล ลี้สุวรรณ หรือโน๊ต ดาราดังร่วมกับทีม อาสาสมัครร่วมบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ตนได้มีโอกาสมาร่วมกับทีมที่ทำงานภาคสนาม และบังเอิญเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีพะยูนตายพอดี ทำให้ได้เห็นหมดตั้งแต่การบินสำรวจ บินโดรนและนั่งเรือสำรวจ จนสุดท้ายผ่าซากพะยูน ซึ่งตนมาสำรวจปีนี้เป็นปีแรก แต่จากที่สอบถามทีมงานอื่นๆ ทราบว่าประชากรพะยูนลดจำนวนน้อยลง ซึ่งแต่ก่อนเจอเป็นฝูงเป็นกลุ่ม แต่ปีนี้อยู่แบบกระจัดกระจาย ซึ่งต้องบินหาอยู่พอสมควรกว่าจะเจอ ซึ่งก็ไม่รู้สาเหตุเหมือนกันว่าเพราะอะไร และเท่าที่บินสำรวจก็ยังไม่พบพะยูนคู่แม่ลูกเลย
ด้านนายTom Potisit ช่างภาพอาสาสมัครร่วมบิลสำรวจสัตว์ทะเลหายาก บอกว่า ได้ร่วมกับคณะบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก เพื่อที่นักวิจัยจะใช้ข้อมูลตรงนี้ไปอนุรักษ์ทะเลหายากในประเทศไทย ซึ่งที่ไปสำรวจมีจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี สตูล ชุมพร ทำเป็นโรดแมพ เชื่อมข้อมูลหาวิธีการอนุรักษ์ให้เป็นภาพใหญ่ขึ้น และในเรื่องของหญ้าทะเลเสื่อมโทรมนั้นตนเริ่มเห็นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเสื่อมโทรมเร็วมากในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแหล่งหญ้าทะเลที่เกาะลิบงเริ่มหายไปเยอะมากจริงๆ และจากการบินสำรวจจำนวนประชากรพะยูนในเกาะลิบงน้อยมากจริงๆ แต่เราไปเจอพะยูนในจังหวัดอื่นๆ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากเคลื่อนตัวหรือกระจายตัว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: