X

“ปิ่นสักก์” ลงสำรวจด่วน! พลิกมุมสาเหตุใหม่ ตะกอนปริศนาทับถมหญ้าทะเล หาที่มารู้ผลใน 1 เดือน เตรียมหารือกรมเจ้าท่าวางแนวทางป้องกันผลกระทบขุดลอก แจงบินสำรวจพะยูนฮวบ สภาพอากาศ-น้ำไม่อำนวย เชื่อยังไม่ตายแต่ย้ายถิ่นฐาน

ตรัง-“ปิ่นสักก์” ลงสำรวจด่วน! วิกฤตพะยูนตรัง พลิกมุมหาสาเหตุใหม่ เจอกับตาตะกอนปริศนาทับถมแนวหญ้าทะเล นำตัวอย่างวิเคราะห์หาที่มา รู้ผลใน 1 เดือน เตรียมหารือกรมเจ้าท่าวางแนวทางป้องกันผลกระทบจากการขุดลอก แจงบินสำรวจรอบแรกพบประชากรพะยูนลดฮวบ เพราะสภาพอากาศไม่อำนวย-น้ำทะเลขุ่น เชื่อตัวเลขที่หายไปไม่ตาย อาจย้ายถิ่นฐานเพราะไม่พบซาก ระดมทีมใหญ่บินสำรวจใหม่ปลายเดือนนี้ ดึงกองทัพอากาศช่วย เชื่อไม่กระทบความเชื่อมั่นนานาชาติอนุรักษ์สัตว์ไซเตสเหลว

จากกรณีวิกฤตหญ้าทะเลตรัง เสื่อมโทรมตายลงเป็นจำนวนมากนับหมื่นๆไร่ ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของพะยูนฝูงสุดท้ายของประเทศไทย รวมทั้งสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ สาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น และการทับถมของดินตะกอนบริเวณแหล่งหญ้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ได้ระดมทีมนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกระทิของประเทศลงพื้นที่สำรวจหาสาเหตุ พบเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลลดต่ำลงมากขึ้นและนานกว่าปกติ ทำให้หญ้าผึ่งแดดนานขึ้น ขณะที่ชาวบ้านชายฝั่งในพื้นที่รวมทั้งเครือข่ายอนุรักษ์ ระบุอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือการทับถมของตะกอนทรายจากการขุดลอกร่องน้ำกันตังโดยกรมเจ้าท่าเพื่อการเดินเรือ แม้จะหยุดขุดไปแล้วเมื่อราวปี 2563 แต่ผลกระทบยังคงมีมาต่อเนื่อง โดยถือว่าขณะนี้สถานการณ์หญ้าทะเลอยู่ในขั้นวิกฤต ส่งผลให้พะยูนเสี่ยงสูญพันธุ์ หรือย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่เขตอนุรักษ์ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงการตายจากอุบัติเหตุ และภัยคุกคามอื่นๆได้ โดยระหว่างวันที่ 5-11 มีนาคม 2567 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้ปฏิบัติภารกิจออกปฏิบัติงานสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่จังหวัดตรัง โดยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) โดยใช้เครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect และ Hot spot ร่วมกับนักบินอาสาสมัคร และวิธีการสำรวจทางเรือ บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และบริเวณแนวหญ้าทะเลใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง ผลการสำรวจโดยประมาณในเบื้องต้น พบพะยูนเพียง 36 ตัว พบพะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 1 คู่ เป็นตัวเลขที่ลดฮวบลงจาการสำรวจในปี 2566 ที่ผ่านมาที่เคยพบถึง 194 ตัว

ล่าสุดเมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 13 มีนาคม 2567 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลปละชายฝั่ง(ทช.) พร้อมด้วยดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง กรมทช. ทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลกรมทช. และทีมคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ที่แต่งตั้งโดยอธิบดีกรมทช. ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำรวจสถานการณ์ปัญหาวิกฤตหญ้าทะเลตรัง รวมทั้งสถานการณ์พะยูน อย่างเร่งด่วนอีกครั้ง โดยคณะได้ล่องเรือจากท่าเรือปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อสำรวจตามแนวโครงการขุดลอกร่องน้ำปากเมงของกรมเจ้าท่าที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ก่อนจะไปสมทบกับคณะทำงานที่กำลังลงพื้นที่สำรวจแปลงหญ้าทะเลแปลงใหญ่บริเวณหน้าเกาะมุกด์ อำเภอกันตังในช่วงน้ำลงต่ำสุด โดยปรากฏพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นบริเวณกว้าง ทั้งหญ้าคาทะเลที่มีใบขาดสั้นจากที่เคยมีความยาวเกือบ 1 เมตร บางส่วนทั้งใบและเหง้ามีภาวะแห้งตาย รวมทั้งหญ้าใบมะกรูดที่มีสภาพเสื่อมโทรม โดยคณะทำงานได้นำเอาเทคโนโลยีการบินสำรวจพะยูนด้วย UAV Lider scan และการสำรวจชายฝั่งด้วย USV เพื่อจัดทำแบบจำลองลักษณะสมุทรศาสตร์กายภาพท้องนำมาใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิ่นสักก์ได้ลงมือขุดลงไปบนพื้นทรายเพื่อต้นหาตำแหน่งของเหง้าหญ้าคาทะเลด้วยตัวเอง โดยพบว่าต้องขุดลึกลงไปมากกว่าปกติ เนื่องจากมีตะกอนทรายทับถมค่อนข้างหนา ต้องขุดลงไปราว 10-15 เซนติเมตรจึงจะเจอโคนใบและเหง้า จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำการเก็บตัวอย่าง ทั้งหญ้าทะเล เหง้า และหน้าดินนำสู่การทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ ชนิดและที่มาของตะกอนต่อไป ขณะที่บริเวณน้ำตื้นใกล้ๆกัน ปรากฏมีพะยูนตัวใหญ่กำลังลอยตัวกินหญ้าทะเลอยู่ โดยมีพฤติกรรมใช้ปากดุนไปตามพื้นทรายเพื่อหาหญ้าทะเลซึ่งมีอยู่จำนวนน้อย ทำให้พะยูนต้องเคลื่อนที่เพื่อหาหญ้าอยู่ตลอดเวลา โดยนายปิ่นสักก์ได้ยืนสังเกตการณ์อยู่ไม่ไกลพร้อมถ่ายภาพบันทึกไว้ด้วย ทราบภายหลังว่าพะยูนตัวดังกล่าวเป็นเพศผู้ ชื่อ “เจ้าลาย” เป็นพะยูนดาวดังประจำเกาะมุกด์ ที่คุ้นเคยกับคน และมักจะหากินหญ้าทะเลอยู่ตามแนวชายฝั่ง

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลปละชายฝั่ง(ทช.) ให้สัมภาษณ์หลังลงพื้นที่ ว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทส. รับทราบปัญหาก็ได้สั่งการให้กรมทช.หาสาเหตุที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุดและยั่งยืน พร้อมอนุมัติงบศึกษาวิจัยที่คณะทำงานเสนอไปทั้ง 8 โครงการ โดย 1 เดือนมี่ผ่านมาเราได้ลงพื้นที่ พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจริง โดยสมติฐานทีอยู่หลายด้าน เช่น จากโรค จากเต่ากิน จากตะกอนเปลี่ยนแปลง หรือ จากปัญหาโลกรวน แต่การลงพื้นที่รอบที่แล้วไม่สามารถสรุปได้ว่าอะไรคือสาเหตุหลัก ล่าสุดเราจึงแยกทีมทำงานกัน ทั้งทีมจากกรมทช. ทีมมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นปัญหาหลัก พบว่าเรื่องโรคน่าจะไม่ใช่สาเหตุหลัก เรื่องเต่าทะเลก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง แต่หลังเสื่อมโทรมแล้วเต่าที่มีปริมาณเท่าเดิมรวมทั้งพะยูนได้มารุมกินหญ้าทะเลที่เหลืออยู่

“ซึ่งสาเหตุหลักที่หลงเหลืออยู่คือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของตะกอน เพราะพบว่าหญ้าทะเลที่ตายเกิดจากการที่มันติดแห้งนานกว่าปกติ ทำให้ใบแห้งตาย แต่ในโซนที่อยู่ในทะเลไม่ได้ตายในอัตราส่วนเดียวกัน การสำรวจตะกอนในรอบนี้เราต้องการจะรู้ว่าน้ำและท้องทะเลเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยเรามีทีมโดรนสำรวจในวงกว้าง ตรงไหนที่ติดแห้งสามารถใช้โดรนเรด้าวัดค่าได้เลย ตรงไหนที่อยู่ในน้ำเราใช้เรือสำรวจแบบติดคลื่นสัญญาณ มีการวัดระดับความลึกของท้องทะเลเพื่อให้รู้ว่าสาเหตุติดแห้งเป็นสาเหตุหลักหรือไม่ และพื้นที่ไหนที่ติดแห้งนาน โดยทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะสำรวจและจำลองว่าตะกอนดังกล่าวมาจากไหน มาจากการขุดลอกหรือไม่ และทีมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะรวมข้อมูลตะกอนที่เปลี่ยนไปว่ามีผลต่อสัตว์หน้าดินหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดเพื่อจะได้ให้ยาได้ถูกโรค”อธิบดีกรมทช.กล่าว

 

 

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงเรื่องตะกอนในทะเลมี 2 สมมติฐาน คือ การขุดลอกร่องน้ำ และ ปัญหาโลกร้อน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำต่ำลงผิดปกติ และในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บางช่วงระดับน้ำต่ำกลงกว่า 40 เซนติเมตร ตอนนี้อาจารย์ในหลายมหาวิทยาลัยกำลังจะทำการศึกษาเรื่องตะกอนทะเลร่วมกัน เพื่อติดตามและวิเคราะห์องค์ประกอบของตะกอนทะเล เพื่อดูว่าตะกอนที่เพิ่มขึ้นเป็นตะกอนตัวเดียวกับตะกอนที่ขุดลอกหรือไม่ ซึ่งต้องใช้หลักวิชาการมายืนยัน โดยจะใช้เวลาวิเคราะห์ประมาณ 1 เดือน ระหว่างนี้สำหรับการประสานระหว่างหน่วยงานในการขุดลอกที่อาจส่งผลกระทบ มาตรการต้องเป็นมาตรการที่อยู่ร่วมกัน กิจกรรมทำได้ แต่ต้องก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และไม่ทำกิจกรรมที่ไม่สมควรทำ เรามีการประกาศเขตสงวนอยู่แล้วว่าโครงการไหนทำได้ทำไม่ได้ บางโครงการต้องทำ EIA แต่ในการดำเนินการหากมีช่องโหว่ต้องไปปรับตรงนั้น และการทำกิจกรรมต่างๆต้องกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมทช.มีแผนจะไปหารือกับกรมเจ้าท่าอยู่แล้ว การสำรวจจึงถือว่ามีความจำเป็น เพราะต้องคุยกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ตอนนี้เรื่องตะกอนมันมีมิติว่าในการเก็บตัวอย่างในบางจุดมันมีองค์ประกอบที่มีสัดส่วนเป็นทรายเพิ่มขึ้น มีลักษณะเป็นเฉพาะจุด เป็นพื้นที่ แต่ไม่อยากให้ด่วนสรุป เพราะแหล่งหญ้าทะเลไม่ได้เสียหายเฉพาะที่จังหวัดตรัง แต่ยังเสียในจังหวัดกระบี่ และมาเลเซียก็มีปัญหาเดียวกับเรา

นายปิ่นสักก์กล่าวอีกว่า สถานการณ์วิกฤตในขณะนี้ด้านผลกระทบต่อสัตว์และผลกระทบต่อมนุษย์ เต่าทะเล และ พะยูน เป็นสัตว์สงวนที่เป็นสัตว์สำคัญของจังหวัดตรัง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราบินสำรวจในพื้นที่จังหวัดตรัง และ กระบี่ จากเดิมที่เราเคยพบกว่าร้อยตัว ตอนนี้พบเพียง 30กว่าตัว แต่ขอเรียนว่าในสัปดาห์นั้นมีคลื่นลมและสภาพน้ำไม่ดี อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้หาตัวพะยูนพบน้อยกว่าปกติ แต่มันก็อาจจะเคลื่อนย้ายไปที่อื่นจริง แต่เชื่อว่าส่วนที่หายไปนั้นไม่ตาย เพราะเราไม่พบซาก หากตายซากจะลอยและเครือข่ายชาวประมงจะพบ ซึ่งปลายเดือนมีนาคมนี้ เราจะบินสำรวจใหม่โดยทีมชุดใหญ่ จะบินให้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าเดิม ใช้ทีมบินมากกว่า เดิมโดยกองทัพอากาศจะเข้ามาช่วยด้วย เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ต้องหาคำตอบให้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพะยูนมีการย้ายแหล่งหากินออกนอกเขตอนุรักษ์ จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ นายปิ่นสักก์กล่าวว่า หากเคลื่อนย้ายไปที่อื่น ก็ต้องดูว่าพื้นที่นั้นมีภัยคุกคามหรือไม่ ขณะนี้เรายังเน้นย้ำถึงเรื่องการบินสำรวจพะยูนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน รวมทั้งดูว่าถ้าอพยพไปที่อื่นจะมีหญ้าทะเลพอหรือไม่ และเรามีการตรวจสุขภาพพะยูนทั้งซากที่เจอ และพะยูนในทะเล ดูว่าว่ายน้ำปกติหรือไม่ รูปร่างผิดปกติหรือไม่ หรือถ้าพบพะยูนป่วยเรากับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง ได้ร่วมมือกันจะอนุบาลพะยูนอยู่แล้วโดยทีมสัตวแพทย์ เตรียมยา เตรียมแผนจัดการอาหารไว้แล้ว เมื่อถามว่า พะยูนเป็นสัตว์สงวน และสัตว์ตามบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์(ไซเตส) วิกฤตที่เกิดขึ้น จะส่งผลต่อภาพการอนุรักษ์ของประเทศไทยหรือไม่ อธิบดีกรมทช.กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการระดมทุกสรรพกำลังในเรื่องเหล่านี้ เป็นเครื่องยืนยันให้ต่างชาติเห็นว่าเราใส่ใจเรื่องพะยูน รวมทั้งดูแลบ้านให้พะยูนด้วย เป็นการทุ่มเทเพื่อดูแลอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทยและในจังหวัดตรัง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน