ตรัง- ผู้พิการ “คลาน” ขึ้นรถไฟ เรียกร้องการรถไฟคืนตู้ 8 ให้กลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุ หลังถูกยกเลิกตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิดจนบัดนี้ผ่านมาเข้าสู่ปีที่ 4 ยังไม่คืนตู้ แม้อดีต ผวจ.ตรัง เคยทำหนังสือส่งถึงผู้บริหารการรถไฟแล้วก็เงียบ กลุ่มผู้พิการเตรียมรวมพลบุกเรียกร้อง
ผู้พิการ “คลาน” ขึ้นรถไฟ ข้อเรียกร้องของตัวแทนผู้พิการชาว จ.ตรัง ที่เรียกร้องแทนผู้พิการทั้งจังหวัดตรัง และทั่วประเทศ หลังตกเป็นพลเมืองชั้นล่าง รถไฟไทยยกเลิกตู้พิเศษสำหรับผู้พิการ นับตั้งแต่ช่วงเกิดสถานการณ์โควิดระบาด มีการยกเลิกการเดินทาง แต่โควิดคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่คืนตู้ดังกล่าวกลับมาให้ผู้พิการแต่อย่างใด
นางสาวสุกานดา สุริยะรังสี ประธานชมรมคนพิการเทศบาลนครตรัง บอกว่า เป็นตัวแทนพี่น้องผู้พิการ โดยเฉพาะผู้พิการที่ต้องนั่งรถวีลแชร์ รวมทั้งผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องเดินทางด้วยรถไฟทั้งไปหาหมอเพื่อรักษาอาการป่วยที่กรุงเทพฯ ไปพบญาติ รวมทั้งไปทำงาน ที่ขณะนี้เดินทางด้วยรถไฟธรรมดาด้วยความยากลำบาก เพราะรถไฟไทย ไม่มีตู้พิเศษสำหรับให้บริการผู้พิการและผู้สูงอายุที่รู้จักในนาม “ ตู้ 8” โดยตู้ 8 ดังกล่าว จะอยู่บริเวณตู้กลางหรือโบกี้กลางของขบวนรถไฟ มีลิฟท์ทอดลงมาสำหรับยกวีลแชร์ขึ้นจากชานชาลา และทอดลิฟท์ลงมาให้ลงจากขบวนรถไฟได้อย่างสะดวก ภายในตู้กว้างขวางสะดวกสบาย มีห้องน้ำเฉพาะ แต่นับแต่สถานการณ์โควิดคลี่คลายผ่านมาเกือบ 4 ปีแล้ว ยังไม่ได้กลับคืน ที่ผ่านมาผู้พิการจ.ตรัง เคยไปยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ถึงผู้บริหารการรถไฟ ซึ่งการรถไฟขอร้องผู้พิการอย่าออกข่าวแล้วจะดำเนินการให้ พวกตนก็ทำตาม แต่ผ่านมากว่า 3 ปีจะ 4 ปีแล้ว ยังไม่ได้ โดยแต่ละครั้งผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ต้องคลานขึ้นรถไฟ หรือบางครั้งต้องให้คนช่วยหามขึ้น เวลาจะเข้าห้องน้ำเปลี่ยนแพมเพิส ก็ยากลำบาก บางคนเป็นผู้ป่วย หรือผู้พิการบางคนมีแผลกดทับ จำเป็นต้องใช้ลิฟท์ยก หรือต้องใช้ห้องน้ำสำหรับคนพิการ ก็ยากลำบาก นอนก็มีเลือดเต็มพื้น อยากเรียกร้องให้คืนตู้พิเศษให้คนพิการ เพราะลำพังคนพิการใช้ชีวิตก็ยากลำบากอยู่แล้ว ต้องคลานขึ้น หรือถูกหาม แม้บางคนอาจมองว่าผู้พิการเข้มแข็ง แต่ความจริงทุกคนมีความรู้สึกภายใจเปราะบางในหัวใจทุกคน อยากขอความเห็นใจ อยากได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม และปลอดภัย
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จากสวนปาล์มตรังสู่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานต้นแบบ ขุดสระน้ำเป็นรูปเลข 9 อารบิก สอดคล้องกับแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- ตรัง ราคายางดิ่งกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม กยท.หนุนสถาบันทำโครงการชะลอยางสู้นายทุน
ด้านนายประสิทธิ์ หวนสิน บอกว่า ตนเองพิการขา เพราะเป็นโรคโปลิโอ แต่สามารถเดินทางขึ้นรถไฟได้ตามปกติ โดยจะขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพฯเดือนละ 2 ครั้ง คือ วันที่ 1 และวันที่ 17 ของทุกเดือน เพื่อไปรับสลากกินแบ่งรัฐบาล โควตาผู้พิการที่กองสลาก โดยจะมีเพื่อนซึ่งพิการต้องนั่งรถวิลแชร์ไปด้วยกันทุกครั้ง ตนเองจะต้องช่วยดูแลเพื่อนด้วย ซึ่งน่าสงสารมาก บางครั้งเพื่อนต้องคลานขึ้นรถไฟ โดยที่ให้ตนพับวีลแชร์เอาขึ้นให้ หากฝนตกจะยิ่งน่าสงสารและลำบากมาก เพราะเพื่อนต้องคลานขึ้นรถไฟขณะที่ก้นเปียกหมด บางครั้งรถไฟจอดรางที่ 2 หรือรางที่ 3 ไม่ได้จอดรางแรกติดชานชาลา เพื่อนก็ต้องคลานไปขึ้นรถ หรือต้องให้คนช่วยกันหามไปขึ้นรถ ซี่งลำบากมาก ส่วนตนเองสามารถขึ้นรถไฟตู้ทั่วไปได้ แต่ต้องดูแลเพื่อนด้วย และยังมีนักกีฬาคนพิการด้วย เวลาจะไปแข่งกีฬาต่างจังหวัด คนนั่งวีลแชร์ก็ต้องหามขึ้นรถไฟ บางครั้งเดินทางหลายทอดขึ้นรถไฟ ต้องหามทุกทอด เพราะรถไฟทุกจังหวัดก็ไม่มีตู้ 8 เช่นกัน ทั้งนี้ หากได้ตู้ 8 กลับมา จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการได้
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ ผู้พิการทุกประเภทในจ.ตรัง จะรวมตัวกันที่บริเวณหน้าโรงแรมตรัง เพื่อนั่งวีลแชร์ไปที่สถานีรถไฟ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และจะขึ้นรถไฟให้ผู้สื่อข่าวดูว่ายากลำบากขนาดไหน ด้วยรถไฟสายกรุงเทพฯ-กันตัง ไปลงที่สถานีรถไฟกันตัง และนั่งกลับมาที่สถานีรถไฟตรัง ให้เห็นว่ายากลำบากขนาดไหน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: