X

สุดเวทนา ผู้พิการตรังคลานขึ้น-ลงรถไฟทุลักทุเล ตู้เหล็กทำแขนขาบาดเจ็บ ร้องรมว.คมนาคม-ผู้ว่ารฟท. คืนตู้ 8 โอดพิการแล้วยังเหมือนถูกซ้ำเติม

ตรัง-สุดเวทนา ผู้พิการตรังคลานขึ้น-ลงรถไฟทุลักทุเล ตู้เหล็กทำแขนขาบาดเจ็บ ร้องรมว.คมนาคม-ผู้ว่ารฟท. คืนตู้ 8 เพื่อการใช้ชีวิตที่เท่าเทียม โอดพิการแล้วยังเหมือนถูกซ้ำเติมความเปราะบางในจิตใจ

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 เครือข่ายผู้พิการจงหวัดตรังจำนวน 20 คน รวมตัวกันบริเวณหอนาฬิกาตรัง ก่อนเดินทางไปยังสถานีรถไฟตรังเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการการรถไฟแห่งแประเทศไทย เรื่อง พิจารณาการจัดบริการที่เหมาะสมแก่คนพิการและผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นหรือวีลแชร์ โดยกลุ่มผู้พิการ ได้เรียกร้องการรถไฟคืนตู้ 8ให้ผู้พิการและผู้สูงอายุหลังถูกยกเลิกตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิดจนถึงบัดนี้ผ่านมาเข้าสู่ปีที่ 4 ยังไม่คืนตู้ที่ผ่านมา หลังได้ทำหนังสือผ่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรังไปยังผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)แต่เรื่องก็เงียบหายไป ซึ่งเดิมทีมีรถไฟตู้พิเศษสำหรับให้บริการผู้พิการและผู้สูงอายุที่รู้จักในนาม “ ตู้ 8” โดยตู้ 8 ดังกล่าว จะอยู่บริเวณตู้กลางหรือโบกี้กลางของขบวนรถไฟ มีลิฟท์ทอดลงมาสำหรับยกวีลแชร์ขึ้นจากชานชาลา และทอดลิฟท์ลงมาให้ลงจากขบวนรถไฟได้อย่างสะดวก ภายในตู้กว้างขวางสะดวกสบาย มีห้องน้ำเฉพาะ

โดยบรรยากาศการเดินขบวน กลุ่มผู้พิการได้เคลื่อนพลด้วยรถวีลแชร์จากบริเวณด้านหน้าโรงแรมตรัง ใกล้หอนาฬิกาตรัง มายังสถานีรถไฟตรัง ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร เพื่อยื่นหนังสือต่อนายสุวรรณ สุคนธ์รัตน์ นายสถานีตรัง โดยนายสถานีตรังรับปากในการนำเสนอข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้พิการให้ผู้บริหารรฟท.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ หลังจากยื่นหนังสือเสร็จผู้พิการได้รออยู่ที่สถานีรถไฟตรังจนถึงเวลาประมาณ 11.00 น. เพื่อโดยสารจากสถานีรถไฟตรังไปยังสถานีรถไฟกันตัง ด้วยขบวนรถเร็วที่167 ซึ่งออกจากสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์เมื่อวานนี้(14มีนาคม)ตอนเย็น เพื่อให้ได้เห็นความทุลักทุเลของการใช้บริการรถไฟของผู้พิการ ที่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ช่วยกันยกขึ้นลง แต่หากวันไหนไม่มีการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ ผู้พิการก็จะขึ้นรถไฟเองด้วยความยากลำบาก บางครั้งต้องคลานขึ้นรถไฟและใช้วิธีคืบคลานพยุงตัวเองไปถึงที่นั่งภายในห้องโดยสาร รวมทั้งสภาพให้ตู้โดยสาร ทั่วไปไม่เหมาะกับผู้พิการ เช่นมีทางเดินที่แคบ ห้องน้ำแคบ ไม่มีที่สำหรับเก็บรถวีลแชร์และอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ ทำให้หลายครั้งผู้พิการต้องได้รับบาดเจ็บเนื้อตัวถลอกเป็นแผลและมีเลือดออกจากการต้องคลานขึ้นขบวนรถ เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อขบวนรถมาถึง กลุ่มผู้พิการกว่า 20 คนได้ทยอยขึ้นไปบนขบวนรถอย่างทุลักทุเล โดยต้องลงจากวีลแชร์ แล้วคลานขึ้นบันได ไปตามพื้นจนถึงที่นั่ง แล้วช่วยกันบนวีลแชร์ตามกันไป เป็นภาพที่น่าเวทนาใจยิ่ง ขณะที่ประชาชนทั่วไปผู้พบเห็นรวมทั้งเจ้าหน้าที่รถไฟตรังก็ได้มาช่วยกันนำผู้พิการขึ้นขบวนรถด้วย บรรยากาศทุลักทุเลพอสมควร

นายธเนศ ทองชู ประธานสภาคนพิการจังหวัดตรัง กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้อยากให้รฟท.รับและออกเป็นคำสั่งที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาให้กับผู้พิการได้อย่างไร หรือมีการกำหนดวันเวลามาชัดเจนว่าจะได้ตู้กลับมาในวันไหน เพราะเราคอยมาจะ 4 ปีแล้ว เพราะรถไฟตู้ 8 มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ รัฐบาลอยากให้ผู้พิการออกมาสู่สังคมใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อเขาออกมาเขาก็ไปต่อไม่ได้ เพราะมีอุปสรรคในการเดินทาง มีอุปสรรคในการคมนาคมขนส่งสาธารณะ ที่ผ่านมากลุ่มคนพิการเคยใช้บริการรถไฟตู้ 8 มาแล้วเพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟท์ ห้องน้ำ ยกตัวอย่างเช่น ผู้พิการรายหนึ่งที่เขาต้องไปกรุงเทพฯเอาลอตเตอรี่ที่กองสลากเป็นประจำเดือนละ 2 ครั้ง เขาต้องขึ้นลงด้วยความลำบากทุลักทุเล วันไหนฝนตกก็เปียกปอนไปทั้งตัว จะเข้าห้องน้ำก็เข้ายากเพราะรถเข็นเข้าไม่ได้ เนื้อตัวก็ต้องสกปรก และการคลานขึ้นลงรถไฟก็ทำให้ผู้พิการได้รับบาดเจ็บเนื้อตัวบอบช้ำเพราะรถไฟเป็นเหล็กทั้งคัน รวมทั้ง อยากให้มีการอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ได้แก่ ที่จอดรถอย่างที่เห็นเข้ามาภายในสถานีรถไฟตรัง บริเวณลานจอดรถไม่มีจุดจอดรถของผู้พิการ ซ้ำยังมีรถของบุคคลภายนอกมาจอด อยากให้มีกฎบังคับที่ชัดเจน

ด้านนางสาวสุกานดา สุริยะรังสี ประธานชมรมคนพิการเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า ฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ว่าฯรฟท. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอรถไฟตู้ 8 คืนให้ผู้พิการด้วย อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐเล็งเห็นความลำบากของผู้พิการ โดยแต่ละครั้งผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ต้องคลานขึ้นรถไฟ บางครั้งต้องให้คนช่วยหามขึ้น เวลาจะเข้าห้องน้ำเปลี่ยนแพมเพิส ก็ยากลำบาก บางคนเป็นผู้ป่วย หรือผู้พิการบางคนมีแผลกดทับ จำเป็นต้องใช้ลิฟท์ยก หรือต้องใช้ห้องน้ำสำหรับคนพิการ ก็ยากลำบาก นอนก็มีเลือดเต็มพื้น อยากเรียกร้องให้คืนตู้พิเศษให้คนพิการ เพราะลำพังคนพิการใช้ชีวิตก็ยากลำบากอยู่แล้ว ต้องคลานขึ้น หรือถูกหาม แม้บางคนอาจมองว่าผู้พิการเข้มแข็ง แต่ความจริงทุกคนมีความรู้สึกภายใจเปราะบางในหัวใจทุกคน อยากขอความเห็นใจ อยากได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม และปลอดภัย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน