ตรัง เครือข่าย องค์กรงดเหล้าจังหวัดตรัง เปิดเวทีเสวนา ค้าน พ.ร.บ.เปิดขายสุราเสรี 24 ชั่วโมง ผลประโชน์ได้ใครนายทุนหรือประชาชน หวั่นกฎหมายไทยบทลงโทษบังคับใช้ไม่จริงจังพอ ขณะที่ครอบครัวเหยื่อจากสุรา ไม่เคยได้รับการเยียวยาและดูแล และต้องทนทุกข์ระทม กับบาดแผลในใจจนถึงทุกวันนี้
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง นางไพรัช วัฒนกุล ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดตรัง ร่วมกับเครือข่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการจังหวัดตรัง ร่วมกิจกรรมเวทีสาธารณะ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับความปลอดภัยและยั่งยืนของสังคม มีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน
ทั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมมือกันปกป้อง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อรับฟังข้อเสนอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวนโยบายในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ในกิจกรรมมีเวทีการเสวนาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับความปลอดภัยและยั่งยืนของสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาคือ นางไพรัช วัฒนกุล ผู้อำนวยการเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดตรัง นายชัยยา วีระกุล สาธารณสุขอำเภอนาโยงจังหวัดตรัง นางสาวฤทัย ก้งเส้ง เจ้าหน้าที่ปภ.จังหวัดตรัง นางสาวอมรรัตน์ ขาวปาน บริษัทยอดข้าวสุราทิพย์ ตัวแทนผู้ประกอบการ และนายสหศวรรษ หนูแม่น บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยทางถนนจังหวัดตรัง
ข่าวน่าสนใจ:
โดยในเวทีสาธารณะ พูดถึงประเด็นที่สุราต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และประเด็นที่ทางรัฐบาลแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ความสำคัญกับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรณีในการแก้ไขขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก และทางสาธารณสุขเสนอแนะในการปลดล็อคด้านสื่อโฆษณาแอลกอฮอล์เนื่องจากเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้เพิ่มมากขึ้น และประเด็นควบคุมสถานที่ วัด, โรงเรียน ฯลฯ เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ , การเชื่อมโยงการทำงานกับทุกภาคส่วนในการร่วมกันลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ , สะท้อนให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ,การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรมีการกำหนดโทษมาตรการที่ชัดเจนและบังคับใช้อย่างเข้มแข็ง, สะท้อนให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงผลเสีย/ผลกระทบจากการใช้แอลกอฮอล์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อทบทวนการดำเนินการดังกล่าว และช่วยทบทวนว่ากลุ่มใดที่ได้ผลประโยชน์ ตลอดจนเริ่มต้นจากการดูแลสื่อสารภายในสถาบันครอบครัว
นายสหศวรรษ หนูแม่น บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยทางถนนจังหวัดตรัง เปิดเผยว่าปัจจุบันพบสถิติอุบัติเหตุในจังหวัดตรังมีมากขึ้น โดยสาเหตุหลักอันดับแรก เกิดจากเมาแล้วขับถึง 85% อันดับที่ 2 ไม่สวมหมวกกันน็อคและอันดับที่ 3 ขับรถเร็ว ซึ่งพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำครอบครัว 60% และที่เกิดอุบัติเหตุจะเป็นผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์มากที่สุด ทั้งนี้หากพ.ร.บ.เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุดังกล่าวทุกคนต้องรณรงค์ชี้ให้เห็นว่าอันตรายเมาแล้วตาย นำเสนอสถานการณ์จริงให้มวลชนได้รับรู้
อย่างไรก็ตามหลังจากที่รับฟังปัญหาแล้วนั้นทางองค์กรจะรวบรวมข้อมูลและนำไปยื่นต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังทุกคนทุกเขต ต่อไป
นางไพรัช วัฒนกุล ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดตรัง บอกว่า สำหรับเวทีเสวนาวันนี้ จากการที่เราพูดคุยกันนั้น ไม่ได้เห็นด้วยกับการเพิ่มเวลาขาย ซึ่งเวลาเดิมมันก็น่าจะพอสมควรอยู่แล้ว เนื่องจากพอจังหวัดที่เป็นต้นแบบที่มาเพิ่ม ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องจะรู้สึกว่าเกิดปัญหา ซึ่งพบว่ามีประเด็นปัญหาเนื่องจากคนเมาสุราเยอะ ในฐานะที่เราเป็นประชาชนชาวจังหวัดตรัง จึงอยากให้ทางรัฐบาลทบทวน พ.ร.บ. ในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าเอาสุรา มาเป็นประเด็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงไหม ผลลัพธ์กับผลเสียที่มันได้ที่เกิดกับ ประชาชนจริง ๆ มันใช่หรือเปล่า หรือผลประโยชน์ที่มันเกิดที่เขาต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ มันอยู่กับผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ของที่เป็นสส.ที่เขาเป็นที่ปรึกษา เพราะฉะนั้นเราคิดว่านักการเมืองที่ประชาชนเลือกไป ถ้าคิดว่าประชาธิปไตยมันมีจริง ลองมาฟังเสียงข้างล่างดูบ้าง ว่าแต่ละพื้นที่เขารู้สึกอย่างไร ซึ่งเขาไม่มีโอกาสพูดแต่เขาเลือกคุณไปเป็นตัวแทน แต่ที่เลือกมาเป็นตัวแทนเพื่อที่จะให้นำเสนอสิ่งดี ๆ แต่มา ณ วันนี้เราจะเปลี่ยนพ.ร.บ.ใหม่ ซึ่งในฐานะที่เรามองภาพรวม ของระดับประเทศว่ามันเป็นปัญหา และมันสร้างรอยร้าวให้กับในใจ เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับนางรัชฐิรัชฎ์ ซุ่นสั้น ที่เสียสามีไปกับเหตุการณ์ที่ คนเมาขับรถมาชนสามีของนางรัชฐิรัชฎ์ตาย แต่ยังโชคดีที่สามีของเขา ทำอาชีพราชการ แต่ในขณะที่อีก 4 ครอบครัว ไม่ได้รับความเยียวยา ไม่ได้รับความเป็นธรรม คนที่ชนคนตาย 5 ชีวิต รับโทษแค่ปีกว่าๆก็ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกแล้ว แต่คนที่สูญเสียครอบครัว เขาจะมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง นี่คือประเด็นที่อยากให้ทางรัฐบาลเอากลับไปแก้ไขทบทวน ว่าสิ่งที่คุณทำมันสุขและกระตุ้นจริงไหม แล้วกระตุ้นนั้นไปกระตุ้นกลุ่มไหน เราอยากให้มาช่วยในเรื่องของการช่วยเหลือสินค้าชุมชน เล่นเรื่องความสุขของประชาชน ที่จะสามารถช่วยเหลือชุมชนได้จริง ๆ ดีกว่าไหม นี่คือเสียงสะท้อนในเวทีการเสวนาในวันนี้ ซึ่งวันนี้พอมาได้ยินปริมาณการสูญเสียก็รู้สึกตกใจ ซึ่งไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย ถือเป็นการจุดประกายที่จะเปล่งเสียงไปให้ทางผู้แทนหรือผู้บริหารประเทศหันกลับมามองประชาชน ขอฝากประเด็นนี้ ซึ่งคิดว่าถ้ามีการขยายเวลา จะทำให้เกิดปัญหาทั่วประเทศได้ ซึ่งตนเองในฐานะที่เป็นนักรณรงค์ไม่เห็นด้วย ขอให้รัฐบาลเอากลับไปทบทวนดูใหม่
และหลังจากสถานการณ์วันนี้เราจะนำข้อมูลดังกล่าวที่รวบรวมได้ไปยื่นให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรังที่มี 3 คนด้วยกัน ซึ่งเรื่องตรงนี้เป็นเรื่องที่เราทุกคนคาดหวังและก็ฝากความหวัง ผ่านไปกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากคิดว่าประเทศไทยเรามีประชาธิปไตยจริง ขอให้คุณฟังเสียงประชาชนด้วย
ในขณะที่ผู้สื่อข่าวขอสัมภาษณ์ นางรัชฐิรัชฎ์ ซุ่นสั้น อายุ 48 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.ตรัง และยังเป็นครอบครัวเหยื่อ ที่ถูกคนเมาแล้วขับรถชนสามีของตนเองเสียชีวิต บอกว่า ทุกวันนี้ได้เงินเดือนจากแฟน แค่สบายกายไม่ได้สบายใจ ในฐานะที่เป็นครอบครัวเหยื่อแล้วก็เป็นเคสที่โดนกระทบโดยตรงก็อยากจะฝากถึงในส่วนของ เราทั่วไปที่อยู่บนท้องถนน ถ้าให้พูดถึงว่าดื่มแล้วไม่ขับนั้นมันคงเป็นเพียงคำพูด แต่ถ้าคุณดื่มแล้วอยากให้คุณมีวุฒิภาวะ หรือจิตสำนึกที่จะ รับผิดชอบตัวเองรับผิดชอบสังคม อย่าคิดแต่ว่าเราจะกลับให้ถึงบ้านเพราะว่าเคส ของตนเองนั้น ซึ่งผู้ที่ก่อเหตุเมาแล้ววัดแอลกอฮอล์ได้ประมาณ 170 คือขับไปและชนไม่ได้สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น และเกิดขึ้นแล้วซึ่งความรับผิดชอบของคน ก็ไม่มีเลยส่งผลให้ครอบครัว 5 ครอบครัว แต่ว่าอีก 5 ครอบครัวที่เหลืออยู่ก็ตายทั้งเป็น มันจะมีแผลมีผลกระทบในส่วนจิตใจและก็รายได้ ในส่วนเศรษฐกิจทุก ๆ อย่างมีผลกระทบต่อเนื่องหมดเลย เพราะฉะนั้นถ้าเราป้องกันได้คือดื่มไม่ขับจะดีที่สุด แต่ถ้าขับก็ต้องรู้ปริมาณในการที่จะประคองตัวเอง รับผิดชอบสังคมได้ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ถ้าเข้าปีนี้ก็ระยะเวลามา 7 ปีแล้ว ผ่านมา 7 ปีแล้ว ในส่วนของความรับผิดชอบของผู้ที่กระทำคือรับโทษเฉพาะจ่ายค่าปรับ 3,400 บาท และจำคุก 4 ปีแต่จำคุกจริง ๆ ไม่ถึงก็ออกมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว และสังคมก็ลืมไปแล้ว แต่ครอบครัวที่โดนกระทำ เขายังต้องเผชิญอยู่กับความจริงการใช้ชีวิตการที่ต้องดิ้นรนและต้องต่อสู้ ในการที่จะมีชีวิตอยู่ ซึ่งตอนนี้ตัวเองเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมา 7 ปีแล้ว ซึ่งตนเองมีลูกสาว 2 คนแล้ว เรียนจบมีงานทำกันหมดแล้ว ซึ่งครอบครัวเราก็ไม่ได้รับการเยียวยาแม้แต่สลึงเดียว ในส่วนของสภาพจิตใจตนเองไม่เคยลืมเลยตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ซึ่งปกติครอบครัวของเราจะประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูก ซึ่งเมื่อลูกเติบโตแล้วก็ไปใช้ชีวิตของตนเอง เราเคยวางแผนไว้ว่าตนเองจะใช้ชีวิตอยู่กับสามีด้วยกันสองคน แต่ตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวแต่ก็ เลี้ยงสัตว์เลี้ยงแมวไว้เป็นเพื่อน ทุกวันนี้ยังมีท้อแล้วก็คิดถึงสามีตนเอง อยู่ตลอด เหมือนคนที่กระทำจะไม่รู้หรอก แต่บาปตรงนี้จะต้องติดตัวเขาไปตลอดชีวิต
และจากการที่มาเข้าร่วมการเสวนาในวันนี้ที่ทางรัฐบาลจะเปิดการขายสุราเสรี 24 ชั่วโมงนั้น เพื่ออ้างว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ ตนเองรู้สึกว่า แต่ในส่วนของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเขาไม่ได้มอง เพราะที่ผ่านมาถึงใช้พ.ร.บเดิมผลกระทบก็เยอะอยู่แล้ว แล้วการเยียวยาหรือว่าในส่วนของความรับผิดชอบก็ไม่ได้เต็มที่ ทุกคนก็ไม่ได้ต้องการเงิน แต่ในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว การเยียวยาจะต้องรับผิดชอบให้แต่ละครอบครัว ซึ่งเคส 5 ศพ ยังไม่ได้รับการเยียวยาแม้แต่ครอบครัวเดียวในขณะที่ทางรัฐบาลไม่ได้เข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ซึ่งทุกอย่างมันก็สิ้นสุดไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะออกพ.ร.บ.มาเพิ่มหรือว่าเหมือนเดิมยังไง แต่ถ้ากฎหมายมีการเข้มงวดและใช้แบบจริงจัง คือปรับๆจริงจำคุกๆจริง โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ควรที่จะลดโทษให้คุณได้กึ่งนึง แม้คุณจะรับสารภาพผิดก็ตาม เพราะความผิดของคุณคุณตั้งใจที่จะกระทำ อยากให้บังคับกฎหมายให้เข้ม แบบที่จับจริง ๆ และปรับจริง ๆ ไม่มีการลดโทษ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: