ตรัง-“พัชรวาท” สั่ง ผู้ช่วยรมต.ควงส.ส.ก้าวไกลลงพื้นที่-แถลงสรุปสาเหตุหญ้าทะเลตรังเสื่อมโทรม สาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำระดับน้ำทะเลมหาสมุทรอินเดียกระเพื่อม ลดกว่าปกติ 30 ซม. หญ้าผึ่งแดดตาย กำหนด 3 มาตรการเร่งด่วน ไม่ตัดทิ้งตะกอนปริศนาทับถม รอพิสูจน์แหล่งที่มา “ปิ่นสักก์” คาด 1-2 ปีฟื้นฟูเองตามธรรมชาติ เตรียมกล้าพันธุ์ปลูกเมื่อพร้อม ลั่นทำงานเต็มที่ไม่ให้กระทบความเชื่อมั่นส่งออกอาหารทะเลสหรัฐ “มูลนิธิอันดามัน” จี้ตามคุ้มครองพะยูนย้ายที่หากินออกนอกเขตอนุรักษ์
วันที่ 19 มีนาคม 2567 ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) รับมอบหมายจากพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทส. พร้อมด้วยนายนิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกระทรวงทส.เกี่ยวกับวิกฤตพะยูนและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ผู้บริหาร-ข้าราชการกระทรวง ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และทีมคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ที่แต่งตั้งโดยอธิบดีกรมทช. ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมพร้อมติดตามการทำงานเจ้าหน้าที่ภาคสนาม บริเวณเกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมทั้งรับฟังการบรรยายโครงการเตรียมจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง ก่อนที่ทั้งคณะจะเดินทางมายังห้องนครา3 โรงแรมเรือรัษฎา เพื่อร่วมแถลงข่าว “รายงานผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรัง” ร่วมกับ นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ ถือเป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายหลังจากมีการลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาวิกฤตพะยูนและหญ้าทะเลตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) แถลงว่า จากสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในจังหวัดตรัง ตนได้รับมอบหมายจากรมว.ทส.นำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดตรังอีกครั้ง จากการติดตามความคืบหน้า ในเบื้องต้น กระทรวงได้สั่งการให้หน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยสนับสนุนงานวิชาการและองค์กรการศึกษา เร่งหาสาเหตุที่ชัดเจนของความเสื่อมโทรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหญ้าทะเลและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงระบบนิเวศและทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมโดยใช้หลักการ ตลอดจนเร่งการศึกษาวิจัยด้านการฟื้นฟูและเสริมความแข็งแรงของระบบนิเวศให้หญ้าทะเลได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราก็สามารถช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวได้โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม
“ดังนั้น จึงขอความร่วมมือไปยังชาวบ้านในพื้นที่ ประมงชายฝั่ง ผู้ประกอบการเดินเรือและโรงแรม ใน 3 แนวทาง คือ 1.ให้เดินเรือหรือสัญจรทางน้ำอย่างระมัดระวัง ไม่ทำประมงในแหล่งหญ้าทะเล 2.งดปล่อยน้ำเสียลงในทะเล และ3.ไม่ก่อสร้างที่จะก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล เพราะแหล่งหญ้าทะเล และพะยูน อันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศชาติ ที่ต้องคงอยู่คู่กับท้องทะเลตรังสืบไป”ผู้ช่วยรมว.ทส.กล่าว
ด้านนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทช. กล่าวว่า คณะทำงานได้จัดทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นการเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องใหญ่เพราะหญ้าทะเลเป็นพืชชั้นสูงที่เป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศทางทะเลไทย จากการทำงานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เบื้องต้นพบการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดตรัง สรุปสาเหตุหลักและสาเหตุประกอบอื่นๆ ได้แก่ 1.สาเหตุหลักที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมตายลงเป็นวงกว้าง คือระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าปกติ เป็นสาเหตุหลักทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศที่รุนแรงและแปรปรวนมากขึ้น และพบกรณีหญ้าทะเลตายในลักษณะดังกล่าวในบริเวณอ่าวไทย ทั้งระยอง ตราด จันทบุรี รวมถึงในมาเลเซียด้วย หญ้าทะเลซึ่งเป็นระบบนิเวศหนึ่งในทะเลย่อมได้รับผลกระทบจากการต้องผึ่งแห้งและโดนแดดนานขึ้น ทั้งนี้จากการนำข้อมูลของกรมอุทกศาสตร์มีศึกษาความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในปี 2567นี้ พบว่า ระดับน้ำทะเลมีความเปลี่ยนแปลงลดลงต่ำกว่าปกติของทุกปีเฉลี่ย 30 เซนติเมตร เรียกว่าเกิดภาวะการกระเพื่อมของน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใกล้หาดมาก เห็นได้จากกรณีที่ปรากฏกัลปังหาแดงโผล่พ้นน้ำในพื้นที่เกาะสุกร จังหวัดตรัง ทำให้หญ้าทะเลที่เป็นพืชนั้นสูงผึ่งแดดแห้งและตายลงเป็นวงกว้าง ขณะที่หญ้าทะเลที่อยู่ในน้ำกลับปกติดี แต่อาจมีใบที่ขาดสั้นเพราะเมื่อแหล่งหญ้าใหญ่เสื่อมโทรม ทั้งพะยูนและเต่าทะเลก็มารุมกันกัดกินเป็นอาหาร
อธิบดีกรมทช. กล่าวว่า 2.การทับถมและการเปลี่ยนสภาพของตะกอนในแหล่งหญ้าทะเล จากการศึกษาตะกอน ในเบื้องต้นบริเวณท่าเทียบเรือเกาะมุกด์ พบว่าลักษณะตะกอนชั้นบน 0-4 เซนติเมตรเป็นทรายละเอียดปนเลนและเปลือกหอย มีสีขาวปนเทา มีลักษณะอัดแน่นทำให้พื้นค่อนข้างแน่นแข็งไม่มีการจมตัว ตะกอนชั้น 3-6 เซนติเมตรเป็นชั้นทรายละเอียดอัดแน่นมีสีดำเล็กน้อยของไฮโดรเจนซัลไฟด์ พบเศษเหง้าหญ้าทะเลตายเล็กน้อย ที่ชั้นตะกอน 5-6 เซนติเมตรเป็นทรายละเอียดอัดแน่น คล้ายกับตะกอนดินที่พบหญ้าทะเลตายที่เกาะลิบง ทั้งนี้ การศึกษาการปนเปื้อนของโลหะหนัก และมลสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน ในตะกอนดินและหญ้าทะเลจากบริเวณแนวหญ้าทะเลจังหวัดตรัง เก็บตัวอย่างตะกอนผิวหน้าและชั้นตะกอน พบว่าลักษณะของตะกอนส่วนใหญ่เป็นทราย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของลักษณะตะกอนจากอดีตที่มีลักษณะเป็นโคลนปนทราย ซึ่งเราไม่ตัดประเด็นของตะกอนทับถมทิ้ง และกำลังศึกษาหาแหล่งที่มาของตะกอนดังกล่าวว่ามาจากพื้นที่ใด และ 3.การระบาดของโรคในหญ้าทะเล หรือปัจจัยอื่นๆ ทางทีมวิจัยมีการศึกษาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีภาวะความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพแย่ลงไปอีก โดยอาจมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้หญ้าทะเลอ่อนแอมีโอกาสติดเชื้อ ได้ง่าย เช่น อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น การผึ่งแห้งนานขึ้นในขณะน้ำลง
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ทั้งนี้กรมฯ ได้กำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม โดยจำเป็นต้องทราบสาเหตุที่ชัดเจนก่อน หากเป็นเรื่องของการทับถมของตะกอนจากการขุดลอกร่องน้ำ ก็ต้องมีแนวทางลดผลกระทบจากการขุดลอกให้ได้ก่อนทั้งในระยะดำเนินการ และการป้องกันผลกระทบในระยะยาว เช่นนำตะกอนมาฝังกลบในพื้นที่บนฝั่งแทน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการเคลื่อนย้ายของตะกอนไปยังแหล่งหญ้าทะเลอีก อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาที่แผ่ขยายเป็นพื้นที่กว้าง โดยเริ่มมีรายงานพบหญ้าทะเลที่ใบขาดในประเทศอื่นๆด้วย ทำให้สมมุติฐานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความเป็นไปได้สูง แนวทางฟื้นฟูคงต้องให้ระบบนิเวศฟื้นตัวและมีความพร้อม ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ต้องใช้เวลา 1-2 ปีให้ธรรมชาติฟื้นฟูด้วยตัวเอง หรือเมื่อเข้าสู่ช่วงฝนตก ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงคงที่ และเราพบว่าหญ้าทะเลในทั้งหมด 13 ชนิด นอกจากหญ้าคาทะเลที่เสื่อมโทรมเป็นหลักแล้ว หญ้าชนิดอื่นก็เริ่มมีการฟื้นตัว เช่น หญ้าใบมะกรูดซึ่งเป็นแหล่งอาหารหนึ่งของพะยูน เป็นต้น แต่ขณะนี้จำเป็นต้องเตรียมการคัดเลือกและสะสมพันธุ์หญ้าทะเลที่มีความทนทานสูง โดยรวบรวมจากหลายพื้นที่เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมของหญ้าทะเล การพัฒนาเทคนิคการลงปลูกในแหล่งธรรมชาติ โดยใช้ต้นแบบจากแปลงปลูกที่ประสบความสำเร็จแล้ว อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการเพาะขยายพันธุ์โดยใช้บ่อพักน้ำทะเลหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อสร้างความพร้อมในการนำไปปลูกเสริมในสภาพธรรมชาติต่อไป
“ส่วนการบินสำรวจประชากรพะยูนล่าสุดที่ลดลงมาอย่างน่ากังวล พบเพียง 36 ตัว จากปี 2566 ที่พบถึง 194 ตัว กรมยังขอไม่ยืนยันตัวเลขนี้ เพราะในช่วงการบินสำรวจดังกล่าวสภาพอากาศและน้ำไม่อำนวย และไม่พบซากพะยูนที่หายไปเป็นร้อยตัว จึงสันนิษฐานว่ายังไม่ตาย แต่อาจเคลื่อนย้ายที่หากิน โดยจะมีการบินสำรวจใหม่ในปลายเดือนมีนาคมนี้ เพื่อวางแผนกำหนดพื้นที่ปลอดภัยที่พะยูนมีการเคลื่อนย้ายต่อไป และขอให้เชื่อมั่นว่าเรากำลังดำเนินการอย่างเต็มกำลังที่สุดเพื่ออนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งออกอาหารทะเล ที่สหรัฐเมริกาเข้มในเรื่องมาตรการประเทศต้นทางในเรื่องการดูแลพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์“นายปิ่นสักก์ กล่าว
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า แม้จะอยู่ระหว่างการหาสาเหตุ และแนวทางการฟื้นฟูที่ต้องใช้เวลา แต่แนวทางการอนุรักษ์และคุ้มครองพะยูนก็ต้องดำเนินการไปพร้อมกันเมื่อพะยูนมีการย้ายพื้นที่หากินออกนอกพื้นที่จังหวัดตรังตามประกาศกระทรวงทส.ที่กำหนดเขตคุ้มครองไว้ โดยจากข้อมูลที่เครือข่ายมูลนิธิฯในพื้นที่จังหวัดกระบี่และพังงาแจ้งมาพบว่า ในขณะนี้มีชาวบ้านพบเห็นพะยูนในพื้นที่กระบี่และพังงานเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานติดตามวางแผนการคุ้มครองภัยคุกคามพะยูนที่ย้ายถิ่นด้วย
ด้านนายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่ ส.ส.ฝ่ายค้านพูดในสภาแล้วมีการตอบรับจากกระทรวงทส.ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล จนได้มีส่วนร่วมในการลงพื้นที่ ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายค้านร่วมลงพื้นที่กับฝ่ายรัฐบาล และหลังจากนี้ ตนจะนำข้อมูลในการลงพื้นที่ครั้งนี้ไปสื่อสารในสภาฯและกับฝ่ายค้านถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่ามีความก้าวหน้าเพียงใด
ด้าน นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่ใกล้สูญพันธ์ ในจังหวัดตรัง จึงดำเนินการขับเคลื่อนการทำแผนการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเลจังหวัดตรัง และผลักดันให้เกิดแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ร่วมกับกรมทช. และกรมอุทยานฯ รวมถึงจัดวางทุ่นแสดงแนวเขตอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล เพื่อแสดงขอบเขตการกำหนดมาตรการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพะยูนทั้งแหล่งหากินและแหล่งอาศัย ลดการรบกวน ลดปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับพะยูน ซึ่งมีที่มาจากการจัดทำกติการ่วมกันของชุมชนในการเข้าไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งร่วมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดตรัง ให้ฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์และไม่เกิดภาวะสูญพันธุ์ ทั้งนี้จังหวัดตรังพร้อมจะให้ความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: