ตรัง-ผู้พิการตรังดีใจ การรถไฟคืนตู้ 8 สำหรับคนพิการมาให้แล้ว แต่กลับพบปัญหาใหม่ เมื่อการรถไฟขายตั๋วที่นั่งให้คนทั่วไป ทำให้ผู้พิการจองตั๋วเดินทางล่วงหน้า 3-4 วันไม่ได้ บอกที่นั่งเต็ม บางส่วนต้องเดินทางด้วยรถทัวร์ ด้านตัวแทนผู้พิการบอกเสียใจเรียกร้องกันมา แต่การรถไฟนำไปขายคนทั่วไปเดินทาง คนพิการไม่ได้เดินทางสะดวกเหมือนเจตนารมณ์ เตรียมนัดเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ยืนหนังสือสอบถาม รมว.คมนาคม ถึงเจตนารมณ์การให้ตู้พิเศษแก่คนพิการว่า คนกลุ่มไหนสามารถใช้บริการตู้พิเศษดังกล่าวได้บ้าง
ตามที่ได้นำเสนอข่าวของ เครือข่ายผู้พิการจ.ตรัง ออกมาเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยคืนตู้โดยสารพิเศษ ซึ่งเป็นรถปรับอากาศนั่งและนอน ชั้น 2 สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นนั่ง (วีลแชร์) ซึ่งผู้พิการรู้จักกันในนาม “ ตู้ 8” ที่มีลิฟท์ทอดลงมาสำหรับยกวีลแชร์ขึ้นจากชานชาลา และทอดลิฟท์ลงมาให้ลงจากขบวนรถไฟได้อย่างสะดวก ภายในตู้โดยสารกว้างขวางสะดวกสบาย มีห้องน้ำเฉพาะที่กว้างขวาง สามารถเข็นวีลแชร์เข้าไปทำธุระส่วนตัวได้ โดยตู้ดังกล่าวถูกยกเลิกช่วงสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด 19 และไม่ได้คืนตู้มาให้หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด 19 มานานประมาณ 4 ปีแล้ว ทำให้การเดินทางของผู้พิการที่ต้องใช้รถเข็นวีลแชร์และผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งการไปหาหมอที่กรุงเทพฯ การไปประชุมสัมมนา การไปแข่งขันกีฬา รวมทั้งการเดินทางไปรับสลากกินแบ่งรัฐบาลโควต้าผู้พิการ เพื่อนำมาจำหน่ายเดือนละ 2 งวด จนต้องคลานขึ้นรถไฟ หรือบางครั้งต้องอุ้ม หรือหามขึ้นรถไฟ บางคนเป็นผู้ป่วยมีแผลกดทับ ก็มีเลือดนองพื้น ไม่มีห้องน้ำเป็นการเฉพาะ ทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก จึงออกมาเรียกร้องให้มีการคืนตู้ 8 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้คืนตู้ 8 ดังกล่าว กลับมาให้ขบวนรถไฟสายตรัง -สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ,กันตัง – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งขาขึ้นและขาล่องแล้ว สร้างความดีใจให้แก่เครือข่ายผู้พิการเป็นอย่างมาก จึงได้เดินทางไปดูตรวจสอบตู้โดยสารดังกล่าว โดยที่ข้างตู้มีสัญลักษณ์รถเข็นวีลแชร์ปรากฏชัดเจน
จากนั้นตัวแทน นำโดยนางสาวสุกานดา สุริยะรังสี ประธานชมรมคนพิการเทศบาลนครตรัง ได้ทดลองขึ้นรถไฟตู้เฉพาะดังกล่าว ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเปิดประตู และกดลิฟท์สำหรับยกผู้พิการซึ่งนั่งบนรถเข็นวีลแชร์ขึ้นลงรถไฟได้อย่างสะดวก พบว่าภายในห้องโดยสารกว้างขวาง มีที่นั่งเป็นเบาะปรับเอนนอนได้ทั้งหมด 30 ที่นั่ง กว้างขวางกว่าตู้โดยสารทั่วไป ประตูทางเข้าห้องน้ำกว้าง และภายในห้องน้ำก็สะดวกสบาย สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยทางตัวแทนเครือข่ายผู้พิการจ.ตรัง ก็ได้ขอบคุณนายสถานีรถไฟตรัง และการรถไฟแห่งประเทศไทยที่คืนตู้ 8 ดังกล่าวมาให้หลังเรียกร้องได้เพียง 5 วันเท่านั้น พร้อมเรียกร้องให้มีตู้ 8 สำหรับคนพิการทุกขบวนทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทั่วประเทศด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม สุดสลดเพลิงพิโรธรุ่งวอด 9 หลัง ชาวบ้านไร้ที่อยู่ จนท.เร่งช่วยเหลือ
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- ตรัง ราคายางดิ่งกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม กยท.หนุนสถาบันทำโครงการชะลอยางสู้นายทุน
- นบ.ยส.24 โดย ร้อย.ฉก.ทพ.2101 โชว์ฝีมือจับผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 12,000 เม็ด
แต่ล่าสุด นางสาวสุกานดา สุริยะรังสี ประธานชมรมคนพิการเทศบาลนครตรัง บอกว่า ก่อนหน้านี้ ( 26 มีค.) ตนพยายามติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟตรัง เพื่อจะซื้อตั๋วเดินทางไปทัศนศึกษาดูงานที่จ.ชุมพร ในวันที่ 29-31 มีนาคมนี้ โดยเครือข่ายผู้พิการจ.ตรัง จำนวน 15 คน แต่ได้รับคำตอบว่าตู้ 8 เต็มทุกที่นั่ง ทั้งวันที่ 29 และ30 มีนาคม ทำให้เกิดความสงสัยว่าคนพิการหรือผู้สูงอายุมาจากไหนเต็มทั้ง 30 ที่นั่ง เมื่อพยายามสอบถามรายชื่อผู้พิการที่จะใช้บริการตู้ 8 ทั้ง 2 วันดังกล่าว เพราะหากเป็นผู้พิการจริงจะต้องรู้จักกัน เจ้าหน้าที่กลับตอบไม่ได้ จึงทำให้ทราบว่ามีการขายตั๋วเดินทางให้คนทั่วไปเต็มทุกนั่ง ทางตัวแทนเครือข่ายผู้พิการ จึงพยายามสอบถามและเรียกร้องสิทธิในการใช้บริการตู้ 8 ดังกล่าว และในวันนี้ ( 27 มีนาคม) ได้เดินทางไปซื้อตั๋ว พบมีการขึ้นป้ายวันนี้มีเฉพาะชั้น 3 และต่อมาได้คำตอบว่าปกติทางรถไฟจะกันที่นั่งตู้ 8 ให้ผู้พิการไว้ 12 ที่นั่ง แต่วันที่ 29 มีค.ตู้ 8 มีว่าง 9 ที่นั่ง ส่วนอีก 3 ที่นั่ง ผู้พิการซื้อไปแล้ว สามารถซื้อตั๋วเดินทางด้วยตู้ 8 ได้เพียง 9 คนเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้บอกว่า 29 มีนาคม ตู้ 8 เต็มทุกที่นั่ง จึงสงสัยทำไมเจ้าหน้าที่ตอบแบบนั้น ต้องการจะกันที่นั่งไว้ให้บริการใครหรือไม้ ส่วนเพื่อนผู้พิการที่เหลืออีก 6 คน ที่จะต้องเดินทางไปทัศนศึกษาดูงานด้วยกัน และเป็นผู้พิการนั่งรถเข็นวีลแชร์ด้วยนั้น ต้องไปซื้อตั๋วเดินทางด้วยรถทัวร์ ทำให้เกิดความยากลำบากในการเดินทางอีกเช่นเดิม เพราะในวันเดินทางจะต้องมีคนหาม หรือคนอุ้ม ขึ้นลงรถทัวร์ และห้องน้ำ เครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการก็ไม่มี ทำให้เกิดคำถามว่า พวกตนต่อสู้เรียกร้องตู้ 8 มาให้คนพิการและผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใช้ ได้ใช้ในการเดินทาง แต่สุดท้ายการรถไฟนำไปขายที่นั่งให้กับคนทั่วไป จึงขอถามไปยังผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า ตู้ 8 สำหรับผู้พิการ ซึ่งที่ข้างรถก็มีสัญลักษณ์ปรากฎชัดเจนนั้น แท้จริงแล้วใครสามารถใช้บริการตู้ 8 ได้กี่กลุ่ม แล้วการเดินทางของผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งก็ไม่แน่นอนว่าจะเดินทางวันไหน จะต้องทำอย่างไร หากวันไหนต้องเดินทาง เพราะผู้พิการทุกจังหวัดสามารถเดินทางได้ด้วยตู้ 8 นี้ แต่การรถไฟนำที่นั่งไปขายให้แก่ผู้โดยสารทั่วไปจนเต็มวไม่มีที่นั่งแล้ว ทั้งนี้ ทางเครือข่ายผู้พิการจ.ตรัง เตรียมนัดประชุมหารือและกำหนดวันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามเจตนารมณ์ของการให้ตู้ 8 และความชัดเจนของการให้บริการตู้ 8 นี้ ว่าคนกลุ่มไหนใช้บริการได้กี่กลุ่มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: