ตรัง-พลังศรัทธาชาวบ้านตรัง ร่วมสืบสานประเพณีเก่าแก่ชาวพุทธ ชักพระหรือแย่งพระเดือน 5 วัดควนขันอายุกว่า 210 ปี ที่เหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
วันที่ 24 เมษายน 2567 ที่วัดควนขัน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตรัง ผู้บริหารเทศบาลนครตรัง ประชาชนในชุมชน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรแก่พระสงฆ์ เนื่องในงานประเพณีชักพระวัดควนขัน ประจำปี 2567 โดยหลังเสร็จสิ้นจากพิธีทำบุญตักบาตร ได้ร่วมชักพระเดือน 5 ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชุมชนวัดควนขันที่คงหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อให้ลูกหลานได้เห็นถึงคุณค่าและร่วมกันสืบสานประเพณีอันเก่าของชุมชนและจังหวัดตรังให้คงอยู่สืบไป
ทั้งนี้ ประเพณีชักพระวัดควนขัน หรืองานลากพระเดือน 5 ของชุมชนควนขัน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวบ้านในชุมชนควนขันปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมประจำท้องถิ่น รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมความเป็นไทย และสำนึกรักบ้านเกิด โดยกิจกรรม ชาวบ้านชุมชนควนขัน และชุมชนใกล้เคียง จะร่วมกันชักเรือพระที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ออกจากวัดควนขัน ไปยังบริเวณสามแยกทางเข้าชุมชนควนขัน บนถนนสายตรัง-พัทลุง เพื่อให้ประชาชน และเยาวชนที่เดินทางผ่านไปผ่านมาได้เข้าร่วมกันสักการะบูชาเรือพระ หลังจากนั้น ชาวบ้านก็พร้อมใจกันลากเรือพระกลับมายังวัดควนขันอีกครั้ง ถือเป็นประเพณีชักพระหรือแย่งพระ เดือน 5 ที่เหลือเพียงแห่งเดียวในจังหวัดตรัง
โดยในครั้งนี้ ชาวบ้านชุมชนควนขัน และชุมชนใกล้เคียง กว่า 1,000 คน ได้ร่วมกันชักเรือพระที่ตกแต่งอย่างสวยงาม จากวัดควนขัน ไปยังบริเวณสามแยกทางเข้าชุมชนควนขัน ระยะทางประมาณ 500 เมตร และได้มีการโยนขนมต้มจากเรือพระ ให้กับประชาชนที่มาร่วมชักพระได้นำไปทานเพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย โดยได้จอดเรือพระไว้บนถนนควนขัน บริเวณสามแยกโรงแรมเรือ เพื่อให้ประชาชน และเยาวชนที่เดินทางผ่านไปผ่านมาได้เข้าร่วมกันสักการะบูชาเรือพระ หลังจากนั้นในช่วงเย็น ชาวบ้านก็พร้อมใจกันลากเรือพระกลับมายังวัดควนขันอีกครั้ง ถือเป็นประเพณีชักพระเดือน 5 ที่เหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ร้านอาหารผวา!! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วน อ้างสั่งอาหารหรู "พระกระโดดกำแพง" หลอกร้านดังเกือบเสียเงินแสน
- ตรัง จับแล้วมือค้อนทุบหัวฆ่าโหดพ่อค้าปลาสวยงาม กลางงานลอยกระทงกันตัง ทิ้งศพกลางงาน หลักฐานชัด จุดทิ้งมือถือ-โผล่กดเงินสดผู้ตาย
- "ประเสริฐ รักไทย” ประกาศชน “บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ” สู้ศึกชิงเก้าอี้ อบจ.ตรัง
- ตรัง "โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน" บอกรักทะเลด้วยสองมือ ณ หาดฉางหลาง ทะเลตรัง ก้าวขา-พาสองมือเก็บขยะทะเล รังสรรค์งานศิลป์
สำหรับความเป็นมาของประเพณีชักพระเมื่อครั้งอดีตนั้น มีมาตั้งแต่บรรพชนแล้ว หลายรุ่นมาแล้ว เรือพระวัดควนขันลำนี้ตามตัวเลขที่ติดข้างเรือ ก็มีอายุ 210 ปีแล้ว ก็ยังเป็นเรือพระลำเดิม ทางคณะกรรมการชุมชน ได้มีการปรับปรุง ซ่อมแซมกันมาเรื่อย ๆ แต่คงไว้ซึ่งรูปแบบเดิม โดยในอดีตจะมีชุมชนคลองนางน้อย ลุ่มน้ำคลองนางน้อย วัดพระพุทธสิหิงค์ จาก อำเภอนาโยง ตลอดมาจนถึงชุมชนบ้านโพธิ์ ชุมชนควนขัน จะร่วมกันชักพระหลังจากเก็บเกี่ยวข้าว เป็นการหาความรื่นเริงหลังจากเก็บเกี่ยวข้าว จึงได้มีการจัดการแย่งพระ แต่ละกลุ่มก็จะชัดชวนชายฉกรรจ์ หนุ่มฉกรรจ์ ที่มีกำลังวังชา แข็งแรง มาร่วมกันจากวัดต่าง ๆ มาร่วมกัน ส่งเป็นทีมมาแย่งพระกัน ในทุ่งนา กติกาคล้ายกับชักเย่อ มีเขตเส้นแบ่ง เมื่อฝ่ายไหนชนะก็จะพาเรือพระกลับไปไว้ที่วัด และทำการเฉลิมฉลอง พอปีถัดไปก็มีการนัดกันอีกว่าจะไปแย่งพระกันที่สนามไหน ก็จะนำเรือพระลำเดิม นำมาไว้ในสถานที่ที่จะทำการแข่งขันชักพระหรือแย่งพระ จนมาถึงวันนี้สถานที่สภาพต่าง ๆ ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป ทุ่งนาที่กว้าง ๆ ในสมัยก่อนก็มีการถมที่ สร้างบ้านกันมาก จนทำให้ทุ่งนาแคบลง ก็เลยจัดกันเพียงการอนุรักษ์ไว้เป็นประเพณี ชุมชนควนขัน โดยวัดควนขันก็ได้อนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ดูสืบต่อไป
อย่างไรก็ตามในช่วงเย็นวันนี้ ทางคณะพุทธบริษัทจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดตรัง รวมทั้งวัดควนขัน ร่วมกันชักลากเรือพระไปประดิษฐานไว้กลางทุ่งนา จากนั้น ก็จะทำการแย่งพระ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการชักเย่อ เพื่อนำพระที่ได้ไปประดิษฐานไว้ที่วัดในหมู่บ้านของตน พร้อมบุษบก และเรือพระ อย่างไรก็ตาม ประเพณีดังกล่าวค่อย ๆ หายไปจนเหลือเพียงแห่งเดียวที่วัดควนขัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: