ตรัง-โวยแอร์ในอาคารสนามบินตรังเสียมานาน 2-3 เดือนแล้ว ทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อน ขณะที่ทางสนามบินเผยเกิดจากไฟกระชาก ต้องเอาพัดลมมาช่วยเป่าลดความร้อน และเร่งตามช่างมาซ่อมโดยด่วน
ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากผู้โดยสารที่เดินทางเข้าออกที่ท่าอากาศยานตรังว่า เครื่องปรับอากาศภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินตรังเสียมานานนับเดือนแล้ว แต่ยังไม่มีการซ่อมแซม ทำให้ผู้โดยสารที่ไปใช้บริการต่างต้องทนกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด และอึดอัดกับสภาพอากาศภายในเป็นอย่างมาก
จากนั้นผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปตรวจสอบ พบว่าเป็นอย่างที่ได้รับการร้องเรียนจริง โดยนับตั้งแต่ประตูทางเข้า-ออกมีการเปิดรับอากาศจากภายนอก จากเดิมที่ประตูจะปิดเปิดเฉพาะช่วงที่ผู้โดยสารเข้าออกประตูเท่านั้น โดยภายในอาคารซึ่งเป็นโถงขนาดใหญ่พบว่ามีผู้โดยสารที่รอขึ้นเครื่อง และญาติจำนวนมากไปรับส่งผู้โดยสาร ขณะที่บริเวณรอบๆโถงใหญ่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่มีการนำพัดลมแอร์ และพัดจนอุตสาหกรรมซึ่งเป็นพัดลมตั้งพื้นไปวางไว้ตามจุดต่างๆรอบๆภายในห้องโถงประมาณ 9 ตัว และยังมีภายในห้องพักผู้โดยสารขาออกที่รอขึ้นเครื่องก็มีการติดตั้งพัดลมแอร์และพัดลมตั้งพื้นด้วย ทำให้มีผู้โดยสารขาออกบางคนที่เจอสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ ต้องนำตัวเองไปยืนตากพัดลมในช่วงรอขึ้นเครื่อง และเกิดปัญหาเช่นนี้มาเป็นเวลา 2-3 เดือนแล้ว สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารอย่างมาก เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดตรังยังร้อนจัด ประกอบกับแต่ละวันก็มีเที่ยวบินมาก 10-12 เที่ยว จึงมีผู้โดยสารเดินทางไปมาวันละนับพันๆ คนเลยทีเดียว
โดยผู้โดยสารรายหนึ่ง บอกว่า ตนเองใช้บริการท่าอากาศยานตรังทุกสัปดาห์ เพราะต้องเดินทางระหว่างบ้านที่จ.ตรังกับที่ทำงานที่กรุงเทพฯ พอสิ้นสุดสัปดาห์ก็ลงกลับมาบ้าน ในช่วงวันศุกร์ถึงอาทิตย์ แต่พบว่าแอร์ในสนามบินตรังได้เสียมาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ประกอบกับช่วงนี้อากาศก็ร้อนมาก ขนาดตนเองเดินทางกลับมาช่วงไฟท์เย็น อากาศก็ยังร้อน ต้องพาตัวเองไปยืนตากพัดลม แล้วผู้โดยสารที่เดินทางช่วงกลางวันหรือภาคเที่ยงจะร้อนขนาดใหน ที่ผ่านมาเคยถามพนักงานร้านอาหารชั้น 2 ที่อยู่ด้านบนว่า ทำไมแอร์ถึงเสีย เขาก็ตอบว่า ไม่ทราบเหมือนกัน แล้วมาเสียยาวนานช่วงหน้าร้อนด้วยยิ่งร้อนมาก ตนเองจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ช่วยเร่งซ่อมแซมด้วย เพราะช่วงนี้อากาศยังร้อนมาก
ขณะที่นางสาวจุฑารัตน์ เพ็ชรลุ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง ชี้แจงว่า สำหรับปัญหาแอร์เสียในอาคารผู้โดยสารขาออกนั้นยอมรับเสียมาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว แต่มีการซ่อมมาตลอด สาเหตุเกิดจากก่อนหน้านี้มีกระแสไฟฟ้าตกบ่อย จึงส่งผลกระทบกับตัวอุปกรณ์ และส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ของแอร์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และด้วยความที่แอร์ในสนามบินเป็นแอร์ขนาดใหญ่ ฉะนั้นในการซ่อมบำรุง จะต้องแจ้งให้กับทางบริษัทที่มีอุปกรณ์เฉพาะเข้ามาตรวจสอบ เพราะทางสนามบินไม่สามารถที่จะจัดหาผู้รับจ้างในพื้นที่ได้โดยตรง แต่กำลังแก้ปัญหาด้วยการให้ผู้รับจ้างมาจากจังหวัดอื่น และรีบมาดำเนินการซ่อมให้เสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 3 วัน เนื่องจากอาคารผู้โดยสารขาออก มีลักษณะเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ และต้องใช้แอร์ขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับระบบ และเมื่อทำการซ่อมห้องใดห้องหนึ่งแล้ว รอซ่อมอีกจุด ก็ต้องไปเปิดใช้งานแอร์อีกตัวหนึ่งแทน ทำให้ความเย็นไม่เต็มประสิทธิภาพทั่วทั้งพื้นที่ จึงรู้สึกไม่เย็นฉ่ำ ทั้งที่เปิดให้บริการตลอดเวลาแล้ว รวมทั้งได้มีการเสริมด้วยพัดลมไอน้ำ และพัดลมขนาดใหญ่ในหลายๆ จุด ทั้งนี้ เฉพาะภายในห้องผู้โดยสารขาออก และห้องโถงใหญ่ 2 จุด จะต้องใช้งบประมาณ 7 แสนบาท เนื่องจากตัวอุปกรณ์และอะไหล่แต่ละชิ้นจะมีราคาสูงมาก และทางอากาศยานตรังก็ต้องเสนอของบประมาณ แต่ยืนยันมีการซ่อมหลายครั้งแล้ว พอซ่อมจุดหนึ่งแล้วเปิดใช้ หันไปซ่อมอีกจุดหนึ่ง ปรากฏว่าจุดที่ซ่อมแล้วก็เสียอีก ก็จะวนเวียนแบบนี้หลายครั้งแล้ว ทำให้ความเย็นไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่เป็นอยู่ เฉพาะบริเวณห้องโถงความเย็นประมาณ 50-60% แนวทางแก้ไขคือ สนามบินตรังก็กำลังหารือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาไฟกระชาก จนส่งผลกระทบต่อระบบแอร์เช่นนี้อีก และจะต้องหารือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้แยกไฟฟ้าของท่าอากาศยานตรังออกจากไฟฟ้าบ้านเรือนของประชาชน เพราะขณะนี้ใช้เส้นเดียวกัน เมื่อไฟมีปัญหาจึงส่งผลต่อท่าอากาศยานตรังด้วย และหากผู้โดยสารสงสัยว่าสนามบินจะมีเครื่อง เจนเนอเรเตอร์หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือเครื่องปั่นไฟทำไมไม่เอามาใช้ โดยเครื่องเจนเนอเรเตอร์จะใช้สำหรับให้แสงสว่าง และงานบริการต่างๆ ถูกใช้งานได้ แต่ไม่รองรับระบบแอร์หรือเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ได้ และได้เสนอแผนงานต่อกรมท่าอากาศยาน เพื่อตั้งงบประมาณมาดำเนินการโดยด่วน เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาทางสนามบินก็เข้าใจและเห็นใจ เนื่องจากผู้โดยสารบางท่านเดินทางมาจากสภาพที่อากาศร้อนมาก เมื่อเข้ามาในอาคารสนามบิน ก็อยากได้ความเย็นฉ่ำ แต่กลับมาต้องเจอกับปัญหาแอร์เสียเช่นนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: