ตรัง- อาชีพเสริมเพาะเลี้ยงลูกกบป้อนฟาร์มลูกข่ายในหลายจังหวัดปีละ 6 รุ่น จนเพาะเลี้ยงไม่ทัน เนื่องจากตลาดต้องการกบเนื้อจำนวนมากทั้งในและประเทศเพื่อนบ้าน โดยหน้าแล้งเกษตรกรต้องประสบกับปัญหาอุณหภูมิน้ำสูงขึ้น กบกินอาหารน้อย โตช้า ต้องถ่ายน้ำวันละ 3 ครั้ง ทำให้ลูกกบมีไม่พอป้อนตลาด แต่ละปีสร้างรายได้เสริมเป็นอย่างดี ขณะที่อาหารกบแพงมากกว่าอาหารสัตว์ทุกชนิด
ที่โอนุกานต์ฟาร์มกบตรัง ตั้งอยู่หมู่ 3 บ้านบางพระ ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง นายโอนุกานต์ เชยชม อายุ 30 ปี พร้อมภรรยา กำลังเร่งคัดแยกลูกกบซึ่งได้ขนาด เพื่อเตรียมนำไปส่งให้กับลูกฟาร์มเครือข่ายในพื้นที่จ.กระบี่ จำนวน 7,400 ตัว ที่มีออเดอร์เข้ามา หลังจากทั้ง 2 คน ได้ใช้เวลาว่างจากการทำสวน และเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ เป็นต้น และได้ต่อยอดอาชีพทำการเกษตร ด้วยการหันมาเลี้ยงกบเนื้อและเพาะขยายพันธุ์ลูกกบส่งขายให้แก่ลูกฟาร์มเครือข่ายในหลายจังหวัด เพื่อเป็นรายได้เสริมหลายๆช่องทาง ซึ่งทำมาแล้วประมาณ 7 ปี โดยใช้พ่อแม่พันธุ์กบลูกผสมระหว่างกบจาน และกบสายพันธุ์ต่างประเทศคือ สายพันธุ์บลูฟร็อก โดยปัจจุบันมีพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 300 คู่ นำมาหมุนเวียนเพาะเลี้ยง แต่ละปีสามารถผลิตลูกกบได้ประมาณ 6 รุ่น แต่ละรุ่นประมาณ 30,000 -50,000 ตัว ทั้งเลี้ยงเป็นกบเนื้อเอง และส่งลูกกบขายให้แก่ลูกฟาร์ม ซึ่งมีประมาณ 30-40 ราย ทั้งใน จ.ตรัง , จ.นครศรีธรรมราช และจ.กระบี่ สร้างรายได้เสริมอย่างดี เนื่องจากตลาดกบเนื้อมีความต้องการสูง โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ เมื่อลูกฟาร์มนำไปเลี้ยงต่อประมาณ 3 เดือน ก็จะได้กบเนื้อสีทอง ตัวโต เนื้อแน่น ทางโอนุกานต์ฟาร์มกบตรัง ก็จะรับซื้อกบเนื้อกลับในราคาท้องตลาด เพื่อส่งขายให้กับพ่อค้า แม่ค้าในหลายจังหวัด และส่งประเทศมาเลเซีย โดยปัจจุบันกบสีทองของฟาร์ม เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ทำให้ลูกกบที่เพาะได้ไม่พอส่งขายให้แก่ลูกฟาร์ม
นายโอนุกานต์ เชยชม เกษตรกร บอกว่า พื้นที่ 5 บ่อที่กำลังทยอยคัดลูกกบส่งขายให้กับลูกฟาร์มรอบนี้ ผลิตจากแม่กบประมาณ 30 ตัว ได้ลูกกบทั้งหมดประมาณ 30,000 ตัว เริ่มจับวันนี้เป้าหมายส่งให้ลูกฟาร์มในจ.กระบี่ จำนวน 7,500 ตัว และจะทยอยจับส่งขายให้กับลูกฟาร์มรายอื่นๆต่อไป ครั้งนี้ไม่พอขาย เนื่องจากระยะการเพาะพันธุ์ลูกกบในรอบนี้ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 45 วัน นับจากวันที่แม่กบวางไข่ตรงกับช่วงหน้าแล้ง ซึ่งสภาพอากาศร้อนจัดพอดี ทำให้ได้ลูกกบคาดว่าประมาณ 30,000 ตัว จากเดิมช่วงฤดูกาลปกติจะต้องได้ประมาณ 50,000 ตัว เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด เพราะปกติในการเพาะเลี้ยงลูกกบจะต้องควบคุมปริมาณน้ำให้น้อย จากสภาพอากาศร้อนจัดดังกล่าว ทำให้อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ลูกกบกินอาหารน้อย โตช้า ต้องถ่ายน้ำวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดอุณหภูมิของน้ำ และเช่นเดียวกันหากใครเลี้ยงกบเนื้อหน้าแล้งนี้ ทำกบกินอาหารน้อย โตช้า ร่างกายอ่อนแอ น้ำหนักหาย และเสี่ยงตาย จากเดิมหากได้ 1,000 กก.( 1 ตัน) จะเหลือน้ำหนักประมาณ 700-800 กก.เท่านั้น ซึ่งปัญหาของการเพาะลูกกบจะเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่หน้าหนาวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูจบจำศีล กบจะไม่ค่อยผสมพันธุ์จึงเพาะและเลี้ยงยาก ต่อเนื่องมาจนถึงหน้าแล้ง ซึ่งปีนี้สภาพอากาศร้อนจัดกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่นับจากนี้สภาพอากาศจะดีขึ้น เนื่องจากฝนเริ่มตกลงมาแล้ว ส่วนราคาขายจะดีกว่าช่วงปกติ มีหลายขนาด เช่น ไซส์ เล็กสุด ราคาตัวละ 1.50 บาท ,ไซส์ขนาดกลาง ตัวละ 2 บาท, ไซส์ขนาดใหญ่ตัวละ 2.50 บาท และไซส์ใหญ่สุด ราคาตัวละ 3.50 บาท โดยลูกฟาร์มนำไปเลี้ยงต่อประมาณ 3 เดือน ก็จับขายได้ โดยทางฟาร์มรับซื้อคืน เพื่อส่งขายหลายจังหวัดและตลาดใหญ่ประเทศมาเลเซียเดือนละหลายตัน นอกจากสภาพอากาศร้อนจัดแล้ว เกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องราคาต้นทุนอาหารกบแพงด้วย โดยอาหารลูกกบ ขณะนี้กระสอบละ 750 บาท ,อาหารกบขนาดกลาง กระสอบละ 690 บาท และอาหารกบขนาดใหญ่ กระสอบละ 650 บาท จากเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ตกกระสอบละ 500 – 600 บาท ซึ่งแพงกว่าอาหารสัตว์ทุกชนิด แต่ในการเลี้ยงกบจำเป็นต้องเลี้ยงด้วยอาหาร เนื่องจากให้โปรตีนที่สูงกว่า ทำกบตัวโต สมบูรณ์ อัตราแลกเนื้อสูงกว่าการเลี้ยงด้วยเนื้อปลา ใครสนใจอยากอุดหนุนเกษตรกร หรือเกษตรกรต้องการปรึกษาเรื่องการเลี้ยงกบ ต้องการลูกกบ กบเนื้อ สามารถติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก “ โอนุกานต์ ฟาร์มกบ ตรัง” โทรศัพท์ 087–4717291
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- ตรัง จากสวนปาล์มตรังสู่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานต้นแบบ ขุดสระน้ำเป็นรูปเลข 9 อารบิก สอดคล้องกับแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9
- นนทบุรี หนุ่มวัย 24 เห็นรุ่นพี่เมา หวังดีอาสาขี่รถ จยย.ส่งบ้าน เกิด พลาดเสียหลักล้มถูกแท็กซี่ชนทับซ้ำดับคาที่
- ตรัง การแข่งวิ่งสุดสยองชวนขนหัวลุก "วิ่งหนีเมรุ" ทำถึงธีมผีจัดเต็ม นักวิ่ง 300 คนร่วมวงหลอน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: