ตรัง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดตรังหลายราย ยอมจับกุ้งขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน เพราะฝืนเลี้ยงต่อไปไม่ไหว หวั่นขาดทุนเพิ่มขึ้น เน้นขายกุ้งเป็น เพราะขาดทุนน้อยกว่ากุ้งตาย
โดยที่บ่อเลี้ยงกุ้ง หมู่ 9 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ของนางนวพรรษ คลังทิพรัตน์ อายุ 53 ปี พบว่าตลอดทั้งคืนคนงานจับกุ้งจากบริษัทแห่งหนึ่งกำลังเร่งจับกุ้งแบบเป็น ( ยังมีชีวิต) ส่งขึ้นรถบรรทุกใส่ลงถังและใส่ท่อออกซิเจนลงไปในถัง เพื่อไม่ให้กุ้งตาย และเร่งบรรทุกส่งโรงงานห้องเย็นแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา โดยเมื่อใส่เต็มรถบรรทุกก็เร่งออกรถทันทีรวมทั้งหมด 7 คัน เพื่อส่งโรงงานรับซื้อให้เร็วที่สุด เพราะเป็นการจับกุ้งเป็น ซึ่งได้ราคาที่ดีกว่าการจับกุ้งตายประมาณ กก.ละ 20 บาท และโชคดีเป็นไซส์ที่ห้องเย็นต้องการคือ ขนาด 60ตัว/กก.
นางนวพรรษ คลังทิพรัตน์ เกษตรกร บอกว่า วันนี้ทางโรงงานมาจับกุ้งจำนวน 1 บ่อ ขนาด 60 ตัวต่อกก. ได้น้ำหนักรวมกว่า 7,000 กก. ราคากก.ละ 135 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน โดยกุ้งไซส์ขนาดนี้ต้นทุนอยู่ที่กก.ละ 141 บาท แต่หากเกษตรกรอยู่ได้จะต้องขายได้ประมาณกก.ละ 150 บาท ทำขายครั้งนี้ขาดทุนประมาณ150,000 บาท แต่ที่ยอมขายเพราะเป็นขนาดที่ตลาดต้องการในช่วงนี้ หากฝืนเลี้ยงต่อไปจะขาดทุนมากกว่านี้ และโรงงานไม่รับซื้อ และโชคดีได้ขายในราคากุ้งเป็น (กก.ละ 135 บาท) หากเป็นราคากุ้งตายจะเหลือกก.ละ 115 บาท ซึ่งต่างกัน กก.ละ 20 บาท และจะยิ่งขาดทุนหนักกว่านี้ นอกจากนั้น ยังเหลืออีก 1 บ่อ จะเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เนื่องจากยังไม่ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ เพราะตอนนี้กุ้งไม่สามารถขายได้ทุกไซส์ทุกขนาดเหมือนที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับความต้องการของห้องเย็น และห้องเย็นเป็นผู้กำหนดราคาเองด้วย ตอนนี้ผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศเดือดร้อนหนักมากทุกคนขาดทุนเมื่อขาย ยังคงรอคำตอบความช่วยเหลือจากรัฐบาลภายในวันที่ 15 มิย.นี้ เพราะทางเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งนัดรวมตัวชุมนุมกันในวันที่ 20 มิย. ที่จังหวัดสงขลา หากรัฐบาลยังไม่มีแนวทางการช่วยเหลือออกมา
ทางด้านพ่อค้าคนกลางที่เดินทางมารับซื้อกุ้งส่งห้องเย็น บอกว่า ราคาการซื้อขายฝ่ายการตลาดของโรงงานจะเป็นคนกำหนดและติดต่อประสานตกลงกับผู้เลี้ยงกุ้งโดยตรง เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อนเกิดสถานการณ์โควิดโรงงานเคยต้องการวันละ 20 ตัน แต่หลังสถานการณ์โควิดความต้องการลดลงเหลือวันละกว่า 10 ตัน แต่ตอนนี้ลดลงอีกเหลือเพียงแค่วันละ 5-6 ตันเท่านั้น หายไปประมาณ 1 ใน 3 และตลอดทั้งเดือนนี้ต้องการแต่เฉพาะไซส์ขนาดใหญ่ คือ 58-60 ตัว/กก. ทั้งนี้ ห้องเย็นก็ส่งออกยาก เพราะต่างประเทศต้องการกุ้งจากประเทศอื่น ไม่เอากุ้งไทย เพราะกุ้งจากไทยราคาสูงกว่า เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรไทยสูงกว่า ทำให้มีกุ้งจากต่างประเทศตีตลาดกุ้งของไทยในต่างประเทศเช่นกัน ความต้องการของห้องเย็นจึงลดลง ส่งผลมาถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่เดือดร้อนอยู่ขณะนี้ ซึ่งความเดือดร้อนเป็นลูกโซ่
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: