ตรัง-ผู้ว่าฯ ตรัง ตั้งโต๊ะแถลงเหตุ นร. ถูกไฟตู้น้ำช็อตดับคารร. ล้อมคอกชวนผู้เชี่ยวชาญไฟฟ้าปูพรมตรวจทุกรร.-ซ้อมแผน ตร.เผย คดีอาญาเดินต่อ เก็บข้อมูลอุปกรณ์ไฟฟ้า เตรียมสรุปสำนวน 2 สัปดาห์ มีคนเข้าข่ายประมาททำให้ผู้อื่นตายหรือไม่ สพฐ.เร่งหาระเบียบเยียวยาเพิ่ม ช่วยค่างานศพ ส่งลูกชายคนโตถึง ป.ตรี สั่งแล้วงดใช้ตู้น้ำในพื้นที่ พบปัญหามากทั้งสารปนเปื้อน
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ที่ห้องลิบง ศาลากลางจังหวัดตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานแถลงข่าวกรณีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์นักเรียนชาย ชั้น ม. 2 คนหนึ่งถูกกระแสไฟฟ้าช็อต นอนเสียชีวิตติดคาตู้ผลิตน้ำดื่มภายในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เบื้องต้นเชื่อว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากกระแสไฟฟ้ารั่วบริเวณตู้น้ำดังกล่าว ประกอบกับพื้นเปียกแฉะน้ำฝน จึงทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วจนช็อตนักเรียนเคราะห์ร้ายคนดังกล่าวจนเสียชีวิต โดยมี นายชัยณรงค์ ช่างเรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ตรัง-กระบี่ (สพม.13) ต้นสังกัดของโรงเรียนที่เกิดเหตุ นางอรทัย เกิดผล ศึกษาธิการจังหวัดตรัง พ.ต.อ.ประดิษฐ์ ชัยพร ผกก.สภ.กันตัง ผู้แทนอัยการคุ้มครองสิทธิ์ ร่วมแถลง
นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นกรณีสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงเกิดเหตุ ทุกฝ่ายทั้งครู หน่วยกู้ภัย หน่วยพยาบาล รวมถึงบรรดานักเรียน ซึ่งกำลังร่วมกิจกรรมกีฬาสีภายใน ต่างเร่งช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่เพื่อนำส่งโรงพยาบาล แต่น้องได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงเหตุการณ์เกิดความชุลมุน ฝนตก การช่วยเหลืออาจจับแพะชนแกะบ้าง อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ทุกฝ่ายก็ช่วยเหลือเยียวยาเต็มที่ ทาง สพม.13 ก็ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมถึงฝ่ายตำรวจพิสูจน์หลักฐานได้ลงพื้นที่เก็บรายละเอียดทั้งหมดเพื่อค้นหาสาเหตุ เบื้องต้นจากการพูดคุยระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองไม่ได้ติดใจ เพราะเข้าใจในอุบัติเหตุ และพึงพอใจในการเยียวยาในเบื้องต้น โดยกรณีนี้ตนได้รายงานไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทางสพม.13 ก็ได้รายงานไปยังเลขาธิการสพฐ.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้วเช่นกัน โดยเบื้องบนสั่งให้ช่วยเหลือเยียวยาพ่อแม่ของเด็กให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ โดยตนได้ให้อัยการคุ้มครองสิทธิ์เข้าไปช่วยในเรื่องสัญญาข้อตกลงรับการเยียวยาต่อไป
“เป็นเหตุการณ์ที่สุดวิสัยจริง ๆ เบื้องต้น สมพ.13 ได้สั่งงดใช้เครื่องทำน้ำเย็นในทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่แล้ว ในแง่ของอนาคตคิดว่าหน่วยงานระดับนโยบายอย่างกระทรวงศึกษาฯ จะต้องวางแผนนโยบายกันใหม่เกี่ยวกับการใช้งานตู้น้ำดื่ม การตรวจสอบความพร้อมความหลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้าในโรงเรียน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่อย่างวิทยาลัยเทคนิค หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตรวจสอบความปลอดภัยเป็นวงรอบด้วย รวมถึงมูลนิธิกู้ภัยต่างๆ โดยผมกำชับทุกอำเภอจะต้องมีการซ้อมแผนเผชิญเหตุการณ์จริงด้วยเสมอ ๆ ทุกโรงเรียน”นายทรงกลด กล่าว
ด้าน นายชัยณรงค์ ช่างเรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ตรัง-กระบี่(สพม.13) ขอแสดงความเสียใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น ทางสพฐ.ได้เข้าไปดูแลเยียวยาอย่างเต็มที่ โดยผอ.โรงเรียนได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่และงานศพโดยตลอด สำหรับผลสอบของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง คาดว่าจะรู้ผลเย็นวันนี้ใน 2 ประเด็นคือ 1.การเยียวยา และ 2.สาเหตุของไฟรั่ว แต่ในช่วงเหตุการณ์ทุกคนได้เข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่อาจเพราะฝนตก ทำให้นักเรียนกระจายตัว เมื่อเกิดเหตุขึ้นจึงตกใจ แต่ผอ.โรงเรียนก็รีบสั่งให้ตัดไฟแล้วเข้าไปนำตัวเด็กออกมาส่งโรงพยาบาลในทันที ใช้เวลาประมาณ 2.1 นาทีตามที่ปรากฏในคลิป และเหตุการณ์มีความชุลมุน มีเพื่อนนักเรียนที่เดินไปด้วยกันกับน้องเกือบโดยไฟดูดไปด้วย เรื่องนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ และเลขาฯสพฐ.สั่งการให้ดูแลเยียวยาครอบครัวอย่างดีที่สุด ตั้งแต่การช่วยงานศพที่ได้สั่งการให้โรงเรียนในพื้นที่นำบุคลากรและนักเรียนเข้าไปช่วยงาน โดยการเยียวยาในเบื้องต้นทางโรงเรียนช่วยเหลือไปแล้ว 120,000 บาท และมีประกันกลุ่มกับบริษัทวิริยะประกันภัยอีก 9 หมื่นบาท ซึ่งผู้ปกครองมีความพึงพอใจและไม่ติดใจ แต่กระทรวงฯ จะศึกษาข้อกฎหมายว่ามีช่องทางใดที่สามารถเยียวยาเพิ่มได้หรือไม่ แต่จากข่าวทราบว่าครอบครัวต้องการ 5 แสนบาท ซึ่งขึ้นกับข้อตกลงในการเจรจาเยียวยา ส่วนคดีอาญาก็ว่าไปตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งหากผลสอบของสพฐ.ออกมาแล้วสังคมยังมีข้อสงสัย เช่น พื้นที่ตรงนั้นแม้ไม่ได้ใช้งานตู้น้ำแล้วแต่ทำไมไม่ตัดไฟออก ก็สามารถสอบใหม่ได้โดยดึงผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าจากหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมด้วย รวมถึงจะต้องเสริมผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าในท้องถิ่นมาช่วยสอดส่องดูแลอยู่เสมอ ไม่ให้เป็นวัวหายล้อมคอก
“สพฐ.เข้าใจจิตใจของผู้ปกครอง เพราะการที่ต้องสูญเสียลูกเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เราเน้นเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนเป็นอันดับ 1 ไม่นิ่งดูดาย แต่ก็เกิดเหตุสุดวิสัย เลขาฯสพฐ.ได้สั่งให้รายงานทุกวันและสั่งการให้ดูแลครอบครัวเต็มที่ ทั้งค่าใช้จ่ายงานศพ เงินเยียวยา ซึ่งครอบครัวมีลูกชาย 2 คน คนเล็กเสียชีวิต เราก็จะดูแลลูกชายคนโตซึ่งปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นม.4ให้เรียนฟรีจนถึง ม.6 ตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจะหาทุนสนับสนุนเรียนต่อจนถึงระดับปริญญาตรี เพราะมีความสามารถด้านดนตรี นอกจากนี้ลูกคนโตพบว่าป่วยเป็นโรคไต ก็จะช่วยเหลือในเรื่องค่ารักษาพยาบาลด้วย ส่วนประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่าครูใช้เด็กไปปิดไฟตู้น้ำนั้นเป็นประเด็นที่คณะกรรมการต้องหาคำตอบให้ได้ ว่าใช้จริงหรือไม่ ใช้เด็กคนไหน สวิชต์ตัวไหน เพื่อนำข้อมูลไปประกอบสำนวนของตำรวจด้วย”นายชัยณรงค์ กล่าว
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า สำหรับตู้น้ำดังกล่าวไม่ได้ใช้งานมานานแล้ว ทั้งนี้สพฐ.ใช้ตู้น้ำในลักษณะดังกล่าวด้วยมีนโยบายลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองแทนที่จะต้องซื้อน้ำ แต่ปัจจุบันในระดับโรงเรียนมัธยมใช้กันน้อยแล้ว จะมีใช้มากก็ระดับประถมศึกษาเพราะมีเรื่องของอาหารกลางวัน แต่ขณะนี้ในเขตพื้นที่ได้สั่งให้งดใช้ทั้งหมด และเข้าตรวจสอบความปลอดภัยของตู้ในทุกโรงเรียน เพราะที่ผ่านมานอกจากเรื่องไฟฟ้าแล้ว ตู้ลักษณะดังกล่าวยังมีปัญหาของการปนเปื้อน อาทิ ตะกั่วในน้ำเป็นต้น ซึ่งหลายโรงเรียนก็งดใช้มาก่อนแล้ว ส่วนการรื้อถอนอออก เนื่องจากเป็นพัสดุของทางราชการ จึงต้องมีระเบียบขั้นตอนดำเนินการ
ด้านพ.ต.อ.ประดิษฐ์ ชัยพร ผกก.สภ.กันตัง กล่าวถึงความคืบหน้าคดีว่า ต้องแยกกันคนละส่วนระหว่างการเยีวยา กับ คดีอาญา เพราะเป็นการตายผิดธรรมชาติ แต่การเยียวยาสามารถเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ ทางตำรวจพฐ.ได้เก็บรายละเอียดไว้หมดแล้ว มีการชันสูตรศพ ตรวจที่เกิดเหตุโดยละเอียด เบื้องต้นเราตั้งประเด็นการสอบสวนไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.มีบุคคลอื่นทำให้ตายหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดซึ่งเห็นเหตุการณ์ชัด ระบุเวลาเกิดเหตุ 11.53 น. ขณะเกิดเหตุผู้ตายเดินไปกับเพื่อนรวม 3 คน โดยตัวเองเดินนำหน้า เมื่อไปถึงจุดเกิดเหตุ ได้เอามือไปแตะลูกกรงตู้น้ำทำให้โดนไฟดูดทันที โดยมีบุคคลใกล้เคียงไม่ได้ผลักหรือกระทำให้เกิดแต่อย่างใด 2.สภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าว มีความชำรุดทรุดโทรมหรือไม่ ไม่ได้รับการดูแลรักษาตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน และ 3.เมื่อเกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า มีผู้ใดรับผิดชอบควบคุมกำกับดูแลอุปกรณ์ดังกล่าวหรือไม่ วิธีการเดินสายไฟเป็นตามหลักวิชาการหรือไม่ ใครเป็นคนเดิน มีความเชี่ยวชาญเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเราไปตรวจแล้วทั้งเบรกเกอร์ ตู้น้ำ สายไฟต่างๆ ในจุดเกิดเหตุ โดยจากรายงานตรวจสอบที่เกิดเหตุ จะระบุสาเหตุการตายได้ว่า เป็นเหตุสุดวิสัย หรือเกิดจากข้อบกพร่อง ปล่อยปละละเลย เข้าข่ายกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ คาดว่าราว 2 สัปดาห์จะรู้ผล
แฟ้มภาพ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: