X

ตรัง-ปปช.ลงตรวจสอบเครื่องมือประมงผิดกม.กลางทะเลอ่าวปะเหลีย-ตรัง ติดตามการทำงานและเร่งรัดให้มีการรื้อถอน

ตรัง-ปปช.ตรังลงตรวจสอบเครื่องมือประมงผิดกม.กลางทะเลอ่าวปะเหลียน จ.ตรัง ติดตามการทำงานและเร่งรัดให้มีการรื้อถอน โดยขอให้หน่วยงานรับผิดชอบเร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดควบคู่กับการสร้างความเข้าใจ โดยปชช.เตรียมลงพื้นที่ทำโครงการสร้างความมีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลแก่เยาวชน และผู้นำชุมชนในพื้นที่ เพื่อส่งไม้ต่อเยาวชนดูแลรักษาทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน

นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษฯ นายเอกมัย มาลา รักษาราชการแทนประมงจังหวัดตรัง และเจ้าหน้าที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (ตรัง) ลงพื้นที่บริเวณอ่าวปะเหลียน ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อ 2 จังหวัด คือ ตรัง-สตูล รอยต่อเกาะสุกร – บ้านหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กับ อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เพื่อดูสภาพพื้นที่กรณีมีการทำประมงโดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ประกอบด้วย โพงพางปากเสือ ( โพงพางใต้น้ำ ) ซึ่งมีแกลลอนทำเป็นทุ่นลอยอยู่เหนือผิวน้ำเป็นกลุ่มๆ โดยมีเชือกผูกกับทุ่นโดยมีอวนตาถี่อยู่ใต้น้ำ และโป๊ะน้ำตื้น ( ที่มีไม้ปักไว้เป็นแนวยาวชิดๆติดๆกันเป็นโครงสร้าง เพื่อใช้สำหรับการผูกอวนตา) ซึ่งเครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นเครื่องมือชนิดล้างผลาญ เพราะสัตว์น้ำขนาดเล็กไม่สามารถรอดไปได้ หากปล่อยไว้หวั่นสัตว์น้ำทะเลสูญพันธุ์ โดยภาพรวมมีการทำประมงผิดกฎหมายประมาณ 100 ราย และมีการเลิกไปบ้างแล้วก็มี ทั้งนี้ เฉพาะโพงพางปากเสือ เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าทั้งอ่าวปะเหลียนมีไม่ต่ำกว่า 10 จุด     อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้พยายามจะเข้ามารื้อถอนเครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิดแล้ว แต่ทำได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากโครงสร้างแข็งแรง ต้องใช้กำลังคน และเรือที่มีกำลังแรงม้าสูง จึงได้ถอนกำลังกลับ โดยในส่วนของโพงพางปากเสือ ทำได้เพียงการตัดทุ่นแกลลอนออกบางส่วน แต่พบว่าในวันนี้มีการมาซ่อมแซมผูกทุ่นใหม่กลับมาทำซ้ำ โดยไม่สนกฎหมายบ้านเมือง นอกจากนั้นในส่วนของโป๊ะน้ำตื้น ( ที่มีการปักไว้เป็นแนวชิดๆติดๆกัน) นั้น พบว่าบางส่วนเจ้าของทิ้งร้าง เปลี่ยนไปสร้างใหม่ที่อื่น เนื่องจากทำมานาน จนไม้และอวนผุพังไม่แข็งแรง แต่มักง่ายปล่อยซากทิ้งไว้ทั้งแนวไม้และอวน โดยไม่ยอมรื้อถอนออกไป ทำให้ขีดขวางทางน้ำ เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรของเรือ และการจับสัตว์น้ำของชาวประมงที่ใช้เครื่องมือที่ต้องตามถูกกฎหมาย และทำให้ชาวประมงที่ทำถูกกฎหมายได้รับผลกระทบเครื่องมือทำประมงสูญหาย

ทางด้านนายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง บอกว่า ลงพื้นที่วันนี้มาดูสภาพพื้นที่จริงเรื่องเครื่องมือประมงผิดกฎหมายในอ่าวปะเหลียน ซึ่งพบว่ามีการทำประมงผิดกฎหมายจริง และพบว่าบางส่วนมีการเลิกไปบ้างแล้วภาพรวมมีไม่ต่ำกว่า 100 ราย แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปปช.ตนเองก็ได้กำชับประมงจังหวัดว่า ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต้องรักษากฎหมาย แต่ก็ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมด้านอื่นควบคู่ด้วย เช่น การสร้างความเข้าใจ เพราะเกี่ยวข้องกับมวลชน ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ต้องรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนปัญหาของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรงที่ทำงานยาก ขาดความร่วมมือจากหน่วยงานราชการอื่นที่มีความพร้อม เช่น ศรชล.จ.ตรัง ที่อาจคิดว่าไม่มีใช่ภาระกิจหลัก ปปช.ในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระ ก็ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะไปสั่งการใครหรือหน่วยงานใดได้ แต่ได้ให้คำแนะนำไปว่าให้ทางประมงไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลจังหวัดตรัง เบื้องต้น ทราบว่าทางประมงจังหวัดได้ประสานไปยังศรชล.จ.ตรัง แล้ว เพื่อที่จะทำงาน ซึ่งการทำงานในลักษณะอย่างนี้ ส่วนตัวดูสภาพแล้วจะทำงานโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นจะต้องร่วมกันในลักษณะบูรณาการ ไม่งั้นจะประสบผลสำเร็จยาก ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลการทำประมงผิดกฎหมายในอ่าวปะเหลียนนี้ ไม่มีปรากฎว่ามีเครือข่ายนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนตัวจึงคิดว่าทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะสอบถามเจ้าพนักงานปกครองท้องที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องก็สามารถทราบเจ้าของได้ไม่ยาก พร้อมกันนี้ ก็ได้กำชับประมงไปว่าจะให้มีการทำประมงขยายพื้นที่ไปอีกไม่ได้ ต้องจำกัดพื้นที่อย่าให้วงกว้างมากไปกว่านี้ โดยใช้วิธีการจำกัด และลดลงให้มากที่สุด และพยายามที่จะทำให้ถูกกฎหมายทั้งหมดนอกจากนั้นในพื้นที่อื่นๆ ก็เช่นกัน เช่น อ.หาดสำราญ , อ.กันตัง หากพบมีการทำประมงผิดกฎหมาย ตนเองในฐานะรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดตรัง จะต้องเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการทุกที่ จะต้องไม่มีการทำประมงผิดกฎหมายเกิดขึ้น   ส่วนระยะยาวต้องสร้างความเข้าใจ และความมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้นำชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ โดยทางปปช.เองในส่วนของงานป้องกันก็มีโครงการจะประสานไปยังพื้นที่ จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจกับเด็ก นร.ในพื้นที่ให้รู้ว่าการทำสิ่งผิดกฎหมายนั้น จะกระทบต่อสังคมอย่างไร มีผลกระทบต่ออนาคตอย่างไร เพื่อส่งไม้ต่อเยาวชนดูแลให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากร และตระหนักว่าการดูแลรักษาทรัพยากรให้ยั่งยืนเป็นหน้าที่ของเยาวชน ชุมชน และประชาชนทุกคน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน