ตรัง “ฤดูกาลทุเรียนภาคใต้มาถึง ชาวตำบลในเตา จ.ตรัง แปรรูปทุเรียนพื้นบ้านเป็นทุเรียนกวนรสเลิศ ทั้งแบบธรรมดาและย่างไฟ สร้างรายได้ให้ชุมชน เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและลูกค้าทั่วประเทศ” 1 ปีมีหน หอมอร่อยหวานมัน ปลอดภัยไร้สารเคมี ออเดอร์ทะลักไม่พอขาย เม็ดเงินเข้าชุมชน ทุกส่วนมีค่า ขายได้ตั้งแต่เนื้อยันเมล็ด สร้างรายได้งาม อนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม
ขณะนี้ทุเรียนภาคใต้ กำลังออกผลผลิตตามฤดูกาล โดยเฉพาะทุเรียนพื้นบ้านภาคใต้ ที่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะ ตามภูมิประเทศแหล่งเพราะปลูก ด้วยภาพใต้มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงต่ำสลับกันตั้งแต่ตอนบนจนถึงตอนล่างของภาค โดยด้านตะวันตกมีแนวเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญในภาคใต้ ส่วนพื้นที่ตอนกลางของภาคมีเทือกเขาบรรทัด ทอดเป็นแนวเหนือจรดใต้ และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปี
จากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว ท่าให้มีอิทธิพลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะพืชประจำถิ่นหรือพืชพื้นเมือง โดยเฉพาะทุเรียนพื้นเมือง หรือ ทุเรียนบ้าน ซึ่งนอกจากสภาพพื้นที่และสภาพอากาศแล้ว วิถีชีวิตของคนสมัยก่อนก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความหลากหลายของทุเรียนพื้นเมือง เนื่องจากในสมัยโบราณ การขยายพันธุ์ทุเรียนนิยมใช้เมล็ด ต้นไหนอร่อยถูกใจ ชาวบ้านก็จะเก็บเมล็ดไปปลูก ด้วยหวังว่าจะได้ต้นที่ให้ผลอร่อยดังเดิม
เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดตรัง ที่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุเรียนบ้านให้ผลผลิตจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรังหลายครัวเรือน นิยมปลูกเอาไว้ทุกหลังคาเรือน เพื่อเอาไว้รับประทานและจำหน่าย โดยทุเรียนบ้านเป็นสินค้าขึ้นชื่อมายาวนานหลายชั่วอายุคนของชาวตำบลในเตา และมีการส่งต่ออาชีพ “ทุเรียนกวน ในเตา” จากรุ่นสู่รุ่นที่ทำกันมาเป็นประจำทุกปี
โดยหลังผลผลิตออกพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้ขายไม่ทัน ชาวตำบลในเตาจึงนำทุเรียนบ้านมาต่อยอดแปรรูปเป็น “ทุเรียนกวน ในเตา” จนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของตำบลมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะที่แผงจำหน่ายทุเรียนของ นายสนั่น ตุดสม หรือ “โกเพี้ยง” และ นางนิยม ตุดสม หรือ “ป้าแหยด” ชาวตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ตั้งอยู่หน้าวัดถ้ำพระพุทธโกษีย์ หรือ “วัดในเตา” เส้นทางลัดไปสู่จังหวัดพัทลุง ที่ช่วงนี้จะเปิดแผงจำหน่ายทุเรียนหลายสายพันธุ์ ทั้ง หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ตามที่มี เพราะเป็นผลผลิตของชาวบ้านในตำบล โดยเฉพาะทุเรียนบ้าน จะมีขายเป็นจำนวนมาก ในราคากิโลกรัมละเพียง 30-40 บาท ซึ่งพบว่าบรรยากาศหน้าร้านคึกคักตลอดเวลา มีลูกค้าทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ที่เดินทางผ่านมาแวะซื้อไม่ขาดสาย โดยเจ้าของร้านก็จะปอกทุเรียนบ้านให้ทดลองชิมด้วย และลูกค้าต่างติดใจในรสชาติ
สำหรับทุเรียนบ้านของตำบลในเตา จะมีสีเหลืองสวย เนื้อมาก รสชาติหวานมันอร่อย เป็นที่ติดใจของลูกค้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในร้าน จะมีการกวนทุเรียนบ้านทุกวัน วันละ 2 กระทะใบบัว เพื่อให้ทันต่อออเดอร์ที่สั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก รวมทั้งจำหน่ายหน้าร้านด้วย ซึ่ง “ทุเรียนกวน ในเตา” จะมี 2 แบบคือ “ทุเรียนกวนธรรมดา” และพิเศษหาไม่ได้จากที่ไหนคือ “ทุเรียนกวนย่าง” โดยใช้พื้นที่ว่างข้างบ้าน นำไม้ไผ่มาสานทำเป็นแคร่ผูกยกสูงไว้ แล้วก่อไม้ฟืนด้านล่างเพื่อย่างไร
นายสนั่น ตุดสม หรือ “โกเพี้ยง” อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 1 ตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มือกวนทุเรียน กับบรรดาญาติ ๆ กำลังเร่งแกะทุเรียน นำเมล็ดออกจากเนื้อ ใส่เนื้อทุเรียนลงในกระทะใบบัวเพื่อทำการกวน ซึ่งแต่ละกระทะใช้เวลากวนนานถึง 4 ชั่วโมงเศษ และต้องกวนติดต่อกัน จะหยุดไม่ได้ หากหยุดกวนส่วนที่ติดก้นกระทะจะไหม้ โดยเริ่มกวนจากไฟแรง ไฟกลาง และลดไฟอ่อน โดยแต่ละกระทะจะได้น้ำหนักทุเรียนกวนแล้วประมาณ 15 กิโลกรัม
ซึ่งบรรยากาศและเสน่ห์ของการกวน จะมีผึ้งมาบินโฉบตลอดเวลา ด้วยกลิ่นหอมเย้ายวน และเป็นการการันตีทุเรียนธรรมชาติ ปลอดภัย ไร้สารเคมี
โกเพี้ยง บอกว่า แต่ละปีหากเป็นฤดูกาลทุเรียนบ้าน จะกวนได้จำนวนมากนับไม่ถ้วน เพราะกวนทุกวัน หยุดน้อยมาก มีลูกค้ามารอสั่งตลอด และมีจัดส่งขายหลายจังหวัดทั่วประเทศ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ และปากต่อปาก ซึ่งเขาจะรู้แหล่ง เพราะขายกันมานานจนมีชื่อเสียง เพราะใช้ทุเรียนคุณภาพดี ที่ขายไม่ทันก็นำมาแปรรูป โดยรับซื้อจากชาวบ้าน กิโลกรัมละ 30 บาท กวนทุกวัน ขายหมดทุกวัน ไม่พอขาย ส่วนมากคนจะนิยมซื้อทุเรียนกวนย่างไฟ ซึ่งหลังจากกวนจนได้ทีแล้ว ต้องพักไว้ให้เย็น จากนั้นตักนำไปชั่งน้ำหนัก แล้วนำไปห่อด้วยกาบหมาก มัดด้วยเชือกกาบหมาก จากนั้นนำไปย่างไฟ ใช้เวลาย่างอีก 1 คืน 1 วัน โดยทุเรียนกวนย่างไฟ จะแห้งสีสวยใสแวววาว หอม น่ารับประทาน และสามารถเก็บไว้ได้นาน หรือเก็บในตู้เย็นก็ได้ อย่างไรก็ตาม ทุเรียนกวนย่างไฟปีนี้ได้มีการปรับราคาขึ้น มา 10 บาท เนื่องจากวัตถุดิบทุกอย่างมีต้นทุนสูงขึ้น โดยขายแผ่นละ 175 บาท (น้ำหนักครึ่งกก.) หาก 1 กิโลกรัมราคา 350 บาท แต่หากเป็นทุเรียนกวนธรรมดา กิโลกรัมละ 300 บาท
ทั้งนี้ยังมีรายได้ทั้งจากการจำหน่ายเมล็ด ทุเรียนกวนธรรมดา และทุเรียนกวนย่างไฟ รวมกันกระทะละ 6,000-7,000 บาทต่อวัน แต่ก็เหนื่อย เพราะต้องใช้เวลากวนยาวนาน และต้องย่างไฟอีก แต่ลูกค้าติดใจ เพราะเป็นทุเรียนบ้านกวนแท้ 100% ไม่มีส่วนผสมของแป้ง ซึ่งแต่ละปีมีไม่เกิน 2 เดือน จะมีรายได้เข้าชุมชนจากทุเรียนบ้านจำนวนมาก หากลูกค้าผ่านไปมาสามารถแวะชมขั้นตอนการทำได้ด้วยตาตัวเองได้ด้วย
ด้านนางนิยม ตุดสม หรือป้าแหยด อายุ 55 ปี ภรรยาโกเพี้ยง บอกว่า ปีนี้ขายดีคึกคักมากกว่าปีที่แล้ว และตอนนี้เร่งมือทำไม่ทัน เนื่องจากมีลูกค้าสั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก สำหรับปีนี้ลูกค้ามีสั่งจองข้ามปีมาจากตั้งแต่ปีที่แล้ว ในปีนี้คาดว่าขายได้นานไปจนถึงเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้หน้าร้านยังรับซื้อและขายทุเรียนทุกสายพันธุ์ และยังรับซื้อเมล็ดทุเรียนจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 10 บาท เพื่อที่จะนำเมล็ดทุเรียนส่งขายให้กับพ่อค้าจังหวัดพัทลุง ซึ่งขณะนี้ขายไปแล้วจำนวน 1 ตัน โดยเขาจะนำไปเพาะเมล็ดพันธุ์เป็นต้นทุเรียนขาย บางรายนำไปเป็นตอเพื่อเสียบยอดกับทุเรียนสายพันธุ์อื่นต่อไป แต่ในส่วนของเปลือกทุเรียน ยังไม่ได้มีการนำไปแปรรูปแต่อย่างใด หากใครสนใจนำเปลือกทุเรียนไปแปรรูปทำอย่างอื่น ก็สามารถมาติดต่อที่ร้านได้
ขณะที่ นายภูชิต ไหมศรี อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลน้ำตก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นลูกค้าที่มาซื้อทุเรียนกวนย่างไฟ บอกว่า มาอุดหนุนบ่อย เนื่องจากทุเรียนกวนย่างไฟ มีรสชาติอร่อย นิ่ม หอม แล้วก็เห็นว่าที่นี่มีลูกค้ามาซื้อมาก และทางร้านก็ยังมีจัดส่งให้กับลูกค้าต่างจังหวัดเยอะด้วย
ทั้งนี้ ลูกค้าที่สนใจอยากรับประทานทุเรียนบ้านกวนแท้ 100% สินค้าขึ้นชื่อของ ตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด สามารถสั่งซื้อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 063-8036383 (โกเพี้ยง) หรือติดต่อได้ที่เฟสบุ๊ก : “นิยม ตุดสม”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: