ตรัง-ลูกพะยูนวัย 2 เดือนเกยตื้นพลัดหลงแม่ ผู้เชี่ยวชาญนิเวศทะเล ยกบทเรียนเคสมาเรียม-ยามีล ระดมทุกสรรพกำลังช่วยให้รอด ผู้ว่าฯตรังรุดเยี่ยม พบฟื้นตัว กินได้-ว่ายน้ำร่าเริง โรงพยาบาลสัตว์น้ำราชมงคลตรัง พร้อมรับอนุบาล อำนวยความสะดวกทีมสัตว์แพทย์รักษา
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ว่ามีนักท่องเที่ยวพบลูกพะยูนมีชีวิตว่ายเพียงลำพัง บริเวณเกาะปอดะ ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ จึงได้ประสานงานเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นและทำการขนย้ายมารักษาและอนุบาลที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง
จากการตรวจสอบ พบว่าเป็นลูกพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 1-2 เดือน ความยาว 102 ซม. น้ำหนัก 13.8 กิโลกรัม ลูกพะยูนสภาพอ่อนแรงและตาจมลึกแสดงถึงภาวะขาดน้ำ แต่ยังสามารถยกหัวขึ้นหายใจได้ พบรอยบาดแผลบริเวณส่วนจมูกและหัวเล็กน้อย ร่างกายค่อนข้างผอม บริเวณตาซ้ายขุ่น เสียงปอดมีความชื้นเล็กน้อยลำไส้มีการบีบตัว และพะยูนยังมีความอยากกินอาหาร โดยทีมเจ้าหน้าที่ให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการป้อนนมทดแทนและน้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อชดเชยภาวะการขาดน้ำ มีการใช้นมผงเด็กเป็นนมทดแทนให้กับพะยูน และทางสัตวแพทย์จะวางแผนในการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดต่อไป ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2567 ที่โรงพยาบาลสัตว์น้ำราชมงคลตรัง อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง นายทรงกรด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วย นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง(ศวอล.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และนายประเสริฐ ทองหนูนุ้ย ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้ลงพื้นที่ติดตามอาการลูกพะยูนเพศผู้ วัย 2 เดือน พบว่ามีอาการดีขึ้น มีภาวะฟื้นตัวและสามารถว่ายน้ำเล่นสำรวจบริเวณภายในบ่อพักรักษาและกินอาหาร(นม)ได้แล้ว
ข่าวน่าสนใจ:
นายประเสริฐ ทองหนูนุ้ย ผอ.สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสัตว์น้ำราชมงคลตรัง ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากจังหวัดตรัง สร้างเสร็จเมื่อปี 2566 และได้มีการจัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับดูแลลูกพะยูนดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้มีการอนุบาลสัตว์น้ำชนิดอื่นๆในเขตพื้นที่ฝั่งอันดามันทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ตรัง กระบี่ และสตูล อีกด้วย ทั้งนี้โรงพยาบาลสัตว์น้ำราชมงคลตรัง พร้อมยินดีให้ความร่วมมือในการประสานงานอำนวยความสะดวกแก่ทีมแพทย์ที่ดูและพะยูนและสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ พร้อมยินดีเสริมกำลังทีมเจ้าหน้าที่ ให้ความช่วยเหลือดูแลตลอด 24 ชั่วโมงอย่างเต็มที่
ขณะที่นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โพสเฟสบุ๊คส่วนตัวระบุว่า มีเคสที่คล้ายกับมาเรียมและยามีลเกิดขึ้นอีกแล้ว คราวนี้เราต้องใช้บทเรียนและข้อผิดพลาดในอดีตมาทำให้สำเร็จ ขอพลังมาสู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน อย่างไรก็ตาม เรารู้ดีว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเป็นการทำงานของภาครัฐอย่างเดียว ในเร็วๆนี้เราคงต้องขอความช่วยเหลือจากทีมอาสาสมัคร ชุมชน และประชาชนทั่วไปเพื่อร่วมสร้างปฏิหารย์ให้เกิดขึ้น ซึ่งเช้านี้ทีมผู้ดูแลส่งคลิปน้องมา แสดงให้เห็นถึงอาการในทางที่ดีขึ้นมาก แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ หนทางยังอีกไกล
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: