ตรัง- นักเรียนลงแขก “หน่ำข้าวไร่” (การปลูกข้าวไร่) ตามแบบวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่นปักษ์ใต้ ส่งเสริมนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่ เรียนรู้ สืบสานและอนุรักษ์วิถีการทำไร่ในสมัยก่อนให้คงอยู่สืบไป หวังผลักดันให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการปลูกข้าวไว้กินเองและเห็นคุณค่าของเมล็ดข้าวที่กว่าจะได้มาเห็นความสำคัญของอาชีพชาวไร่ ชาวนา กระดูกสันหลังของชาติที่นับวันแทบจะไม่เหลือพื้นที่ไว้ปลูกข้าว และชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกข้าวไว้กินเองในครอบครัว คนบางดีกินข้าวบางดี
ที่แปลงปลูกข้าวไร่ ศูนย์เรียนรู้ข้าวปลอดภัยตำบลบางดี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง กลุ่มข้าวไร่ตำบลบางดี ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ร่วมกันดำเนินโครงการความมั่นคงทางอาหารข้าวตำบลบางดี โดยการจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าว “ปลูกเดือนแม่ เกี่ยวเดือนพ่อ” ( ปลูกเดือนสิงหาคม เก็บเกี่ยวปลายเดือนธันวาคม มกราคม รวมประมาณ 4-5 เดือน) ให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมถึงมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่จาก 3 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านควนอารี ,โรงเรียนบ้านทุ่งยางงาม และโรงเรียนบางดีวิทยาคม รวมทั้งประมาณ 100 คน ได้เรียนรู้วิธีการลงแขกการ “ หน่ำข้าวไร่” ซึ่งเป็นคำเรียกวิธีการปลูกข้าวไร่ตามแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวภาคใต้ ในที่นี้ทางตัวแทนกลุ่มได้แนะนำถึงวิธีการลงแขก “หน่ำข้าวไร่” ให้นักเรียนและเยาวชนได้เรียนรู้ถึงที่มาและวัตถุประสงค์ในการหน่ำข้าวในวันนี้ ได้รู้ว่าเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว บรรพบุรุษในพื้นที่มีการทำไร่ ทำนา ปลูกข้าวไว้กินเองทุกครัวเรือน แต่ปัจจุบันพื้นที่ทำไร่ ทำนาเหลือน้อยแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่หันมาซื้อข้าวกิน แต่ความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรียนรู้การปลูกข้าว การได้มาของเมล็ดข้าว ระลึกถึงพระคุณของชาวไร่ ชาวนาที่ปลูกข้าวให้กิน ข้อดีของการปลูกข้าวไว้กินเองที่บ้าน เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย และที่สำคัญหวังรณรงค์ให้ทุกครอบครัวหันมาจัดสรรพื้นที่สำหรับการปลูกข้าวไว้กินเอง ปลอดภัยและลดรายจ่าย พร้อมแนะนำและให้เด็กๆได้ลงมือทำร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยอุปกรณ์มี 2 อย่าง ประกอบด้วย 1.กระบอกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้สำหรับการกรอกใส่เมล็ดข้าวเอาไว้ในกระบอกให้เต็ม เพื่อไว้สำหรับเทใส่มือแล้วนำไปหยอดใส่หลุมที่ละหลุม 2.ไม้ (ต้นขนาดพอกำมือ) ที่ตัดมาทั้งต้น สูงประมาณ 2-3 เมตร โดยเหลาส่วนปลายให้มน สำหรับใช้ในการแทงสัก ( ลักษณะทิ่มลงไปในดินเหมือนการสักตามร่างกาย) โดยสมัยก่อนเมื่อมีการลงแขก “หน่ำข้าว” คนที่จะเป็นคนแทงสักคือ ผู้ชาย เพราะต้องใช้กำลังและเดินเรียงหน้ากระดานในการแทงสักทำให้เกิดหลุม ส่วนคนที่จะกรอกเมล็ดข้าวลงในกระบอกไม้ไผ่ และร่วมกันหน่ำข้าวคือ ผู้หญิงที่จะต้องตั้งแถวเรียงหน้ากระดานเช่นกัน เพื่อให้สามารถหยอดเมล็ดข้าวได้ครบทุกหลุม โดยใส่หลุมละ 5-7 เมล็ด จากนั้นก็กลบหลุมไว้เบาๆ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวทำให้เด็กๆได้เรียนรู้และสนุกสนาน โดยนักเรียนส่วนใหญ่บอกว่า ไม่เคยเห็นการปลูกข้าวไร่ และการทำนามาก่อน เพราะที่บ้านไม่มีการทำไร่ ทำนาแล้ว แต่มีบางคนที่บอกว่า เคยร่วมลงแขก หน่ำข้าวมาบ้าง จากที่โรงเรียนเคยทำกิจกรรมในปีก่อนๆ
โดย ด.ช.พีรพล ยิ่งยง นักเรียนชั้น ป. 4 โรงเรียนบ้านควนอารี บอกว่า ตนเองรู้จักว่ากิจกรรมในวันนี้คือ การหน่ำข้าว เป็นการปลูกข้าวไร่แบบวิธีการดั้งเดิม เพราะเคยร่วมที่โรงเรียนบ้านควนอารีจัดมาแล้ว 2 ปี สนุกที่ได้มาร่วมกิจกรรม ทำให้มีความรู้ในการปลูกข้าวไร่แบบวิธีการดั้งเดิม แต่ที่บ้านไม่ได้ทำไร่ทำนา และไม่เคยเกี่ยวข้าวมาก่อน ก็อยากเกี่ยวข้าวด้วย ทำให้รู้ว่าลำบากมากในการทำกว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ด ทำให้คิดได้ว่าเวลาทานข้าวจะต้องทานให้หมดทุกเม็ด เพราะกว่าจะได้มายากลำบาก และได้เห็นคุณค่าของข้าวว่ายากลำบากกว่าจะได้มาแต่ละเมล็ด
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
ทางด้านนางสาวทัศนีย์ สุขสนาน ตัวแทนกลุ่มข้าวไร่ตำบลบางดี บอกว่า ข้าวไร่ที่ปลูกคือ ข้าวดอกพะยอมเป็นข้าวพันธุ์พื้นถิ่นตำบลบางดี และเป็นข้าวพื้นถิ่นของภาคใต้ เหตุที่ต้องจัดให้มีกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้น เพื่อต้องการที่จะถ่ายทอดให้เด็กๆได้เรียนรู้การปลูกข้าวแบบดั้งเดิม เพื่อเอาไว้กินเอง เพราะทางกลุ่มพยายามรณรงค์รื้อฟื้นให้ชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกข้าวกินเองกันมากขึ้น โดยทำกิจกรรมต่อเนื่องกัน 2 ปีแล้ว ปีที่แล้วพบว่ามีพื้นที่ทำไร่ในตำบลประมาณ 386ไร่ แต่ปีนี้พบว่าพื้นที่ทำไร่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 500 ไร่ ถือว่าเพิ่มพื้นที่ปลูกได้มากกว่า 50% ส่วนพื้นที่ทำนาปีนี้พบว่าเหลืออยู่เพียง 12 ไร่เท่านั้น และแนวโน้มทั้งการทำไร่ และทำนาก็คิดว่าลดลงอีกเรื่อยๆ จากในอดีตทั้งตำบลทำไร่ ทำนา ต่อมาเปลี่ยนมาปลูกยาง และตอนนี้คนโค่นยางปลูกปาล์มกันทั้งหมด โดยสวนปาล์มสามารถปลูกข้าวไร่ได้ตอนปาล์มยังเล็กได้เพียง 2 ปีเท่านั้น และทางกลุ่มพยายามรื้อฟื้นให้ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวกินเอง เพราะปลอดภัย การซื้อข้าวจากภายนอกมีสารเคมีปนเปื้อนมาด้วย และต้องการให้เด็กๆได้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าว เพราะเป็นปัจจัยสำคัญสร้างความมั่นคงทางอาหาร ชาวบ้านในชุมชนก็ได้รับประทานข้าวที่ปลอดภัยจากชาวบ้านในชุมชนที่ปลูกขึ้นเอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: