X

“นครตรัง” จับมือ “ททท.” จัดใหญ่งานถือศีลกินผัก 3-11 ต.ค.นี้ “มหาทาน มหาบุญ มหากุศล กินผักนครตรัง” เล่าตำนาน 155 ปีพลังศรัทธา ประยุกต์เมนูเจพื้นเมืองสู่ฟิวชั่น ต่อยอดเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO

ตรัง-“นครตรัง” จับมือ “ททท.” จัดใหญ่งานประเพณีถือศีลกินผักจ.ตรัง 3-11 ต.ค.นี้ ภายใต้ชื่องาน “มหาทาน มหาบุญ มหากุศล กินผักนครตรัง” ถ่ายทอดตำนาน 155 ปี ความเชื่อ พลังศรัทธา สู่ประเพณีบุญยิ่งใหญ่ของชาวตรัง พร้อมจัดกิจกรรมสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติ ประยุกต์เมนูเจพื้นเมืองสู่ฟิวชั่นรับนักท่องเที่ยวสายบุญทั่วสารทิศ ต่อยอดเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO

วันที่ 12 กันยายน 2567 เวลา 18.00 น. ที่บริเวณซุ้มประตูมังกร มูลนิธิกุศาลสถานตรัง ภายในเขตเทศบาลนครตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง นายชาญชัย สารสินพิทักษ์ ประธานมูลนิธิกุศลสถานตรัง นางสาวลัดดาวัลย์ ช่วยชาติ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง และผู้แทนจากศาลเจ้าในจังหวัดตรัง ร่วมกันแถลงข่าวงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดตรัง ประจำปี 2567 ทั้งนี้ ประเพณีถือศีลกินผัก นับเป็นประเพณีเก่าแก่ที่พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดตรังปฏิบัติต่อเนื่องกันมานานกว่า 150 ปี จนอาจกล่าวได้ว่าประเพณีนี้ เกิดขึ้นมาพร้อมกับการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองตรังของชาวจีน ที่นำเอาวัฒนธรรมประเพณี ลัทธิความเชื่อจากบ้านเกิดของตนเข้ามาด้วย โดยจัดขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนหรือราวเดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปี

นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ รองนายกเทศมนตรีนครตรังกล่าวว่า สำหรับการจัดงานประเพณีถือศีลกินผักในปี2567นี้ ตรงกับวันที่ 3 -11 ตุลาคม 2567 โดยเทศบาลนครตรัง กำหนดจัดงานในชื่อว่า “มหาทาน มหาบุญ มหากุศล กินผักนครตรัง” ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมในประเพณีบุญอันยิ่งใหญ่ การจัดงาน ณ มูลนิธิกุศลสถานตรัง เป็นปีแรกที่เทศบาลนครตรังได้ใช้สถานที่เพื่อการจัดงาน เพื่ออยากให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้เข้าไปไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบริจาคโลงศพแก่ผู้ไร้ญาติ โดยอานิสงส์จากการบริจาคโลงศพช่วยให้แคล้วคลาดจากอันตราย ปลอดภัย ยิ่งให้ยิ่งได้ ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีถือศีลกินผัก ซึ่งให้ถือศีล และงดเว้นการทานอาหารเนื้อสัตว์ รวมถึงการจัดกิจกรรมสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสปีมหามงคล 72 พรรษา การแสดงสิงโต มังกร การแสดงเอ็งกอ พะบู๊ จากจังหวัดนครสวรรค์ และ มีการประกวดธิดาเจ้าแม่กวนอิมซึ่งตัดสินผู้ชนะเลิศ 2 คนสุดท้ายด้วยวิธีการเสี่ยงโปย การแสดงจากเยาวชน และชุมชน การออกร้านจำหน่ายอาหารเจ โดยเฉพาะการรับองค์ศักดิ์สิทธิ์ออกโปรดสาธุชนในเขตเทศบาลนครตรัง รวมทั้งการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันใส่ชุดขาว และมีผ้าพันขาซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของตรัง

ด้านนางสาวลัดดาวัลย์ ช่วยชาติ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมด้วย ช่วยกัน ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวสายบุญ และอนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามของจังหวัดตรัง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง ได้ร่วมตอกย้ำภาพลักษณ์จังหวัดตรังเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอาหาร ประกอบกับนโยบายของจังหวัดในการขับเคลื่อนจังหวัดตรังสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เพื่อเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก (UNESCO) และการขับเคลื่อน Gastronomy Tourism กินตามความเชื่อความศรัทธา ตามประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดตรัง และโภชนาการรูปโฉมใหม่ในการนำโปรตีนจากพืชเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร โดยนำเสนอเมนูอาหารเจจังหวัดตรังแบบดั้งเดิม จำนวน 2 เมนู และเมนูอาหารเจที่มีการยกระดับอาหารเจในสไตล์ฟิวชั่น เพื่อสุขภาพ จำนวน 2 เมนู อาทิ “โกต้าว” อาหารจีนฮกเกี้ยนตรัง เป็นอาหารแห่งการสามัคคี กลมเกลียว ดั่งคนหลายที่หลายแบบมารวมกันทำกิจกรรมให้รักใคร่ เหนียวแน่น กลมเกลียว เหมือน ถั่วลิสง เห็ดหอม เผือก อยู่รวมกัน เป็นเมนูเจ ถ้ากินคาว จะใส่หมูสับ กุ้งแห้ง ถั่วลิสง เผือก และต้นหอม เมืองตรังมีขนมชนิดนี้มานาน จะใช้ในพิธีการเลี้ยงทหารเทพหรือโกกุ้น ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางภาคใต้ มีรูปแบบในการจำลองการจัดค่ายทัพทหารรูปแบบของจริง โดยเอามาย่อส่วนในพิธีกรรมช่วงงานกินเจ การจัดค่ายห้าทิศ ธงห้าสีรักษาบริเวณพิธี โดยสังเกตได้จากเสื่อคล้าที่วางถ้วย เหล้า และอาหารบริเวณข้างๆ กระสอบข้าวสาร เกลือ อาวุธ ธงปักอยู่อีกมุม มีรูปเสืออีกมุม มีถาดใส่หญ้า ถั่วเขียว รวงข้าว ถังน้ำอีกมุม และจะวางกระดาษเงินทอง ทั้งห้าทิศ รวมถึงอาหารโกต้าวที่ขาดไม่ได้ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน

นางสาวลัดดาวัลย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีเมนูสร้างสรรค์อาหารเจ โดย เชฟอุ้ม เชฟชื่อดังชาวตรัง มีชื่อว่า “หมี่ทางใต้” ได้แรงบันดาลใจมาจาก หมี่น้ำหลอ ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นสุดยอดอาหารถิ่นของจังหวัดตรัง ประจำปี 2567 ตามโครงการ 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่ มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยใช้ หมี่เหลืองกรอบ เป็นเส้นหมี่ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะแถบคาบสมุทรทางใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย น้ำซุป ในลักษณะเหนียวข้น ผสมผสานด้วยองค์ประกอบจากพืชผักและโปรตีนจากถั่วเหลือง ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรสท้องถิ่นตรัง อาทิเช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว ซอสสีแดง(ค๊อมเจือง) ที่อยากให้ทุกท่านได้ลิ้มลอง และ “น้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง” รสธรรมชาติ ทานคู่กับ คุกกี้แผ่นบางกรอบ ที่รังสรรค์จากวัตถุดิบหลัก เต้าเจี้ยว กะปิเจ และแป้งข้าวเบายอดม่วง ปิดท้ายด้วย “ขนมเต่า” ที่ใช้สำหรับไหว้ขอพร ขอให้สุขภาพดี อายุยืนยาว คนจีนเชื่อว่า ขนมเต่า เป็นขนมมงคลใช้ได้ในทุกงานพิธี นิยมใช้ไหว้ในวันเกิดพระ วันเกิดตัวเอง พิมพ์หลังเต่า มีอักษรจีน คำว่า สิ่ว แปลว่า อายุวัฒนะ

จังหวัดตรังทุกภาคส่วน พร้อมหลอมรวมศรัทธาความเชื่อ  ความศรัทธา สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้ยั่งยืน จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวสายบุญทั่วประเทศ ร่วมสัมผัสงานบุญที่ยิ่งใหญ่ ณ จังหวัดตรัง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน