X

เดือด! ประมงพื้นบ้านหยงสตาร์ตรัง บุกศาลากลาง ร้องรมว.มหาดไทย-รมว.เกษตร ค้านรื้อ “โป๊ะน้ำตื้น” โวย คำสั่งจว.ลุแก่อำนาจ ชาวบ้านหลั่งน้ำตาถูกทุบหม้อข้าว

ตรัง-เดือด! ประมงพื้นบ้านหยงสตาร์ตรัง บุกศาลากลาง ร้องรมว.มหาดไทย-รมว.เกษตร ค้านจว.รื้อ “โป๊ะน้ำตื้น” ภูมิปัญญาบรรพชนสืบทอดตั้งแต่ยุค ร.5 แถมจ่ายอากรประมงถูกต้อง โวย คำสั่งจว.ลุแก่อำนาจ-หมิ่นเหม่กม. ขอยุติรื้อถอนจนกว่าจะแก้ไขประกาศให้สอดคล้องความเป็นจริง ชาวบ้านหลั่งน้ำตาถูกทุบหม้อข้าว สิ้นอาชีพ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 กันยายน 67 ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง ชาวประมงพื้นบ้านหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประมาณ 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง โดยมีนายสกุล ดำรงเกียรติกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นตัวแทนรับมอบ โดยชาวบ้านขอให้ยุติมาตรการทางการปกครองในการเข้ารื้อเครื่องมือประมงอ่าวปะเหลียน ซึ่งภาครัฐได้สนธิกำลังเร่งรื้อติดต่อกันหลายวัน ตามประกาศจังหวัดตรัง ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ที่ประกาศรื้อถอนเครื่องมือประมงประเภทโพงพางและโป๊ะ ที่ห้ามใช้หรือมีไว้ครอบครอง ตามมาตรา 27 (1) และตามประกาศคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดตรัง ห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางประเภท หรือวิธีการทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลขายฝั่งของจังหวัดตรัง พ.ศ.2566 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลขายฝั่งบริเวณอำเภอกันตัง อำเภอปะเหลียน และอำเภอหาดสำราญ โดยให้ผู้ครอบครองหรือเจ้าของดำเนินการรื้อถอน หากมีการฝ่าฝืนพนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าทำการรื้อถอนและดำเนินคดีโดยเด็ดขาด ซึ่งต่อมาในวันที่ 9-10 กันยายนที่ผ่านมา คณะทำงานชุดปฏิบัติการรื้อถอนฯ ได้สนธิกำลังบูรณาการรื้อถอนเครื่องมือโป๊ะในเขตพื้นที่ทะเลอำเภอปะเหลียนโดยได้มีการรื้อถอนโป๊ะน้ำตื้นของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก
.
นางเพียงทิพย์ ชายทุ่ย ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง กล่าวทั้งน้ำตาว่า ตนมีอาชีพทำประมงชายฝั่งเพียงอาชีพเดียว ทำโป๊ะน้ำตื้นมาประมาณ 10 ปีแล้ว ใน 1 เดือนสามารถวางโป๊ะจับสัตว์น้ำได้ประมาณ 10 วัน มีรายได้วันละ 200-300 บาท เท่านั้น การที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐรื้อถอนโป๊ะก็เหมือนกับการถูกทุบหม้อข้าว รู้สึกเสียใจมาก โป๊ะของตนที่ถูกรื้อถอนจำนวน 2 ตีน เป็นโป๊ะที่เพิ่งลงทุนทำใหม่ ตกทุนทำโป๊ะตีนละหมื่นกว่าบาท รวม 2 ตีนเป็นเงินกว่า 30,000 บาท

ด้านนายพัฒน์พงษ์ คงผลาญ ตัวแทน ชุมชนประมงพื้นบ้านบ้านหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง กล่าวว่า หลังจากที่ทางจังหวัดตรัง ใช้กำลังไปรื้อถอนรื้อทำลายเครื่องมือประมงประเภทโป๊ะน้ำตื้น ตามประกาศคณะกรรมการประมงจังหวัดตรัง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน จนได้รับความเสียหาย ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกว่าการกระทำของจังหวัด เป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจและเกินกว่าเหตุ สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบวงกว้าง ทั้งที่ชาวประมงพื้นบ้านเป็นคนหาเช้ากินค่ำ มีรายได้น้อย จึงขอให้ยุติคำสั่งให้รื้อถอนโป๊ะน้ำตื้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือพิจารณาประกาศคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดตรัง ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่จริงตามหลักธรรมาภิบาล เรามาเรียกร้องในส่วนของโป๊ะน้ำตื่น ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาประดิษฐ์ที่บรรพชนประมง ท้องถิ่นอำเภอปะเหลียนได้ส่งต่อสืบทอดกันมาตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 5 ส่วนโพงพางนั้นเราเข้าใจดีว่าเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ซึ่งชาวบ้านให้ความร่วมมือ

“เราเป็นประมงพื้นบ้านที่บรรพบุรุษออกแบบมาเพื่อใช้ทำมาหากิน จับสัตว์น้ำใกล้ตัวมาบริโภคในครัวเรือน ตอนนี้กรมประมงได้กำหนดให้เป็นเครื่องมือผิดกฎหมายไปหมด เหลือแต่โป๊ะน้ำตื้นเท่านั้น ที่เรามากันในวันนี้เพราะรู้สึกว่าหน่วยงานราชการทำลายวิถีประมงท้องถิ่น เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและดำเนินการตามขั้นตอน เป็นการรักษาสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านในตำบลท่าข้ามได้รับความเดือดร้อนประมาณ 30 ครัวเรือน และที่อื่นก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน ชาวบ้านแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ตอนนี้ผมได้ส่งหนังสือไปยัง รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเตรียมยื่นคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐผิดกฎหมายหรือไม่ และขั้นสุดท้ายคงต้องถวายฎีกา”นายพัฒน์พงษ์กล่าว

นายพัฒน์พงษ์กล่าวว่า กฎหมายตัวแม่ที่ดูแลเรื่องการทำการประมงคือพ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 แต่การที่จังหวัดตรังไปใช้อำนาจนั้น เป็นการออกกฎหมายเอง โดยคณะกรรมการประมงจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธาน ถือว่าเป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ ประมงโป๊ะน้ำตื้น ซึ่งกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย เป็นเครื่องมือที่ต้องจ่ายอากร เป็นเครื่องมือที่อนุญาตให้ใช้ทำประมงได้ โพงพางกับโป๊ะน้ำตื้นมีความแตกต่างกัน คือ โพงพางเป็นเครื่องมือประมงที่ปักอยู่ในร่องน้ำใช้เสาและขึงอยู่ด้านล่าง ส่วนโป๊ะน้ำตื้นเป็นเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำที่อยู่ริมชายฝั่ง ชายป่าโกงกาง พื้นที่ดินเลน ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถจับได้ จับสัตว์น้ำได้ครั้งละไม่ถึงแข่งด้วยซ้ำ หรือประมาณ 10 กิโลกรัม และสัตว์น้ำที่จับได้ก็ไม่ได้เป็นสัตว์น้ำกลุ่มอนุรักษ์ และจังหวัดตรังมีการอ้างเหตุผลที่ยังคลุมเครือ และที่สำคัญคือกระบวนการประกาศไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ผ่านเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน