ตรัง-สภาอุตภาคใต้ ลั่น ค้านขึ้นค่าแรง 400 บ. ทั้งกระดาน ยันไม่ขวางเพิ่มรายได้ปชช. แต่ควรยึดกลไกไตรภาคี ขึ้นตามเหมาะสมพื้นที่-ชนิดอุตสาหกรรม ยกจีดีพีแต่ละจว.ไม่เท่ากัน เตือนรบ.หักดิบใช้เสียงบอร์ด 2 ใน 3 เคาะ ทำได้ แต่เอสเอ็มอีล้มแน่ โอดเผชิญต้นทุนสารพัด ค่าแรง-พลังงาน-สินค้าจีนทุบราคา
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 นายอดิศร ตันเองชวน ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ และกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรณี คณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) เตรียมประชุมในวันที่ 20 กันยายนนี้ เพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งที่ 3 ในปี 2567 ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ที่จะให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยใช้เสียงที่ประชุม 2 ใน 3 แม้ฝ่ายนายจ้างจะไม่เข้าร่วม ผ่านมติเห็นชอบว่า ในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทนั้น ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ กกร. ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคาร และภาคเอกชนอื่นๆ เราไม่เห็นด้วยที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งเราเคยเสนอต่อรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อครั้งที่ผ่านมา วันนี้ก็ทราบมาว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามามีความพยายามที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทอีกครั้ง
“ในนามของภาคเอกชนโดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เรายังคงยืนกรานเช่นเดิมว่าไม่เห็นด้วย เราอยากให้รัฐบาลฟังเสียงจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำหรือไตรภาคี ที่ประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันที่ประชุมกันลูกจ้างเองก็ไม่ได้ต้องการให้ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ แต่เสนอให้ปรับไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ วันนี้หากรัฐบาลจะปรับให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี จะมีเจออุปสรรคเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งทุกวันนี้มีข่าวการปิดโรงงานมากขึ้น ทุกเดือนก็มีโรงงานปิดกิจการลง”ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้กล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
- ยายวัย 80 ทำกระทงจากใบล็อตเตอรี่ ทำข้ามปีขายในวันลอยกระทง
- ยายวัย 80 ทำกระทงจากใบลอตเตอรี ทำข้ามปีขายในวันลอยกระทง
นายอดิศร กล่าวอีกว่า วันนี้ก็ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจโดยรวมภาคการผลิตต้องเจอกับต้นทุนสูงรอบด้าน เช่น ต้นทุนพลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน ภาวะสงคราม โดยเฉพาะทุกวันนี้เราเจอกับสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดไทยทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีลำบากมาก การปรับค่าแรงเป็น 400 บาททั่วประเทศ จะกระทบธุรกิจกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง ซึ่งสภาอุตสาหกรรมเป็นห่วงในเรื่องนี้ ยืนยันว่าสภาอุตสาหกรรมไม่ได้ไปขวางเม็ดเงินที่ไปสู่ภาคแรงงาน จริงๆ บางอุตสาหกรรมในปัจจุบันมีค่าแรงที่มากกว่า 400 บาทอยู่แล้ว เป็น 500-900 บาทต่อวันก็มีในภาคอุตสาหกรรมการผลิตแต่ละส่วน ซึ่งเราไม่ได้ขัดขวางไม่ให้ขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท แต่บางอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก บางอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งใช้แรงงานเข้มข้น จะทำให้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีศักยภาพแข่งขันน้อย และโดยสินค้าที่ส่งออกก็ไม่ได้มีราคาหรือมีมูลค่าเพิ่มที่จะแข่งขันในตลาด เมื่อปรับค่าแรงจะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น จุงคิดว่าตรงนี้ควรเป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการไตรภาคี ซึ่งลูกจ้างเองก็ทราบอยู่แล้ว
นายอดิศรกล่าวว่า ทั้งนี้ควรปรับขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบ ถือว่าเป็นการทำที่ถูกต้อง ที่จะปรับให้แรงงานอยู่ได้ แต่อยากให้รัฐบาลไปดูในอุตสาหกรรมภาคการผลิต หรืออุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากภาคเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต่ำ ใช้แรงงานคนเป็นหลักหรือแรงงานเข้มข้น เป็นแรงงานข้ามชาติมากขึ้น เพราะค่าแรง 400 บาท จะส่งผลกระทบในบางจังหวัด เพราะสภาพเศรษฐกิจและจีดีพีแต่ละจังหวัดโตไม่เท่ากัน รัฐบาลควรไปดูในจุดนี้ด้วยว่าจังหวัดไหนปรับได้หรือจังหวัดไหนที่ควรยึดตามหลักเกณฑ์ของอนุกรรมการไตรภาคีได้ที่หน้า
ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใตั กล่าวด้วยว่า ส่วน กรณีตัวแทนนายจ้างไม่เข้าประชุมบอร์ดรอบที่แล้วนั้น รัฐบาลสามารถใช้เสียง 2 ใน 3 ผ่านมติได้ ไม่ถือเป็นการผิดกฎหมาย แต่ภาคเอกชนไม่ใช่ว่าจะไม่เข้าร่วมประชุม แต่เราต้องการให้รัฐบาลรับฟังและพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะภาคเอกชนเองยึดมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะถือเป็นคณะอนุกรรมการฯที่กฎหมายรองรับ เป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลหากรัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปภาคอุตสาหกรรมก็ต้องสะท้อนความคิดเห็นไปยังรัฐบาล ส่วนเราจะทำอะไรที่เกินกรอบข้องกฎหมายก็คงเป็นไปไม่ได้ เราเพียงอยากฝากไปยังรัฐบาลให้ดูแลขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเรื่องสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามา แล้วทำให้ธุรกิจรายเล็กรายน้อยเดือดร้อนมากในขณะนี้ รัฐบาลควรที่จะเร่งแก้ไขเพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถแข่งขันได้ และควรจะสนับสนุนเรื่องการพัฒนาทักษะให้แรงงานควบคู่ไปด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: