ตรัง-ตรังประกาศเขตภัยพิบัติแล้วเพื่อเยียวยา ผู้ว่าฯ ยันไม่นิ่งนอนใจทิ้งช่วยชาวบ้านสูญเสียบ้านเรือนจากท่วม-วาตภัย สั่งสำรวจความเสียหายด่วน แนะแจ้งความเดือดร้อนผ่านผู้นำท้องที่ได้ทันที เผยอำนาจเยียวยาเบื้องต้นผู้ว่าฯ 20 ล้าน เล็งดึงส.ส.ร่วมดันกรมโยธาสร้างกำแพงกั้นคลื่นหาดมดตะนอย แก้ปัญหาอนาคต
วันที่ 20 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังซึ่งเป็น 1 ใน 24 จังหวัดที่ได้รับความเสียหายรุนแรงจากเหตุอุทกภัย-วาตภัยระดับประเทศ ซึ่งในพื้นที่เข้าสู่วันที่ 3 แล้วที่เกิดฝนตกหนัก พายุ คลื่นทะเลซัดถล่มหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเขตอำเภอเมืองตรังที่แม่น้ำตรังเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนพื้นที่การเกษตร ขณะที่เกิดพายุพัดถล่มชายฝั่งทะเลและหลายเกาะ ไม่ว่าจะเป็น เกาะลิบง เกาะมุกด์ อำเภอกันตัง , เกาะสุกร อำเภอปะเหลียน , บ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง , หาดปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา , ชายฝั่งตำบลตะเสะ อำเภอหาดสำราญ จนสร้างความเสียหายแก่ชาวบ้านอย่างมาก ทั้งบ้านเรือน ทรัพย์สิน เรือประมง ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ต้องอพยพหาที่พักอาศัยชั่วคราวตามบ้านญาติและที่ที่ทางการจัดให้ เพราะบ้านพักเสียหายยับเยินจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ และมีความเป็นห่วงเรื่องการรับเยียวยาจากทางภาครัฐจะได้รับอย่างทั่วถึงหรือไม่ และต้องประสานไปยังหน่วยงานใด
ขณะที่วันเดียวกัน นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายอุดมพร กาญจน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจ.ตรัง นายธนิษฐ์ หยูทอง ผอ.โครงการชลประทานตรัง นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับน้ำเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย บริเวณน้ำตกกระช่อง อำเภอนาโยง ซึ่งรับน้ำจากเทือกเขาบรรทัด , โครงการคลองระบายน้ำคลองลำเลียง(ประตูระบายน้ำคลองนางน้อย) และลำคลองในเขตพื้นที่เทศบาลนครตรัง พบว่ายังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ แต่ให้เตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้และสังการให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง
นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมผลกระทบความเสียหายจากอุทกภัย-วาตภัยหลายพื้นที่ของจ.ตรัง ว่า รมว.มหาดไทย ได้ย้ำให้ข้าราชการอยู่ติดพื้นที่ดูแลประชาชน สำหรับจ.ตรังช่วงแรกของเหตุการณ์ตนพร้อมเจ้าหน้าที่ไปตรวจระดับน้ำซึ่งยังรับได้ มีพื้นที่ต่ำที่ท่วมขังแต่กระทบไม่เยอะเพราะเป็นสวนปาล์มซึ่งชอบน้ำอยู่แล้ว แต่หลังจากนั้นมีพายุเข้าและส่งผลกระทบมาก ทำให้บ้านเรือนสิ่งก่อสร้างพัง พื้นที่เสียหายรุนแรงมี 2 จุด คือ เกาะลิบง และโดยเฉพาะหาดมดตะนอยที่สำรวจพบบ้านพังเสียหาย 15 หลัง ซึ่งตนได้มอบหมายทั้งปภ. กาชาด พม. รวมถึงภาคเอกชน วันรุ่งขึ้นรองผู้ว่าฯก็เดินทางลงพื้นที่พร้อมกับปลัดจังหวัดทันที สำหรับความเสียหายของชาวบ้านทั้งเกาะลิบง หาดมดตะนอยที่เรียกร้องมาคือการช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งบางส่วนของพื้นที่บ้านเรือนตั้งอยู่บนเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ในความรับผิดชอบของกระทรวงทส. ซึ่งต้องไปถกกันต่อ สอดคล้องกับที่นายกาญจน์ ตั้งปอง ส.ส.ตรังเขต 4 พูดในสภาเรื่องการดำเนินงานโครงการกัดเซาะชายฝั่งของบ้านมดตะนอยร่วมกับทางโยธาธิการและผังเมือง เพื่อในอนาคตจะไม่ให้เกิดความเสียหายอีก ซึ่งจังหวัดอาจจะหารือกับนายกาญจน์เพื่อช่วยผลักดันการอนุมัติอนุญาตใช้พื้นที่ในระดับกรม-กระทรวงต่อไป ทั้งนี้เรื่องกำแพงกั้นการกัดเซาะในอดีตเคยมีพรรคการเมืองหนึ่งโจมตีกรมโยธาฯว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ และตกเป็นจำเลยสังคม และในภาวะวิกฤติที่น้ำท่วมฉับพลันการทำอีไอเอที่ใช้เวลาเป็นปีก็อาจไม่ทันต่อสถานการณ์ แต่สุดท้ายกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)บอกว่าอำนาจหน้าที่ทำโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะตลิ่งและชายฝั่งที่เป็นโครงสร้างแบบแข็งเป็นของกรมทช.และกรมเจ้าท่า ส่วนกรมทช.มีหน้าที่ทำแบบอ่อนคือไม้ไผ่ปักชะลอคลื่น
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
นายทรงกลด กล่าวอีกว่า สำหรับเกาะลิบงที่ชาวบ้านมีความเดือดเนื้อร้อนใจ วันที่เกิดเหตุผู้ใหญ่บ้านโทรมา ตนว่าเดี๋ยวคุยกัน แต่ท่านไม่ยอมก็เปิดกล้องให้ชาวบ้านเห็นหน้าตน ก็บอกกับชาวบ้านว่าได้สั่งการเรียบร้อย แต่ขอให้ผู้ใหญ่บ้านประสานกับนายอำเภอเร่งสำรวจความเสียหายมาให้เบ็ดเสร็จ แต่รุ่งขึ้นที่ทีมงานลงพื้นที่หาดมดตะนอยก็อยากไปเกาะลิบงด้วย แต่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ยืนยันว่าทุกอย่างเราเตรียมไว้หมดแล้ว รอเพียงให้ได้ข้อมูลที่เป็นที่ยุติ แล้วจะทำการเยียวยา ซึ่งให้อำนาจท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการได้ก่อนตามลำดับชั้นที่กรอบวงเงินกำหนด หากเกินก็ใช้อำนาจจังหวัด หากไม่เพียงพอก็พร้อมจะของบกลางจากรัฐบาลต่อไป ซึ่งมีทั้งกรอบงบประมาณทั้งตามมติครม.ล่าสุด และกรอบเยียวยาปกติ โดยอำนาจผู้ว่าฯมีกรอบงบฉุกเฉินสำหรับภัยขนาดใหญ่ใช้ได้ 20 ล้านบาท แต่ต้องแยกเยียวยาผ่านหน่วยงานต่างๆ แต่ขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นภัยใหญ่วงกว้าง
“เรื่องนี้ยืนยันกับชาวบ้านว่าทางจังหวัดไม่ได้ทิ้งเฉยหรือนิ่งนอนใจ ก็ขอให้ประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย รีบแจ้งข้อมูลความเสียหายทั้งเรื่องคน ทรัพย์สินสิ่งของ แก่ผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านโดยเร่งด่วน เพื่อนายอำเภอจะเป็นโซ่ข้อกลางในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ไม่ต้องเป็นห่วง ยืนยันว่าทางจังหวัดมีความพร้อมและหารือกันทุกวันถึงยอดเยียวยาที่ต้องดำเนินการ”ผู้ว่าฯตรังกล่าว
ด้านนายอุดมพร กาญจน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจ.ตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประกาศเขตภัยพิบัติในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นรายตำบล เพื่อเข้าไปฟื้นฟูเยียวยาแล้ว อาทิ ต.บางรัก ต.ควนปริง อ.เมือง เกาะลิบง และหาดมดตะนอย ต.เกาะลิบง เป็นต้น สำหรับบ้านเรือนที่เสียหายชายทะเลและเกาะซึ่งทับซ้อนที่ดินรัฐ ชาวบ้านต้องการให้ช่วยหาที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่ใหม่ที่ใกล้ที่อยู่เดิม ซึ่งเรากำลังดำเนินการอยู่ โดยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย 1748 หรือเบอร์ 075-214382
ด้านนายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวว่า พื้นที่เมืองเทศบาลนครตรังได้เตรียมความพร้อม โดยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ได้วางแผนให้สอดส่องระดับน้ำวันละ 5 ครั้ง หรือทุกๆ 5 ชั่วโมง ทั้งเหนือเขตเทศบาล และระดับน้ำในเขตเทศบาลช่วงที่มีคลองไหลผ่าน เพื่อทราบมวลน้ำและได้แจ้งให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เคยเกิดน้ำท่วมหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ชุมชนควนขนุน ชุมชนควนขัน หรือชุมชนที่อยู่ติดคลอง ให้รับทราบข้อมูลและเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดน้ำท่วม รวมทั้งเตรียมกระสอบทรายไว้ให้บริการประชาชน หากเกิดน้ำท่วมสามารถโทรสายด่วน 199 ได้ตลอดเวลา และหากเกิดภัยพิบัติเรามีงบกลางที่จะดูแลประชาชนอยู่แล้ว ในช่วงนี้อาจมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเนื่องจากเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำตรังและทะเลช้า ซึ่งเทศบาลนครตรังได้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด
ด้านนายธนิษฐ์ หยูทอง ผอ.โครงการชลประทานตรัง กล่าวว่า ยืนยันว่าประสิทธิภาพของคลองคลองลำเลียงและคลองนางน้อยขณะนี้ไม่มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ สามารถระบายน้ำได้ดีมาก เห็นได้จาก 2 ปีที่แล้วอำเภอนาโยงไม่เกิดน้ำท่วม ระบบชลประทานประตูระบายน้ำต่างๆของเรามีความพร้อม ตอนนี้เราได้ติดตามข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง ช่วงไหนที่มีมรสุมเข้าเราก็ได้เตรียมการตลอด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: