ตรัง- ผู้ว่าฯ ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม 7 ตำบล ใน 2 อำเภอ และพื้นที่ประสบภัยพิบัติวาตภัย ( พื้นที่บนเกาะและชายฝั่ง) 3 ตำบล ใน 3 อำเภอ เร่งสำรวจและนำงบประมาณช่วยเหลือปชช. โดยในส่วนพื้นที่วาตภัยทั้งบนเกาะและแนวชายฝั่ง จะเร่งรัดกรมโยธาธิการและผังเมือง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างพนังกันคลื่นโดยเร็วที่สุด ส่วนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง ต้องเร่งหาที่อยู่ใหม่ในการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัย
นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากที่จังหวัดตรังเป็น 1 ใน 24 จังหวัดที่ได้รับความเสียหายรุนแรงจากเหตุอุทกภัย-วาตภัยระดับประเทศ ทำให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และมีบ้านเรือนประชาชนพังเสียหายอีกหลายสิบหลังคาเรือน ล่าสุด ทางจังหวัดได้ประกาศให้พื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินน้ำท่วม ใน 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และอ.กันตัง จำนวน 7 ตำบล 30 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 411 ครัวเรือน คือ ต.นาโต๊ะหมิง ,ต.บางรัก ,ต.นาตาล่วง ,ต.ควนปริง และต.นาพละอ.เมือง , ต.โคกยาง และ ต.ควนธานี อ.กันตัง และประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินวาตภัยในพื้นที่บนเกาะและบริเวณชายฝั่งรวม 3 อำเภอ 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 87 ครัวเรือน คือ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง , ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน ,และต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำงบประมาณมาใช้ในการช่วยเหลือประชาชนและเร่งฟื้นฟูพื้นที่ต่อไป ขณะเดียวกันหากงบประมาณของท้องถิ่นไม่เพียงพอ ทางจังหวัดยังมีงบประมาณโดยอำนาจผู้ว่าฯอีก 20 ล้านบาทไว้สำรองกรณีเหตุใหญ่
ส่วนพื้นที่วาตภัยที่บ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างพังเสียหายรุนแรง 2 จุด คือ ที่เกาะลิบง บ้านพังเสียหายประมาณ 20 หลัง และที่หาดมดตะนอย ต.เกาะลิบง บ้านพังเสียหาย 15 หลัง ซึ่งตนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย โดยชาวบ้านเรียกร้องขอที่อยู่ใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องนี้ ทั้งนี้ บางส่วนของพื้นที่บ้านเรือนตั้งอยู่บนเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ทั้ง 2 แห่ง ชาวบ้านร้องขอกำแพงกันคลื่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมเจ้าท่ามีหน้าที่ทำโครงสร้างแบบอ่อน เช่น ไม้ไผ่ปักชะลอคลื่น ส่วนการศึกษาเพื่อทำโครงสร้างแบบแข็ง กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำการสำรวจแล้ว แต่จะต้องผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ก่อน ซึ่งจะต้องใช้เวลานานเป็นปี ซึ่งอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ แต่สุดท้าย ในการก่อสร้างจริงหากเป็นโครงสร้างแข็งเป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเรื่องนี้ทางจังหวัดจะเร่งรัดติดตามในการอนุมัติอนุญาตใช้พื้นที่ในระดับกรม และกระทรวงต่อไป โดยจะทำงานประสานกับส.ส.ในพื้นที่ เพื่อเร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว
ข่าวน่าสนใจ:
- จังหวัดสกลนคร พัฒนาศักยภาพบุคลากร ภาคีเครือข่าย เฝ้าระวัง ดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติด
- ตรัง ผลผ่าพิสูจน์การตายพะยูน 2 ตัว ผอม หญ้าในท้องน้อย ป่วยตาย
- อบจ.ลำปางจัดประชุม“การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศการตรวจประเมินและวางแผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพฝายในพื้นที่
- ตรัง ทดลองล้อมคอกหญ้าทะเล เร่งหาทางออกฟื้นฟูหญ้าทะเล ภาระกิจด่วนทำแข่งกับเวลาที่เหลืออยู่กับความอยู่รอดของพะยูน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: