X

ผู้ว่าตรัง นั่งหัวโต๊ะ เร่งฟื้นฟูหาดปากเมงหลังคลื่นถล่ม เติมทรายสร้างหาดเทียมโซนร้านค้า ให้สามารถเปิดรับการท่องเที่ยวได้

ผู้ว่าตรัง นั่งหัวโต๊ะ เร่งฟื้นฟูหาดปากเมงหลังคลื่นถล่ม เติมทรายสร้างหาดเทียมโซนร้านค้า ให้สามารถเปิดรับการท่องเที่ยวได้ พร้อมมอบเงินครอบครัวผู้เสียชีวิตเรือล่มเกาะสุกร

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ที่ห้องศรีตรัง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาคลื่นซัดชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยมีนายอุดมพร กาญจน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง นายแสงสุรี ซองทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม นายสมศักดิ์ เสือบุญทอง ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง ชลประทานตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุม สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา บริเวณชายหาดปากเมง แหล่งท่องเที่ยวประตูสู่อันดามัน ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ได้รับผลกระทบจากพายุซูลิก โดยบริเวณท่าเทียบเรือปากเมงจุดที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ ศาลาท่าเทียบเรือปากเมง มีกระเบื้องหลังคาได้รับความเสียหายจากแรงพายุ , หูโป๊ะเรือ 4 ด้านได้รับความเสียหาย , บริเวณทางเดินเป็นหลุมมีน้ำขังและพื้นทางเดินไม้เกิดการชำรุด บริเวณชายหาดปากเมงจุดที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ เส้นทางจราจรจากบริเวณชายหาดปากเมงไปท่าเรือมีต้นไม้ล้มทับขวางเส้นทางการจราจร , บริเวณชายหาดปากเมงมีขยะที่โดนคลื่นซัดเข้ามาบนฝั่งจำนวนมากอีกทั้งมีต้นไม้บริเวณเรียบชายหาดล้มเป็นจำนวนมาก , มีโต๊ะและเก้าอี้บางส่วนบนชายหาดของร้านอาหารได้รับความเสียหาย

นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของหาดปากเมง โดยสรุปดังนี้ มาตรการที่ 1 การกำหนดพื้นที่ถอยร่น ซึ่งอาจดำเนินการควบคู่กับการเสริมสร้างความสมดุลของตะกอนชายฝั่ง มาตรการที่ 2 การปลูกป่า การปลูกป่าชายเลน การปลูกป่าชายหาด การฟื้นฟูชายหาด การถ่ายเททราย การเติมทราย และการปักเสาดักตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน การปักไม้ไผ่ การปักเสาคอนกรีตหรือวัสดุอื่นๆ โดยบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร จุดที่ประชาชนมาพักผ่อนหรือท่องเที่ยวมีปริมาณมากใช้วิธีการฟื้นฟูชายหาด การเติมทราย หรือ การสร้างหาดเทียม (beach nourishment) โดยให้คำนึงถึงวัสดุที่นำมาใช้ แหล่งวัสดุที่นำมาใช้ วิธีการถม การออกแบบหน้าตัด สภาพของชายหาด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การติดตามตรวจสอบการบำรุงรักษา ข้อกฎหมาย ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และการคำนวณปริมาณทราย นอกจากนี้ยังได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต 1 ราย จากเรือล่มบริเวณเกาะสุกรที่ได้รับได้รับผลกระทบจากพายุซูลิก จำนวน 59,400 บาทอีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน