ตรัง-กลุ่มประมงโป๊ะน้ำตื้นในพื้นที่อ่าวหยงสตาร์ ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน จ.ตรัง บุกศาลากลางทวงคำตอบ ขอให้เพิกถอนประกาศคืนการทำประมงด้วยโป๊ะน้ำตื้นให้กลับมาถูกกฎหมายเหมือนเดิม หลังถูกทางจังหวัดออกคำสั่งส่งชุดปฏิบัติการออกรื้อถอนในทะเล โดยระบุเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมายเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก ด้านคณะกรรมการประมงจังหวัด ซึ่งมีตัวแทนประมงชายฝั่งร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วยคัดค้านการเพิกถอนเครื่องมือประมงดังกล่าว
วันที่ 26 ก.ย.67 ที่ศาลากลางจ.ตรัง ตัวแทนประมงพื้นบ้านจาก 9 หมู่บ้าน ประมาณ 30 คน ที่ทำการประมงด้วยโป๊ะน้ำตื้น ในบริเวณพื้นที่อ่าวหยงสตาร์ ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พร้อมป้ายข้อความ “ ยกเลิกประกาศอัปยศฯ ที่สร้างความอดอยากให้กับชุมชนประมงพื้นบ้าน ,หยุดใช้อำนาจเถื่อนทำลายโป๊ะน้ำตื้น ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของประมงพื้นบ้าน อย่าทุบหม้อข้าวครอบครัวหนูเลย ผู้ว่าตรัง รังแกหนู ข้าราชการใจร้ายทำลายโป๊ะหนูทำไม เอาปูปลาหนูคืนมา” นำโดย เรือเอกพัฒน์พงษ์ คงผลาญ ประธานวิสาหกิจชุมชนย่านชุมชนเก่าตันหยงสตาร์ ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เดินทางมาทวงคำตอบจากทางจังหวัด หลังเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อขอให้ทางจังหวัดยกเลิก ประกาศกำหนดให้ “ โป๊ะน้ำตื้น หรือหลาด” เป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก ประเภท พะยูน โลมา และเต่าทะเล ที่ออกโดยคณะกรรมการประมงจังหวัดตรังที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธาน และมีตัวแทนจากประมงพื้นบ้านร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย แต่หลังจากยื่นหนังสือในวันดังกล่าวแล้วนั้น ทางชาวบ้านทราบว่า ทางจังหวัดได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประมงจังหวัดตรังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ในที่ประชุมยืนยันในประกาศดังกล่าวกำหนดให้ “ โป๊ะน้ำตื้น หรือหลาด” เป็นเครื่องมือที่เป็นอันตรายและห้ามทำประมงด้วยโป๊ะน้ำตื้นต่อไป ทำให้ชาวบ้านเดินทางมาในวันนี้ โดยทางแกนนำได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางจังหวัดยกเลิก หรือทบทวนประกาศดังกล่าว และให้ชะลอการรื้อถอนโป๊ะน้ำตื้นของชาวบ้าน พร้อมเรียกร้องให้รับผิดชอบต่อทรัพย์สินของชาวประมงพื้นบ้านที่ร่วมกันใช้กำลังทำลายจนเกิดความเสียหาย และปฏิเสธที่จะเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
เรือเอกพัฒน์พงษ์ คงผลาญ ประธานวิสาหกิจชุมชนย่านชุมชนเก่าตันหยงสตาร์ บอกว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้ง 9 หมู่บ้าน รวม 40 ราย มีเครื่องมือโป๊ะน้ำตื้นที่ครอบครอง 87 ปาก ไม่ได้ใช้ดักจับสัตว์น้ำ 54 ปาก ใช้ดักจับสัตว์น้ำปัจจุบัน 33 ปาก ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รื้อทำลายไปจำนวน 18 ราย รวมจำนวนโป๊ะน้ำตื้น 28 ปาก เสียหายสิ้นเชิงไม่สามารถซ่อมแซมได้ 24 ปาก เสียหายบางส่วนซ่อมแซมได้ 4 ปาก มูลค่าความเสียหายรวม 623,000 บาท ทั้งนี้ นอกจากมาอ่านแถลงการณ์เรียกร้องแล้ว ยังเดินหน้าเรียกร้องไปยังหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย ในฐานะบังคับบัญชาผู้ว่าฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลกรมประมง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งหนังสือถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ เตรียมร้องศาลปกครอง ปปช. หลังจากนี้จะรอคำตอบ ยืนยันขอให้ทางจังหวัดตรังยกเลิกและทบทวนการกำหนดให้โป๊ะน้ำตื้นผิดกฎหายต่อไป เพราะชาวบ้านทำกินตามวิถีชุมชนมานาน ตอนนี้ทำให้ขาดแคลนแหล่งอาหาร แหล่งหากิน กระทบความเป็นอยู่ของชุมชน ขาดรายได้ และพื้นที่อ่าวหยงสตาร์ไม่ใช่แหล่งอาศัยและหากินของสัตว์ทะเลหายาก
นายภิรมย์ ชายทุ่ย หมู่ 4 บ้านทุ่งรวงทอง ต.ท่าข้าม บอกว่า ของตนเองถูกทำลายไป 2 ปาก เสียหายอย่างสิ้นเชิง ราคาปากละประมาณ 30,000 บาท ตอนนี้ไม่มีเครื่องมือทำมาหากิน ไม่มีรายได้ ตนทำมา 10 ปี พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเดือนละประมาณ 5,000 บาท หากจะต้องทำใหม่ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว บางคนไม่มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ เดือดร้อนหนัก ขอให้ทางจังหวัดคืนการทำประมงด้วยโป๊ะน้ำตื้นให้กับชาวบ้าน ทำกินมานาน ไม่มีอาชีพอื่นรองรับ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: