ตรัง-ชาวนาหมื่นศรี นำอัตลักษณ์ท้องถิ่นประดับเรือพระวัดควนสวรรค์ สะท้อนวิถีความสัมพันธ์ “คน-ผ้า-นา-วัด” วาดภาพปู่ย่าตาทวดคนสำคัญรำลึกมรดกบรรพชน ชาวบ้านออกปากลงแรงไม่คิดค่าจ้าง เพื่อความภาคภูมิใจร่วมกัน ร่วมงานลากพระตรัง จัดใหญ่ 18-26 ต.ค.นี้
ที่่วัดควนสวรรค์ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ผู้นำชุมชนและชาวบ้านเร่งแสดงฝีมือในการประดิษฐ์และตกแต่งเรือพระที่ปีนี้เป็นปีแรกที่ทางชุมชนนาหมื่นศรี นำโดยนายเจริญ ศรนารายณ์ อดีตกำนันตำบลนาหมื่นศรี นายสมจิตร คงฉาง อดีตประธานสภา อบจ.ตรัง รวมทั้งผู้นำปกครองท้องที่ และชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านได้ร่วมกันระดมช่างฝีมือที่มีความสามารถด้านต่างๆมาช่วยกันทำและตกแต่งเรือพระ เพื่อเข้าร่วมงานประเพณีลากพระที่ทาง อบจ.ตรัง จัดขึ้นหลังวันออกพรรษา ระหว่างวันที่ 18 -26 ตุลาคมนี้ ที่ลานเรือพระ สนามกีฬาทุ่งแจ้ง เทศบาลนครตรัง ซี่งปีนี้อบจ.ตรัง จัดอย่างยิ่งใหญ่ มีการประกวดเรือพระ ขบวนเรือแห่พระ เพื่อชิงถ้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ส่วนเงินงบประมาณในการสร้างเรือพระ และงบประมาณที่ใช้สำหรับการจัดซื้อวัสดุทำ และตกแต่งเรือพระในครั้งนี้นั้น เป็นเงินที่ชาวบ้านในชุมชนและพรรคพวกเพื่อนฝูงของผู้นำในชุมชน จากทุกสารทิศช่วยสนับสนุนกันมา ทำให้สามารถสร้างเรือพระได้สำเร็จเป็นปีแรก ส่วนช่างฝีมือด้านต่างๆ ในการทำเรือพระ ทั้งช่างไม้ ช่างแกะสลักไม้ ช่างวาดภาพเหมือน และช่างอื่น ๆ เป็นช่างฝีมือในพื้นที่ที่ใครมีความสามารถด้านใด ก็พร้อมใจกันมาช่วยกันในครั้งนี้ เพื่อชุมชนนาหมื่นศรี ยกเว้นช่างทำพญานาคเท่านั้นที่ต้องสั่งตรงมาจากจังหวัดเชียงใหม่ แต่ที่สำคัญคือ แนวคิดในการประดับเรือพระนั้นพบว่า ชาวบ้านได้นำอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนนาหมื่นศรี มาบอกเล่าเป็นเรื่องราวปรากฎบนเรือพระที่จะชักลากและนำไปจัดแสดงที่ลานเรือพระด้วย เช่น ภาพวาด อุโมงค์ต้นไม้เส้นทางเข้าชุมชนนาหมื่นศรี,ภาพวาดถ้ำเขาช้างหายสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของตำบลนาหมื่นศรี, ภาพวาดวิถีการทำนา ทั้งการถอนกล้า การเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งปัจจุบันแหล่งทำนาแหล่งใหญ่ของ จ.ตรัง อยู่ที่ อ.นาโยง และ ต.นาหมื่นศรี เป็น 1 ชุมชน ที่ชาวบ้านยังอนุรักษ์การทำนาเอาไว้, ภาพวาดการทำลูกลม การละเล่นลูกลม การปักลูกลมริมถนน ริมคันนา เพื่อร่วมประกวดในงานประเพณีลูกลมซึ่งเป็นงานประจำปีของชาวนาหมื่นศรี หลังเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว , ภาพวาดเกี่ยวกับผ้าทอนาหมื่นศรี ซึ่งเป็นสินค้าชุมชนที่มีชื่อเสียงของชุมชนและจังหวัดตรัง โดยภาพวาดต่างๆทั้งหมดนั้นสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะภาพวาดบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิถีชุมชนทั้งนาข้าวและผ้าทอนาหมื่นศรีล้วนเป็นภาพวาดเหมือนของบุคคลสำคัญที่มีอยู่จริงและสร้างมรดกไว้ให้ลูกหลาน ทั้งภาพคนเก็บเกี่ยวข้าว คือ (ภาพยายปลอบ เชยชื่นจิตร เป็นอดีตเมียผู้ใหญ่บ้าน) ภาพวาดคนประดิษฐ์ลูกลม (ภาพคุณตาประเสริฐ คงหมุน) เป็นคนริเริ่มแข่งขันลูกลม และประดิษฐ์ลูกลมเอง ซึ่งทั้ง 2 ท่านปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่เป็นบุคคลสำคัญในวิถีนาและการละเล่นแบบไทยคือ ลูกลมของตำบลนาหมื่นศรี
ส่วนภาพวาดของบุคคลสำคัญ และถือเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญยิ่งของชุมชนนาหมื่นศรีที่ทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลานคือ ภาพวาดบุคคลสำคัญที่เป็นคนริเริ่มการทอผ้านาหมื่นศรีที่มีอายุกว่า 100 ปี คุณทวด คุณยายทุกท่านที่ปรากฏในภาพวาดเหมือนนั้น เป็นครูผ้าที่ได้ทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลานชุมชนนาหมื่นศรี คุณยายผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ทั้งลวดลายผ้าหลายสิบลวดลาย โดยภาพครูผ้าที่ปรากฎเรื่องเล่าบนเรือพระ เช่น คุณทวดชัด ไหมจันทร์ , คุณทวดฝ้าย สุขคง, คุณทวดกุศล นิลลออ ผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ,ภาพคุณทวดเฉิ่ม ชูบัว และคุณทวดเบื้อน ขุนทอง เป็นต้น และกลุ่มทอผ้าปัจจุบันยังคงมีลูกหลานชาวนาหมื่นศรีสืบทอด และสร้างงานสร้างรายได้เข้าชุมชนจากการจำหน่ายผ้าทอนาหมื่นศรีที่มีชื่อเสียงของจ.ตรังจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ปัจจุบันนี้คุณทวด คุณยายครูผ้าทุกท่านได้จากไปแล้ว ทิ้งไว้แต่มรดกของชุมชน ของแผ่นดิน นอกจากนั้นมีการนำมาลายผ้าโบราณ มาสร้างพิมพ์ เพื่อนำลายผ้าโบราณดังกล่าวมาประดับเรือพระทั้งลำในครั้งนี้ คือ ลายลูกแก้ว และลายราชวัตร เป็น 2 ลวดลายผ้า ซึ่งสวยงามและมีคุณค่าต่อชุมชน ต่อแผ่นดินมาปรากฎบนเรือพระของชุมชนนาหมื่นศรี
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ผู้ตรวจฯกระทรวงพาณิชย์ ลงตรังเยี่ยมแปลงปลูกพริกไทยตรัง-สุราชุมชน ผู้ผลิตต่อยอดสินค้า GI "พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน สู่มาตรฐาน EU organic…
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- กาญจนบุรี พิธีตักบาตรพระ 10,000 รูป ฉลองตั้งเมือง 193 ปี พร้อมอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้มีพระคุณต่อประเทศชาติ
นายเจริญ ศรนารายณ์ อดีตกำนัน ต.นาหมื่นศรี บอกว่า เป็นปีแรกที่ตำบลนาหมื่นศรี อ.นาโยง ร่วมกันสร้างเรือพระ และทุกคนลงความเป็นว่าควรนำเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของต.นาหมื่นศรีมาประดับบนเรือพระ เพื่อให้สังคมประชาชนโดยทั่วไปได้เห็นคือ วิถีการทำนา การละเล่นลูกลม สถานที่ท่องเที่ยว และตำนานผ้าทอนาหมื่นศรีที่มีชื่อเสียงของจ.ตรัง และการทำเรือพระในครั้งนี้ทั้งงบประมาณและช่างฝีมือต่าง ๆ ก็มาจากคนในพื้นที่ทั้งหมดที่มีความสามารถในด้านต่าง ๆ และมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่มีใครคิดค่าจ้าง มีแต่คนแกะสลักพญานาคเท่านั้น ที่ขอช่างจาก จ.เชียงใหม่มาช่วย แต่งานฝีมือฝ่ายต่างๆลูกหลานคนในชุมชนเท่านั้น ทุกเพศ ทุกวัยมาช่วยกัน อายุมากที่สุด 82 ปี ซึ่งเป็นปีแรกที่สร้างเรือพระเข้าร่วมงานประเพณีลากพระ ก็ไม่ได้คาดหวังรางวัลการแข่งขัน แต่ต้องการให้สังคมได้รู้จักชุมชนนาหมื่นศรี และสิ่งที่ได้นอกจากช่วยกันสืบทอดงานประเพณีลากพระแล้ว ยังสืบทอดอัตลักษณ์ของชุมชนไว้ให้ลูกหลาน และยังสร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับงานประเพณีลากพระของจ.ตรัง ที่จัดโดย อบจ.ตรัง ในปีนี้นั้นมีการประกวดเรือพระ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ชิงถ้วยสมเด็จพระเทพฯ กำหนดจัดขึ้น 18-26 ตุลาคมนี้ ณ ลานเรือพระ สนามกีฬาทุ่งแจ้ง โดยมีเรือพระจากทั้ง 10 อำเภอใน จ.ตรัง เข้าร่วมรวมจำนวน 78 ลำ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: