ตรัง-“เดชอิศม์” ลงตรัง ลั่นล้างอาถรรพ์ 13 ปี 8 ผู้ว่าฯ “ตึก OPD รพ.ตรัง” อนุสาวรีย์การทิ้งงาน-สร้างไม่เสร็จ ผู้รับเหมาวิ่ง 3 รายซ้อน หลังชาวบ้านบุกร้องถึงกระทรวง ทุกข์หนักเจ็บไข้ได้ป่วยล้นรพ. ยอมรอบสุดท้ายอีบิดดิ้ง หากล่ม-ทิ้งงานอีกชงครม.เว้นระเบียบกรมบัญชีกลาง เหตุที่ผ่านมาฟันราคาต่ำทำจริงไม่ได้ แนะตั้งกก.ร่วมทุกฝ่ายช่วยคัดสรรผู้รับเหมามีศักยภาพ ต้องเสร็จในยุคตัวเอง ถ้าใจสุจริตไม่ต้องกลัวแก้ระเบียบ พร้อมชวนเอกชนหาดใหญ่เสนอตัว ผวจ.เด้งรับ ลงนามทันทีประกาศประกวดราคารอบ 4 วงเงิน 285 ล้าน จับตา 25 ต.ค.นี้เคาะราคา หึ่งพิษเงินทอนทำร้างยาวนาน
วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่โรงพยาบาลศูนย์ตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลตรัง , การให้บริการประชาชนตามนโยบายโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว , การให้บริการแพทย์แผนไทย พร้อมให้กำลังใจบุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขพื้นที่จังหวัดตรัง โดยเฉพาะการติดตามปัญหาการก่อสร้าง อาคารผู้ป่วยนอก หรือ OPD และอุบัติเหตุฉุกเฉิน วงเงินเกือบ 500 ล้านบาท เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 7 ชั้น ที่ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาล แต่ขณะนี้การก่อสร้างได้กินเวลามานานกว่า 13 ปีงบประมาณแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จจนถูกทิ้งร้าง เนื่องจากผู้รับเหมาะทิ้งงานติดต่อกันถึง 3 รายซ้อน สร้างคามเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้เจ็บไข้ได้ป่วยที่มาโรงพยาบาลในแต่ละวันจนล้นโรงพยาบาล ต้องมาแต่เช้าตรู่เพื่อมากดบัตรคิว และรอนานหลายชั่วโมงกว่าจะได้รับการรักษา สภาพโรงพยาบาลขณะนี้ มีความแออัดทั้งผู้ป่วยและญาติที่ต้องหาที่นั่งที่นอนรอกันตามยถากรรม พื้นที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยกว่า 2-3 พันคนต่อวัน โดยนายเดชอิศม์ได้พบปะกับบรรดาผู้ป่วย พร้อมสัญญาว่าจะแก้ปัญหาความแออัดและสร้างตึก OPD ให้เสร็จในยุคของตัวเอง
จากนั้นนายเดชอิศม์ พร้อมคณะผู้บริหารโรงพยาบาล อาทิ นายแพทย์สมบัติ ผดุงวิทย์พัฒนา สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 12 นายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง นายแพทย์สมบัติ สธนเสาวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง คณะผู้บริหารโรงพยาบาล รวมทั้งภาคประชาชนผู้ร้องเรียน ได้ร่วมกันตรวจสอบสภาพตึก OPD ที่ถูกทิ้งร้าง พบว่า มีสภาพชำรุดทรุดโทรม มีน้ำขังจากโครงสร้างและหลังคารั่ว เศษวัสดุก่อสร้างกระจายเกลื่อน ปูนหลายกระสอบถูกทิ้งไว้จนแข็ง แอร์หลายร้อยตัวที่ถูกติดตั้งไว้ชำรุดเสียหายทั้งหมด โดยผู้บริหารโรงพยาบาลได้สะท้อนปัญหาตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมาถูกผู้รับเหมาะทิ้งงานมาโดยตลอด เนื่องจากในขั้นตอนการประมูล บริษัทที่เสนอราคาต่ำที่สุดสามารถชนะและได้งาน ทำให้มีการฟันราคาต่ำจนไม่สามารถก่อสร้างได้จริง เมื่อเบิกจ่ายตามงวดงานไปได้บางส่วน และเห็นว่าไปต่อไม่ไหว ก็ทิ้งงาน ทางโรงพยาบาลเคยหารือไปยังกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับการยกเว้นระเบียบในระบบอีบิดดิ้งที่อาศัยผู้เสนอราคาต่ำสุด เพราะเกิดปัญหามาตลอด แต่กรมบัญชีกลางยืนยันว่าต้องปฏิบัติตามระเบียบราชการ ทำให้ขณะนี้กังวลว่าผู้รับงานรายต่อ ๆ ไปจะทิ้งงานอีกหรือไม่ ซึ่งข้าราชการที่เกี่ยวข้องก็ต้องปฏิบัติตาม สุดท้ายภาวะสุญญากาศนี้ทำให้ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลได้รับความเดือนร้อนเป็นอย่างมาก
ด้านนายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังรับทราบปัญหา ว่า มาตรวจราชการที่จังหวัดตรังครั้งนี้ มีประเด็น 30 บาทรักษาทุกโรค โดยเฉพาะประเด็นสร้างตึก OPD 13 ปียังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งตนต้องกลับไปทบทวนถึงเรื่องวิธีการคัดเลือกผู้รับเหมา เราจะใช้แบบเดิมๆ จะเอาเฉพาะบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะไม่อยากให้ประชาชนต้องมาเสี่ยงกับบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐาน ต้องมีเกณฑ์คัดบริษัทมาตรฐานเข้ามาด้วย เราต้องทำให้ได้ ตนได้พบกับชาวบ้านที่มารักษา มีสภาพแออัดและได้รับความเดือดร้อนมาก วันนี้การให้บริการประชาชน เครื่องมือต่างๆต้องเต็มร้อย แต่เราขาดอาคารสถานที่ พี่น้องประชาชนเขารอใช้อยู่ ตนคิดว่าต้องปรับแก้กฎหมาย แก้ระเบียบ บริษัทที่ทิ้งงาน ประชาชนเขาเจ็บไข้ไม่สบาย ไม่ได้ใช้คอยนานก็ตาย ทุกวันนี้มีประชาชนรอการรักษาจนเสียชีวิตนับหมื่นคน ประชานจะเสี่ยงไม่ได้
ข่าวน่าสนใจ:
- คนงานรับเหมาถูกเพื่อนโกหก ทิ้งงาน ไม่มีเงินกลับบ้าน จ.ปราจีนบุรี
- "ตรังโมเดล" โกโก้สร้างรายได้ให้เกษตรกร กิโลกรัมละ 8 บาท ภาคเกษตร-เอกชนร่วมมือเปิดจุดรับซื้อ 11 แห่ง
- ตรัง ผู้ตรวจฯกระทรวงพาณิชย์ ลงตรังเยี่ยมแปลงปลูกพริกไทยตรัง-สุราชุมชน ผู้ผลิตต่อยอดสินค้า GI "พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน สู่มาตรฐาน EU organic…
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
นายเดชอิศม์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในการประกวดราคารอบที่ 4 นี้ ยังคงเป็นแบบเดิมในระบบอีบิ้ดดิ้งอยู่ ซึ่งตนยอมรับเลยว่าไม่มั่นใจเลยว่าจะได้ผู้รับเหมาะมาสร้างให้เสร็จได้หรือไม่ แต่ถ้าครั้งนี้เกิดติดขัดในกระบวนการขั้นตอนหรือมีการทิ้งงานอีก คงต้องเสนอให้มีการแก้ระเบียบ ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สสจ. ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารโรงพยาบาล รวมทั้งภาคประชาชน มาร่วมกันคัดเลือกคัดสรรผู้รับเหมาที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานให้แล้วเสร็จให้ได้ เพราะภาคประชาชนที่ตรังเขาเป็นห่วงเรื่องนี้ถึงขนาดไปร้องกับตนที่กรุงเทพฯ
“ผมเชื่อว่า ถ้าใจเราสุจริต เราทำเพื่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เราไม่ได้ไปทุจริต การแก้ระเบียบเพื่อให้ก่อสร้างได้แล้วเสร็จจริง เราก็ไม่ต้องกลัว เพราะที่ผ่านมาวิธีเดิมๆก็ทิ้งงานกันตลอด ถ้ามันไปต่อไม่ได้ คณะกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นมาก็ช่วยกันหาทางออก หาผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ อย่างผมเองอยู่สงขลา ก็พอรู้จักเอกชนที่หาดใหญ่ ก็จะไปบอกคนที่สนใจให้มาช่วยๆกัน ต้องแก้กฎหมาย จะได้เป็นกรณีตัวอย่างระดับประเทศได้ พยายามแก้ด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ที่มีทั้งระดับกระทรวง สสจ ระดับจังหวัด และภาคประชาชน ใครจะมาร้องเรียนไม่ได้ ต้องรีบแก้โดยด่วน และนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมใหญ่ เพราะชาวบ้านเดือดร้อน”นายเดชอิศม์กล่าว ทั้งนี้ก่อนเดินทางกลับ นายเดชอิศม์ ได้สักการะอนุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พร้อมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้อธิษฐานขอข้อเดียว คือ ให้สร้างตึก OPD เสร็จ
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังมีภาคประชาชนเดินทางไปร้องเรียนกับนายเดชอิศม์ที่กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ต้องงัดทางออกสุดท้ายหากไม่สามารถจบเรื่องได้ ด้วยการขอมติ ครม.ยกเว้นระเบียบกรมบัญชีกลางในการประมูลปกติ แล้วใช้วิธีพิเศษในการคัดเลือกคัดสรรผู้รับเหมาที่มีคุณภาพแทน กระทั่งวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ลงนามในประกาศจังหวัดตรัง เรื่อง ประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารอำนวยการ ผู้ป่วยนอก และอุบัติเหตุฉุกเฉิน เป็นอาคาร คสล. 7 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 23,765 ตารางเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาคาร ของโรงพยาบาลตรังแล้ว ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์(e-bidding) ราคากลางของงานจ้างก่อสร้าง 285,559,400 บาท กำหนดจำหน่ายซองประกวดราคาวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ก่อนจะนัดเคาะราคาวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ท่ามกลางการจับตามองด้วยความคาดหวังของประชาชนชาวตรัง หลังจากตลอดระยะเวลากว่า 13 ปีที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ขณะที่ตึก OPD ของโรงพยาบาลจังหวัดใกล้เคียงอย่างเช่นจังหวัดพัทลุง ใช้แบบก่อสร้างเดียวกัน เริ่มก่อสร้างพร้อมๆกัน แต่กลับแล้วเสร็จเปิดให้บริการประชาชนมาหลายปีแล้ว แต่ของจังหวัดตรังผู้รับเหมาทิ้งงานมาตลอด จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูในหมู่ผู้รับเหมาในพื้นที่ ว่ามีกระแสเงินทอนกันในอดีตตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนทำให้ผู้รับเหมาะไม่คุ้มทุนและทิ้งงานหรือไม่
ทั้งนี้สำหรับตึก OPD โรงพยาบาลตรัง เริ่มโครงการในปี 2554 ทำสัญญาการก่อสร้างครั้งแรกกับบริษัท เจมิไนย์ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด วงเงิน 417 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2555 ในยุคนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล เป็นผู้ว่าฯ ในระหว่างที่ผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ โครงการได้มีปัญหาก่อสร้างล่าช้ามาตลอด จนวันที่ 4 กันยายน 2558 จังหวัดได้ยกเลิกสัญญา และทางบริษัทผู้รับเหมาได้ฟ้องอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจำนวน 137 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ยุคนายเดชรัฐ สิมศิริ เป็นผู้ว่าฯ ได้จัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ โดยได้บริษัท ทศพร เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 404 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 940 วัน แบ่งเป็นงวดงาน 23 งวด เข้าดำเนินการก่อสร้างจริงช่วงต้นเดือน มกราคม 2560 ทำให้การกำหนดส่งงาน ล่าช้าออกไป สุดท้ายจังหวัดจึงยกเลิกสัญญาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 และได้มีการริบหลักทรัพย์ค้ำประกัน จำนวน 10 ล้านบาท
ส่วนผู้รับเหมารายที่ 3 ล่าสุด คือ บริษัท กิจการร่วมค้า-เอสที-แมกแอนส์-ทีดับบิว เข้ามาดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เหลือ งบประมาณ 278 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในวันที่ 1 เมษายน 2563 สิ้นสุดสัญญา 31 มีนาคม 2565 ยุคนายลือชัย เจริญทรัพย์ เป็นผู้ว่าฯ แต่ก็ยังยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ต้องมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้าง จนสุดท้ายจังหวัดได้บอกเลิกสัญญา จนถูกทิ้งร้างมาในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตึก OPD ดังกล่าว เป็นเงินจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังดำเนินการโดยตรง ซึ่งผ่านการบริหารของผู้ว่าฯมาแล้วถึง 8 คน ก็ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: