ตรัง ชาวนครตรัง แห่แจ้งความ โวยสุดชุย! ทำถนนราดน้ำยางมะตอยไร้ป้ายเตือน ทำรถเสียหายนับร้อย ยังหาตัวผู้รับผิดชอบไม่พบ จี้สปิริตแสดงตัว อ่วมเจอค่าล้างแบบพิเศษคันละพันขึ้นไป คาร์แคร์คิวล้นต้องนัดข้ามวัน “ทน.ตรัง” โร่ตามตัวผู้รับเหมายังไม่เจอ ยังไม่รู้แก้ปัญหาแบบไหน ค่ำแล้วถนนยังเปิดหรา อึ้ง! ทำพร้อมกัน 34 สาย 170 ล้าน สุดงงถนนบางสายยังดีอยู่
วันที่ 12 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง ได้รับร้องเรียนประชาชนภายในเขตเทศบาลนครตรัง โดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนนว่า ได้เกิดผู้ได้รับความเสียหายจากการทำถนนของเทศบาลนครตรัง ได้แห่กันไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สภ.เมืองตรังกันอย่างล้นหลามจำนวนหลายสืบราย และยังคงมีทยอยเดินทางเข้าแจ้งความลงทุนทึกประจำวันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มเฟซบุ๊กของประชาชนชาวจังหวัดตรังหลายกลุ่มซึ่งมีสมาชิกหลักแสนๆ คน ได้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการทำถนนตามโครงการของเทศบาลนครตรัง โดยตั้งแต่ช่วงเย็นวันเดียวกันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก และมีผู้สัญจรใช้รถใช้ถนนคับคั่งเนื่องจากเป็นช่วงเย็นวันหยุดวันเสาร์ ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายได้โพสต์ในกลุ่มระบุ ว่า ได้ขับรถไปตามถนนสาธารณะเส้นขนานรางรถไฟวังตอ ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ซึ่งผู้รับเหมาตามสัญญาจ้างจากเทศบาลกำลังปรับปรุงทำถนนใหม่ ด้วยการขูดผิวถนนเดิมออก แล้วราดน้ำยางมะตอยเหลวรองพื้นก่อนจะเริ่มขบวนการปูแอสฟัลท์ติดคอนกรีต ทำให้ยางมะตอยเหลวรวมทั้งหินรองพื้นติดตามล้อรถสภาพเละเทะ โดยมีทั้งผู้ที่ประสบปัญหาและชาวตรังมาแสดงความคิดเห็นยางเป็นหางว่าว อาทิ “ผมก็โดนด้วย ไม่มีบอกอะไรเลย หน่วยงานรับผิดชอบบ้าง ให้แต่ผู้นับเหมาทำ ราชการไม่ต้องควบคุมงาน” , “ตรังเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ ที่นักการเมืองไร้ประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่นสายชนบทต่างๆไฟส่องสว่าง ไม่มี ถนนดีๆไม่ต้องถาม” , “โดนแล้วค่ะ อยากร้องเรียนเหมือนกัน หนักมาก ต้องขูดล้อก่อน ก่อนขึ้นลิฟต์ล้าง ขัดด้วยน้ำยา ตอนนี้ยังไม่เสร็จเลย รอคิวล้างอยู่เพราะโดนหลายคันมากค่ะ มักง่ายทำงานไม่ปิดถนน ฝนตกด้วยมองไม่เห็น เสียเงิน เสียเวลา บอกคำเดียวทำงายชุ่ยมากค่ะ” , “น่าจะร้องเรียน พร้อมทวงถามความรับผิดชอบความเสียหาย อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไปถึงหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงครับ” ฯลฯ
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ พบว่าหลายรายน้ำยางมะตอยและเศษหินได้ผสมกันติดตามรถหนาเตอะจนมองไม่เห็นดอกยาง สภาพความเสียหายติดไปจนถึงใต้ท้องรถ ตัวถึง แซดซี ตัวรถ กระจังหน้าและกระจก โดยที่ปากทางเข้าถนนดังกล่าวทั้ง 2 ด้าน ไร้เครื่องกีดขวาง ป้ายเตือน หรือป้ายบอกการปฏิบัติงาน รวมถึงไร้เจ้าหน้าที่คอยดูแลแต่อย่างใด ทำให้มีรถประชาชนทั่วไปพลัดหลงเข้าไปจนเกิดความเสียหายจำนวนมาก กระทั่งช่วงค่ำวันเดียวกัน ก็ยังไม่มีการปิดกั้นถนน ขณะที่ผู้รับเหมาได้ถอนเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักร ออกไปแล้วเนื่องจากฝนตก ทำงานต่อไม่ได้ ทิ้งไว้เพียงถนนที่ฉ่ำไปด้วยน้ำยางมะตอย และไร้ป้ายเตือน โดยมีรถของชาวบ้านเข้าออกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บรรดาร้านคาร์แคร์ล้างรถต่างๆ โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้าใกล้เคียง คราคร่ำไปด้วยประชาชนเจ้าของรถที่รีบนำรถไปล้างแบบใช้น้ำยาพิเศษ สนนราคาตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปต่อคัน ขึ้นกับสภาพยางมะตอยที่ติด และขนาดของรถ จนทำให้คิวล้างรถเต็ม เจ้าของคาร์แคร์ได้ปิดรับคิวและนัดให้มาล้างใหม่ในวันรุ่งขึ้น บรรยากาศค่อนข้างโกลาหล
ขณะที่บรรยากาศที่สภ.เมืองตรัง ก็โกลาหลไม่แพ้กัน บรรดาเจ้าของรถที่เสียหายต่างมาแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจนแน่นขนัดและทยอยเดินทางกันมาต่อเนื่อง และตำหนิการทำงานที่หละหลวมในการปรับปรุงถนนดังกล่าวของทั้งเอกชนผู้รับงานและเทศบาลเจ้าของโครงการ จนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ขณะที่ร้อยเวรรับแจ้งเหตุต้องทำงานโกลาหลเนื่องจากคิวแจ้งยาว
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ผลผ่าพิสูจน์การตายพะยูน 2 ตัว ผอม หญ้าในท้องน้อย ป่วยตาย
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- ชวนชิม 'ศรีบุญเรือน' ร้านข้าวต้มต้นตำรับ สืบทอดสามรุ่น เสน่ห์ร้านข้าวต้มยามค่ำคืน ที่รวมอาหารจีน อาหารเหลา อาหารใต้ไว้ในร้านเดียว
- ตรัง ชื่นชมชุมชนท่องเที่ยวร่วมใจเก็บขยะบนเกาะเหลาเหลียง
นายนพรัตน์ (สงวนนามสกุล) อายุ เจ้าของรถผู้เสียหาย เล่าเหตุการณ์ว่า ที่ทุกคนที่มาแจ้งความลงบันทึกประจำวันในวันนี้เนื่องจากได้ปรึกษาหารือกันแล้วว่า เราได้รับความเสียหายจากการขับขี่รถยนต์ภายในเขตเทศบาลนครตรัง เหตุการณ์เกิดช่วงเย็นที่ถนนเลียบเส้นทางรถไฟวังตอ-คลองเจ็ด โดยที่ผู้เกี่ยวข้องไม่มีการวางแผนการจราจร หรือแจ้งให้ทราบ หรือไม่มีป้ายสัญลักษณ์เตือนการปฏิบัติงาน หรือจัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุมดูแลใดๆทั้งสิ้น ปากทางก็เปิดตามปกติทำให้มีรถประชาชนซึ่งสัญจรทางสาธารณะขับเข้าใจจนได้รับความเสียหาย และกระทบกับชาวบ้านจำนวนมาก รถหลายสิบคันซึ่งน่าจะยังมีเพิ่มอีก และมีอีกหลายคนที่ไม่ได้มาแจ้งความเพราะรีบไปล้างรถ และไม่รู้ว่าควรมาแจ้งความไว้เพื่อหาผู้รับผิดชอบ เพราะค่าใช้จ่ายในการล้างรถที่ติดยางมะตอยแพงมาก ของตนเป็นรถกระบะ 4 ประตู ไปล้างด้วยน้ำยาพิเศษ 1,500 บาท รถของตนโดนราวเวลา 15.00 น. ระหว่างไปล้างก็รีบมาแจ้งความทันที ตอนแรกที่ขับไปก็ไม่รู้ตัว พอมาจอดก็เห็นน้ำยางมะตอยย้อยและหยดลงมาแล้ว ก็ถ่ายภาพเก็บหลักฐานไว้หมด
นายนพรัตน์ กล่าวอีกว่า จากการปรึกษาหารือกัน พวกเราอยากให้บริษัทหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบความเสียหาย เช่นค่าล้างรถ เป็นต้น เพราะชาวบ้านต้องได้รับความเสียหายในเรื่องที่ไม่สมควรเสีย แล้วยางมะตอยที่ติดล้อแน่นแบบเคลือบล้อไปทั้งหมดเลยก็อันตราย ขับไปก็สะบัดลื่นจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้
“ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ผมก็อยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่า อยากให้ทำงานให้ละเอียดกว่านี้สักนิด ไม่ว่าจะทำถนนลาดยางหรืออะไรก็แล้วแต่ ควรมีป้ายบอก รับผิดชอบให้ดีแล้วปัญหาจะไม่เกิด แต่ครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าปัญหาเกิดจากสาเหตุใด หละหลวมตรงไหนเราก็ไม่รู้ แต่เหตุมันเกิดขึ้นแล้วก็อยากให้บริษัทหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงตัวและรับผิดชอบด้วย ถนนที่ไม่มีแผงกั้นอะไรเลย ชาวบ้านไม่รู้เขาก็ขับเข้ามา เพราะเขาต้องเดินทางบนถนน เสียหายกันมากหลายคัน จนนับไม่ได้เลย เพราะมีเพิ่มเรื่อยๆ”นายนพรัตน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่เทศบาลนครตรัง ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้รับการชี้แจงสั้นๆว่า เบื้องต้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว และกำลังประสานผู้รับเหมาให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขและรับผิดชอบเยียวยาในกรณีที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบจากผู้รับเหมาะว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ประชาชนชาวตรังกำลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การระดมปรับปรุงถนนของเทศบาลนครตรังที่ปูพรมหลายสายพร้อมๆกันในขณะนี้ โดยหลายคนมองว่าบางสายถนนยังดีอยู่ แต่มีการลอกรื้อทำใหม่อย่างเป็นที่สังเกต โดยสำหรับถนนสายที่รถประชาชนเสียหายในครั้งนี้ คือ โครงการปรับปรุงผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต สายถนนขนานทางรถไฟ (ใต้) วงเงิน 6,030,000 บาท มีบริษัทสยามภัณฑ์ศิลา จำกัด เป็นผู้รับงาน ผู้ควบคุมงานคือนายธีรเดช ศรแก้ว นายช่างโยธาปฏิบัติงาน สำนักช่างเทศบาลนครตรัง ทั้งนี้จากการสืบค้นพบว่า เทศบาลนครตรังได้จัดจ้างปรับปรุงถนนในช่วงนี้เป็นการปรับปรุงผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีตที่มีการจัดจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม—30 กันยายน รวมถึง 34 โครงการ วงเงิน 170,529,480.16 บาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: