ตรัง-ทน.ตรังขยับ เข็น กก.ตรวจรับตั้งโต๊ะรับเรื่องพรุ่งนี้ เรียกผรม.เข้าห้องเย็น “ทนายดัง” ชี้ อุทาหรณ์ทำถนนหน้าฝนยางมะตอยเคลือบรถชาวบ้านเดือดร้อนระนาว แนะกม.แพ่งเรียกร้องเยียวยา ชัดประมาทร่วมผู้จ้าง-รับจ้าง ไม่เกี่ยวเรื่องป้ายเตือน เพราะเข้าข่ายตั้งแต่ลาดยางในสภาพอากาศไม่อำนวย จี้ พนักงานสอบสวนสอบให้ครบ ฐานความผิดอาญาละเมิดทำทรัพย์สินเสียหายพ่วงด้วย เตือนทำถนนพร้อมกันทั้งเมือง ให้เห็นใจหัวอกชาวบ้านหากินริมทาง ต้องปิดร้านขายของไม่ได้
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2567 จากกรณีผู้สื่อข่าวได้รับร้องเรียนประชาชนภายในเขตเทศบาลนครตรัง โดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนนว่า ได้เมีผู้ได้รับความเสียหายจากการทำถนนของเทศบาลนครตรัง ได้แห่กันไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.เมืองตรังกันอย่างล้นหลาม และยังคงมีทยอยเดินทางเข้าแจ้งความอย่างต่อเนื่องข้ามวัน และยังพบว่าในกลุ่มเฟซบุ๊กของประชาชนชาวจังหวัดตรังหลายกลุ่มซึ่งมีสมาชิกหลักแสน ๆ คน ได้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการทำถนนตามโครงการของเทศบาลนครตรัง โครงการปรับปรุงผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต สายถนนขนานทางรถไฟ (ใต้) หรือถนนขนานทางรถไฟวังตอ วงเงิน 6,030,000 บาท มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งเป็นผู้รับงาน ผู้ควบคุมงานคือ นายช่างโยธาปฏิบัติงาน สำนักช่างเทศบาลนครตรัง โดยตั้งแต่ช่วงเย็นวันเกิดเหตุ (12 ต.ค.67) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก และมีผู้สัญจรใช้รถใช้ถนนคับคั่งเนื่องจากเป็นช่วงเย็นวันหยุดวันเสาร์ ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายได้โพสต์ในกลุ่มระบุว่า ได้ขับรถไปตามถนนสาธารณะเส้นขนานรางรถไฟวังตอ ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ซึ่งผู้รับเหมาตามสัญญาจ้างจากเทศบาลกำลังปรับปรุงทำถนนใหม่ ด้วยการขูดผิวถนนเดิมออก แล้วฉีดพ่นน้ำยางมะตอยเหลวรองพื้นก่อนจะเริ่มขบวนการปูแอสฟัลท์ติดคอนกรีต ทำให้ยางมะตอยเหลวรวมทั้งหินรองพื้นติดตามล้อรถสภาพเละเทะ โดยผู้เสียหายมีทั้งผู้ใช้รถจักรยานยนต์นับร้อย ๆ คัน ขณะที่ฝ่ายตำรวจ สภ.เมืองตรังลงพื้นที่พร้อมทำบันทึกรายงานเหตุการณ์ระบุมีประชาชนบางส่วนเป็นคนยกป้ายเตือนออกเพื่อนำรถเข้าแล้วไม่ยกกลับที่เดิม
ทั้งนี้ จากการสืบค้นพบว่า เทศบาลนครตรังได้จัดจ้างปรับปรุงถนนในช่วงนี้พร้อมกันเป็นจำนวนมากหลายสาย โดยเป็นการปรับปรุงผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีตที่มีการจัดจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-30 กันยายน รวมถึง 34 โครงการ วงเงิน 170,529,480.16 บาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งข้อสังเกตจากประชาชนชาวตรังว่าเหมาะสมหรือไม่ เพาะถนนหลายสายก็ยังมีสภาพดีอยู่ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ต.ค.67 เพจเทศบาลนครตรัง PR Nakorntrang News ได้โพสต์ข้อความระบุ เทศบาลนครตรัง แสดงความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างถนนเส้นเลียบทางรถไฟ โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุของโครงการดังกล่าวทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้เสียหาย และจะดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยในเบื้องต้นจะมีการลงทะเบียนผู้เสียหาย ประเมินความเสียหาย และพิจารณามาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึงการชดเชยทางการเงินหรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามความจำเป็น โดยเปิดให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุรถติดยางมะตอย สามารถมาเขียนคำร้องพร้อมแนบหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย บันทึกประจำวัน ใบเสร็จค่าล้างรถ ฯ ลฯ ได้ที่อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 1 เทศบาลบาลนครตรัง ในวันเวลาราชการ (15 ต.ค.67) และยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด พร้อมเรียกผู้รับเหมาประชุมร่วมกับสำนักช่างเพื่อหาทางเยียวยาผลกระทบ
ข่าวน่าสนใจ:
วันเดียวกัน นายภูผา ทองนอก ทนายความภาคประชาชนชื่อดังจังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับสิทธิของผู้เสียหายจากกรณีที่เกิดขึ้นที่เทศบาลนครตรังทำโครงการการปรับผิวจราจรหลายเส้นทางในเขตเทศบาล ทั้งที่ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ฝนตกหนัก จนเกิดผลกระทบ ดังปรากฎเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ โดยผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมาได้ราดยางมะตอยจนส่งผลกระทบไปติดรถของประชาชนนับร้อย ๆ คันจนได้รับความเดือดร้อนต้องนำรถไปล้าง ไปขัดสี เสียค่าใช้จ่ายในหลักพันบาทถึงสองสามพันบาทต่อคัน ในแง่ข้อกฎหมายสิทธิผู้เสียหายในแง่การรับชดเชยเยียวยาจะเข้าข่ายประมาทเลินเล่อของบริษัทผู้รับเหมา ถ้าเอกชนประมาทเลินเล่อเกี่ยวกับการก่อสร้างตามหลักมาตรฐานวิชาชีพ หรือ ตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งตามมาตรฐานการก่อสร้างตามหลักวิศวกรรม การเทหรือฉีดพ่นแอสฟัลท์ติกในช่วงฤดูฝน หรือมีฝนตก จะต้องงดเว้น เพราะมาตรฐานการก่อสร้างถนน การเทแอสฟัลท์ติกจะต้องอาศัยคุณสมบัติที่มีความร้อนเพื่อประสานชั้นถนนให้ติดกันอย่างมีคุณภาพ การเทช่วงหน้าฝนหรือฝนตก ถนนจะไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ใช้งานได้ไม่นาน แต่หากยังมีการดำเนินการทั้งที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ก็จะเข้าข่ายประมาทเลินเล่อ ใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอ จากกรณีที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายแก่รถประชาชนนับร้อยๆคัน ในทางความรับผิดตามกฎหมาย เอกชนต้องรับผิดชอบในข่ายประมาทเลินเล่ออยู่แล้ว และไม่เกี่ยวกับว่ามีหรือไม่มีป้ายเตือน หรือมีใครยกป้ายเตือนออกหรือไม่ด้วยซ้ำ เพราะเจตนากฎหมาย จะดูย้อนไปถึงการปฏิบัติที่เกิดความประมาทด้วย
นายภูผา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีเอกชนเป็นผู้รับจ้าง และเป็นคู่สัญญากับเทศบาลนครตรัง ทำให้เทศบาลต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 428 ระบุไว้ว่า ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดหากเกิดความเสียหายระหว่างการรับจ้าง เว้นแต่ ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดร่วมด้วย หากการงานนั้นเป็นไปตามคำสั่งที่ตนได้สั่งการ มีคำสั่ง หรือสั่งให้ทำไว้ ซึ่งกรณีนี้มีผู้ควบคุมงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามสัญญา รวมทั้งการคัดเลือกผู้รับจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพการก่อสร้าง หากเป็นไปตามนี้ เทศบาลก็ต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมด้วย เช่น เทศบาลแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุม แต่กลับมีการปล่อยปละละเลย ไม่ได้เข้าไปควบคุมดูแลการปฏิบัติงานตามสมควร ซึ่งช่างควบคุมงานฝ่ายผู้ว่าจ้างจะต้องมีบันทึกการควบคุมงานในทุกขั้นตอน หรือหากพบว่ามีการไปสั่งให้รีบก่อสร้างทั้งที่สภาพแวดล้อมไม่อำนวย ทั้งที่สามารถให้คะแนะนำ ตรวจสอบ วางแผน คาดการณ์ล่วงหน้าได้จากพายากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ว่ามีความเหมาะสมกับสภาพอากาศหรือไม่ ช่างควบคุม หรือหน่วยงาน จะต้องร่วมรับผิดฐานประมาทเลินเล่อร่วม หรือประมาทในอำนาจหน้าที่ และร่วมกันชดเชยชดใช้ความเสียหายแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย และต่อเนื่องไปถึงหากทางเทศบาลเห็นว่าผู้รับเหมาปฏิบัติประมาทเลินเล่อไม่เป็นไปตามสัญญา ก็ต้องตั้งคณะกรรมการสอบ และอาจไปถึงขั้นต้องบอกเลิกสัญญาด้วย และหากไม่ดำเนินการตามนี้ ก็อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นายภูผากล่าวว่า ส่วนความผิดทางอาญา ต้องดูในข้อเท็จจริงในการกระทำประมาทนั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ประสงค์ต่อผล เพราะผู้รับเหมาไม่ได้ประสงค์ให้รถประชาชนเสียหาย แต่ถ้าในการปฏิบัติหรือการก่อสร้างนั้น ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าความเสียหายย่อมเกิดขึ้นแน่นอน จากที่คุณไปราดยางในขณะที่ฝนมันตก หรือสภาพอากาศ ณ ขณะนั้นมีความสุ่มเสี่ยง หรือตอนที่ลาดยางฝนไม่ตก แต่มาตกภายหลัง แต่ผู้ปฏิบัติสามารถคาดการณ์ วางแผน ประเมินก่อนทำจากพยากรณ์อากาศได้ว่า หากดำเนินการจะสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดผลกระทบความเสียหายแก่ประชาชน เช่น ราดไปแล้วฝนตก น้ำเจิ่งนอง สภาพเละ ต้องมีการกระเด็นไปสร้างความเสียหายแน่นอน ย่อมสามารถสั่งเลื่อนหรือระงับก่อนได้ แล้วค่อยผ่อนผันให้ขยายสัญญาได้โดยไม่มีค่าปรับได้ด้วยเหตุผลความจำเป็น รวมทั้งปัจจัยอื่นประกอบด้วย อาทิ ไม่มีป้ายเตือนตามมาตรฐานหลักเกณฑ์ทางหลวงชนบท ไม่ใช่แค่ป้ายกั้นที่ปากทาง แต่กำหนดถึงป้ายบอกระยะการก่อสร้าง การจัดเจ้าหน้าที่คอยเตือน ระวังป้องกัน
“เรื่องนี้ทางเทศบาลนครตรัง ควรรีบชดเชยและเรียกผู้รับจ้างมารับผิดชอบโดยด่วน ประชาชนต้องรีบแจ้งเรื่องร้องทุกข์ไปยังเทศบาลโดยนำหลักฐาน ทั้งภาพถ่าย คลิป คลิปกล้องหน้ารถ ใบเสร็จการล้างรถ รวมถึงพยานบุคคล ฯลฯ เข้าไปยื่นดำเนินการ ขณะที่พนักงานสอบสวน เมื่อมีประชาชนไปร้องทุกข์เกี่ยวกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เมื่อรับเรื่องแล้วต้องสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่า มีการกระทำในลักษณะที่มีการเล็งเห็นผลหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำเข้าข่ายเล็งเห็นผล ก็จะเข้าข่ายความผิดอาญาทำให้เสียทรัพย์ เสื่อมค่า เสื่อมราคา ไร้ราคาซึ่งทรัพย์สินนั้นด้วยอีกข้อหนึ่ง และยอมรับว่าในขั้นตอนการเยียวยาตามระเบียบราชการ มีความซับซ้อนและใช้ระยะเวลานาน หากเทศบาลต้องรับผิดชอบร่วม ก็ต้องเร่งสอบข้อเท็จจริงและชัดเจนว่าเทศบาลได้มีความผิดร่วมด้วย จึงจะสามารถเบิกจ่ายค่าเยียวยาตามระเบียบราชการได้ แล้วค่อยไปไล่เบี้ยกับผู้รับจ้างต่อ หากผู้รับจ้างไม่ยอมจ่าย ก็ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งหมดขึ้นกับความเอาจริงเอาจังของเทศบาลว่าจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนมากน้อยแค่ไหน”นายภูผาระบุ
นายภูผากล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นต้องเป็นอุทาหรณ์โครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะการปรับปรุงถนนพร้อมกันหลายสายในเวลาเดียวกันในช่วงฤดูฝน ที่ไม่เหมาะและมีความสุ่มเสี่ยงผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะเทศบาลในฐานะมีหน้าที่กำกับดูแลตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ที่ต้องกำกับดูแลการก่อสร้างนั้นว่าผู้รับจ้างมีมาตรฐานตามวิชาชีพการก่อสร้างถนนหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่มีความระมัดระวังในเรื่องการติดป้ายเตือน ป้ายบอก ป้ายสัญลักษณ์ทางลำเลียง ทางเบี่ยง เครื่องกั้น อุปกรณ์ความปลอดภัย ไฟส่องสว่าง สัญญาณไฟต่าง ๆ รวมถึงการก่อสร้างในสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม จนเกิดความเปรอะเปื้อน ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย หากไม่ดำเนินการก็เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน
“ที่สำคัญคือการทำถนนหลายสายในหน้าฝนในขณะนี้ ได้กระทบต่อการทำมาหากินของประชาชนริมทาง ตอนนี้ร้านค้าหลายร้านต้องปิด ขายไม่ได้ ได้รับความเดือดร้อน ที่สำคัญเทศบาลต้องควบคุมมาตรฐานการก่อสร้างด้วย ถ้าเทศบาลปล่อยปละละเลย ผู้รับจ้างทำงานไม่ดี เทศบาลก็ต้องรับผิดด้วย และสุดท้ายก็ต้องเอาภาษีประชาชนไปชดเชย และการทำถนนพร้อมกันหลายสายอย่างนี้ ก็ต้องดูความจำเป็นด้วยว่า ถนนมันผุผังเสียหายหรือไม่ ไม่ใช่จะทำเพื่อเอาผลงานอย่างเดียว”นายภูผา กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: