ตรัง-มหัศจรรย์พลังศรัทธา ครั้งแรกในปักษ์ใต้ มโนราห์ตรังควงฟ้อนล้านนา ร่ายรำเก็บฝ้าย “สายใยบุญ จุลกฐิน ถิ่นแดนใต้” ช่างทอเหนือใต้นับร้อย ร่วมทอผ้าไตรถวายพระวัดภูเขาทองใน 24 ชั่วโมงจนสำเร็จใน เลขมงคลลงเวลา 03.33 น.ของวันรุ่งขึ้น เชื่อรับบุญใหญ่ ไม่สามัคคี-ไม่มีธรรม-ทำไม่ได้ พุทธบริษัทแห่ร่วมบุญนับพันคน ตื่นตาตื่นใจการละเล่น-การแสดงแบบผสมผสานทางวัฒนธรรม หาชมยาก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า ระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2567 ที่วัดภูเขาทอง หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีการจัดงานบุญกฐิน ภายหลังออกพรรษาภายใต้ชื่อ “สายใยบุญ จุลกฐิน ถิ่นแดนใต้” นำโดยนางพิมพ์ชม มุกแก้วสรวัชร์ ชาวตำบลควนเมา อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ในฐานะประธานองค์กฐิน พร้อมด้วย อาจารย์นุสรา เตียงเกตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอพื้นบ้าน แม่วิภาดา จากจังหวัดลำพูน คณะช่างทอผ้าจากภาคเหนือ กว่า 80 คน จากอำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยพุทธบริษัทจากภาคเหนือ ผู้มีจิตศรัทธาชาวจังหวัดตรัง และจากทั่วประเทศนับพันคนร่วมงานบุญ ซึ่งถือเป็น “จุลกฐิน” แรกในพื้นที่ภาคใต้
สำหรับวัดภูเขาทอง เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญคู่เมืองตรัง และเป็นที่ประดิษฐานพระนอนทรงเทริดมโนราห์ พระพุทธรูปปางปรินิพพาน หรือพระพุทธไสยาสน์ สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย องค์พระมีความยาว 9 หลา ประดิษฐานอยู่ในบริเวณเพิงถ้ำ ลักษณะเด่นของพระพุทธรูป คือพระเศียรทรงเทริดมโนราห์ นับว่าเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพานองค์เดียวในประเทศไทยที่มีพระเศียรสวมเทริดมโนราห์ โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็น 1 ใน 20 โบราณสถานของจังหวัดตรัง มีพระครูภาวนาสมาธิคุณ หรือพระอาจารย์แดง พระนักพัฒนา เป็นเจ้าอาวาสวัดภูเขาทองรุ่นที่ 5 ในปัจจุบัน
สำหรับ “จุลกฐิน” หรือ “กฐินแล่น” หรือ “กฐินละเอียด” ที่หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกฐินเล็ก ตามความหมายของคำว่า “จุล”(จุน-ละ) แต่จริงๆแล้ว “จุลกฐิน” เป็นกฐินที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน แต่เต็มไปด้วยความละเอียดลออ และเต็มไปด้วยความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของชุมชน โดยต้องทำการเก็บฝ้าย ทอฝ้าย ตัดเย็บเป็นผ้าไตรจีวร 1 ชุด ให้แล้วเสร็จ ก่อนจะนำไปถวายวัดในเช้าถัดไป ภายใน 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง "โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน" บอกรักทะเลด้วยสองมือ ณ หาดฉางหลาง ทะเลตรัง ก้าวขา-พาสองมือเก็บขยะทะเล รังสรรค์งานศิลป์
- ตรัง จับแล้วมือค้อนทุบหัวฆ่าโหดพ่อค้าปลาสวยงาม กลางงานลอยกระทงกันตัง ทิ้งศพกลางงาน หลักฐานชัด จุดทิ้งมือถือ-โผล่กดเงินสดผู้ตาย
- ตรัง ร้านอาหารผวา!! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วน อ้างสั่งอาหารหรู "พระกระโดดกำแพง" หลอกร้านดังเกือบเสียเงินแสน
- "ประเสริฐ รักไทย” ประกาศชน “บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ” สู้ศึกชิงเก้าอี้ อบจ.ตรัง
เค้ามูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียว ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งในคณะสงฆ์ในวัดพระเชตวันร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวร เพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะ ผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย
“จุลกฐิน” ยังมีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ใช่ว่าพอถึงเวลาก็สามารถนำองค์กฐินไปทอดที่วัดได้ หากแต่คิดจะทำ “จุลกฐิน” ต้องมีการเตรียมตัวกันก่อนล่วงหน้ามาเป็นอย่างดีตั้งแต่การเริ่มปลูกฝ้ายกันเลยทีเดียว
โดยในวันแรก ( 25 ต.ค.67 ) ของ “สายใยบุญ จุลกฐิน ถิ่นแดนใต้” เริ่มต้นด้วยพิธีรำมโนราห์บอกกล่าวเทพยดา แม่ธรณี แม่คงคา ที่ดูแลต้นฝ้าย จากนั้นผู้ร่วมงานบุญร่วมกันเก็บฝ้ายที่แปลงปลูกฝ้ายภายในวัดภูเขาทอง รวมถึงรวมดอกฝ้ายจากสถานที่ต่าง ๆ โดยมีมโนราห์ ร่วมกับการแสดงฟ้อนของชาวไทใหญ่ หรือชาวไต เบิกนำทางเข้าสู่แปลงฝ้าย โดยทุกคนที่มาร่วมบุญ ทั้งคนแก่ เด็ก ผู้ใหญ่ ต่างช่วยกันเก็บดอกฝ้ายใส่ลงในตะกร้าที่ทำจากกระจูดอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ ก่อนจะตั้งเป็นขบวนแห่ฝ้ายไปยังโรงทอผ้า โดยมีขบวนกลองยาวจากคณะ “ศิววงษ์ นวลสุวรรณ” จากบ้านไร่พรุ ตำบลน้ำผุด นำ และการร่ายรำตลอดขบวนแห่
เมื่อนำฝ้ายไปถึงโรงทอผ้าซึ่งตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมภาคเหนือและภาคใต้ โดยเฉพาะมีการนำ “ลูกลม” อัตลักษณ์ของตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง มาร่วมตกแต่ง
จากนั้นเริ่มทำพิธีถวายฝ้ายแด่พระสงฆ์ ด้วยการอธิษฐานจิตร่วมบุญกุศล โดยแต่ละคนจะนำดอกฝ้ายที่ร่วมกันเก็บ มาแบ่งกันคนละอุ้งมือ แล้ววางลงบนผ้าขาวผืนยาว ก่อนจะช่วยกันม้วนและพับรวมกันเป็นกองใหญ่ แล้วนำถวายแด่พระสงฆ์ ก่อนที่พระสงฆ์มอบฝ้ายทั้งหมดให้ทุกคนทำการตีฝ้าย ดีดเป็นปุยให้ฝ้ายแตกตัว เพื่อเอาเมล็ดออกปั่นเป็นเส้นด้าย เปียฝ้ายออกเป็นไจ แล้วนำไปปั่นเป็นหลอดใส่กระสวย แล้วลงมือทอเป็นผืนผ้าตามขนาดที่ต้องการ เมื่อทอออกมาเป็นผืนผ้าแล้ว ก็นำไปตาก ตัดเป็นขนาดจีวร ย้อมสีธรรมชาติจาก ขมิ้น และไม้ขนุน จากนั้นตากแห้งแล้วรีดจนเสร็จ เพื่อให้เสร็จทันงานกฐินในวันรุ่งขึ้น
กี่ทอผ้าแบบโบราณทางเหนือ ผสมกับกี่ทอโบราณภาคใต้จาก “กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี” ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง หลายสิบชุด ที่ขนมาเป็นคันรถสิบล้อ รวมทั้งอุปกรณ์การทำผ้า กรอด้าย ฯลฯ ทำงานกันตลอดเวลา จนแล้วเสร็จในเวลา 03.33 น. ย่างเข้าสู่เข้าวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นเลขมงคลเลข 3 เรียงกัน โดยอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันของช่างทอผ้านับร้อยคน ที่สลับสับเปลี่ยนกันทอผ้าตลอดเวลา ไม่มีการหยุดพัด ขณะที่เหล่าพุทธบริษัท ก็ช่วยงานที่ตัวเองทำได้ ทั้งก่อไฟ ย้อมสี เย็บผ้า ฯลฯ
ในขณะที่โรงทาน บรรยากาศคึกคัก มีเลี้ยงอาหารผู้ร่วมบุญตลอดทั้งวัน ด้วยสารพัดเมนู ด้วยจิตศรัทธาของชาวตรังที่ยกครัวกันมาบริการ ทั้ง ข้าวยำ ขนมจีนน้ำยาใต้ ผัดหมี่เส้นเหลืองกลมแบบชาวตรัง ผัดไท ก๋วยจั๊บ น้ำท่ามิได้ขาด ขณะที่ภาคกลางคืนมีมหรสพ รำมโนราห์โดยคณะมโนราห์ธวัชชัย ประดิษฐ์ศิลป์
สำหรับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ถือเป็นสถานที่ที่ยังคงมีการสืบสานการทำบุญ “จุลกฐิน” ตามวิถีประเพณีดั้งเดิมอันงดงามเป็นเอกลักษณ์เอาไว้ แต่การเดินทางรอนแรมมาถึงเมืองตรังในครั้งนี้ ถือเป็นทำบุญ “จุลกฐิน” ครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้ ที่นอกจากจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนต่างวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการผสมผสานอัตลักษณ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืน โดยมีจุดเชื่อมร้อยคือศรัทธาในพระพุทธศาสนา และ เรื่องของมรดกวัฒนธรรมการทอผ้า
ย้อนไปตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษา ชาวบ้านได้เริ่มทำแปลงปลูกฝ้ายโดยกะเวลาให้ต้นฝ้ายแตกปุยขาวพอดีเมื่อถึงวันงาน โดยก่อนหน้าวันงานหนึ่งวัน เรียกว่า “วันดา” ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัด เพื่อจัดเตรียมงาน ตกแต่งแปลงฝ้าย สร้างรั้ว ซุ้มประตูทางเข้าให้สวยงาม บรรดาแม่ญิงทั้งเด็กสาวและแม่อุ๊ยก็มาช่วยกันเก็บดอกฝ้าย เพื่อนำมาปั่นเป็นด้ายสำหรับทอผ้า โดยร่วมกันทำผ้ากฐินในเต็นท์ใหญ่ที่ตั้งในบริเวณวัด เริ่มตั้งแต่การ “อีด” เอาเมล็ดฝ้ายออก แล้วนำมา “ก๋ง” หรือ “ดีด” ด้วยกงดีดฝ้ายให้แตกตัวฟูสวย จากนั้นนำปุยฝ้ายไป “ล้อ” โดยวางปุยฝ้ายเป็นแผ่นบนกระดานใช้ไม้ล้อคลึงเป็นแท่งกลมยาว “เข็น” ให้เป็นเส้นใย ด้วยอุปกรณ์คล้ายกงล้อที่ เรียกว่า หลา ปั่นหมุนฝ้ายเป็นเส้นใย จึงนำเส้นฝ้ายเข้าไม้เปียทำเป็นไจหรือปอย จากนั้นนำไปใส่กงเพื่อกวักเส้นด้ายแล้วปั่นหลอด เพื่อจัดใส่กี่ทอเป็นผืนผ้า ทุกขั้นตอนแม่หญิงเมืองแจ่ม จะช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผลัดเวียนกันไปตามกำลังที่ตนมี พอใครเหนื่อยก็มีคนมารับช่วงต่อ ทำกันตั้งแต่สายจนเกือบรุ่งสาง
กรรมวิธีเร่งรีบ จึงต้องใช้คนมาก แต่กลับมีความละเอียดในทั้งผ้าและจิตใจ ไม่สามัคคี ไม่ศรัทธา ไม่มีธรรม ทำไม่ได้
ในช่วงเย็นหลังจากอาทิตย์ลับขอบฟ้า บริเวณวัดภูเขาทองเต็มไปด้วยแสงไฟและความครึกครื้น หลายครอบครัวออกมาร่วมงานที่วัด ชมการฟ้อนรำและฟังสะล้อซอซึง รวมถึงปี่มโนราห์ ทับ โหม่ง ที่ขับกล่อมภายในงาน หนุ่มสาวพากันลอยโคม เด็ก ๆ สนุกกับการเล่น บางส่วนนั่งชมมโนราห์แสดง พุทธบริษัทบางคนเข้าวิหารร่วมพิธีสวดมนต์ บางคนร่วมกวน “ข้าวมธุปายาส” หรือ “ข้าวทิพย์” เพื่อถวายในวันรุ่ง และร่วมวงกินข้าวกันอย่างอบอุ่น
เช้าวันรุ่งขึ้น (27ต.ค.67) เสียงกลองยาวเมืองใต้นำขบวน ตามด้วยนางรำจากบ้านไร่พรุ ต่อด้วยชุดฟ้อนรำจากทางเหนือ ตามด้วยฆ้อง กลอง ฉาบ กรับ โหม่ง ดังขึ้นพร้อมลีลาการฟ้อน ตามด้วยขบวนองค์กฐิน และแม่ญิงเหนือในชุดผ้าซิ่นตีนจก ที่ผสมผสานกับบรรดาสาวใต้ที่แต่งตัวสวยงามไม่แพ้กัน ร่วมฟ้อนรำมาในขบวนแห่อย่างสนุกสนาน ผ่านแปลงฝ้ายสีเขียว เมื่อขบวนเข้าสู่บริเวณวิหาร ก็เดินแห่รอบวิหาร 3 รอบก่อนเข้าสู่ตัววิหาร เพื่อกรานกฐินและทอดผ้ากฐินต่อพระสงฆ์เป็นอันเสร็จพิธี
นางพิมพ์ชม มุกแก้วสรวัชร์ ชาวตำบลควนเมา อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ในฐานะประธานองค์กฐิน กล่าวว่า ที่นำจุลกฐินมาครั้งนี้ เป็นเพราะบุญกุศลดึงมา เพราะตนเคยไปทำจุลกฐินร่วมกับคณะที่ทำกันมาตลอดทั้งที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ปีละ 2-3 วัด ทำมาโดยตลอดทุกๆปี แต่พบว่าสำหรับภาคใต้ยังไม่เคยมีจุลกฐินเลย ทำไมไม่กลับมาทำที่บ้านเกิดของตัวเองบ้าง จึงได้เกิดความร่วมแรงร่วมใจร่วมมือกันทำ “สายใยบุญ จุลกฐิน ถิ่นแดนใต้” ที่วัดภูเขาทองในครั้งนี้ จึงขอนุโมทนาบุญกับทุก ๆ คน และการเกิดจุลกฐินครั้งแรกในภาคใต้ครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นการจุดประกายการริเริ่ม และมีการต่อยอดทางบุญกันต่อไปในอนาคต รวมทั้งเกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ตนจึงรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสกลับมาทำสิ่งดี ๆให้กับจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง
ขณะที่แม่วิภาดา จากจังหวัดลำพูน กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่หลายๆคนที่ได้เดินทางมาจากเมืองล้านนาลำพูน มายังภาคใต้จังหวัดตรังในครั้งนี้ ตนก็ได้เดินทางมาเผยแพร่หลักธรรมตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นการดำเนินตามคำสอนของครูบาศรีวิชัย และทุกคนได้ร่วมกันทำจุลกฐินเหนือ-ใต้ในครั้งนี้มาจากหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน รวมถึงอุตรดิตถ์ด้วย จึงต้องขอบคุณทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก
ด้านอาจารย์นุสรา เตียงเกตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอพื้นบ้าน ในฐานะผู้ประสานงานช่างทอจุลกฐิน กล่าวว่า จุลกฐิน ไม่ใช่แค่งานบุญ แต่เป็นงานละเอียดที่ไม่ได้อาศัยเพียงแค่ปัจจัยของเงินกฐินเท่านั้น แต่ต้องมีทั้งศรัทธา กำลังกาย กำลังใจ โดยเฉพาะการทอผ้า ซึ่งเราต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปั่นฝ้ายทำเป็นเส้นใย กรทอ การเย็บการย้อมจนเป็นผืนไตรจีวร ดังนั้นในกระบวนการทำงานต้องมีความรักสามัคคี ที่สำคัญงานนี้ถือเป็นจุลกฐินครั้งแรกของภาคใต้ ซึ่งต้องอาศัยขั้นตอนการเตรียมงานทั้งการปลูกฝ้าย มีการรวบรวมช่างทอจากหลายพื้นที่ ทั้งแหล่งทอผ้าจากแม่แจ่ม ดอยเต่า และอำเภอเมืองเชียงใหม่ รวมถึงช่างทอจากเชียงราย ลำพูน ที่มากันทั้งช่างทอรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ และความดีใจของคนคือเวลามาทำจุลกฐินได้มีเด็กรุ่นใหม่สนใจมาร่วมกันทำผ้าทอผ้า เป็นการเรียนรู้จากการได้เห็นได้ลงมือทำจริง
“การได้บุญที่สำคัญก็คือการได้ลงมือทำ เพราะบางครั้งเพียงเงินอย่างเดียว มันไม่ได้ศรัทธาที่ละเอียดพอ การจะมีศรัทธาที่ละเอียดพอเราต้องลงมือทำด้วย แล้วเราจะเข้าใจในหลายๆสิ่งที่อยู่ในพระพุทธธรรมได้เอง ดังนั้นบุญจุลกฐินไม่ได้เป็นแค่เรื่องบุญ แต่เป็นการอนุรักษ์สืบสานด้านวัฒนธรรมการทอผ้า ที่สำคัญคือทำให้เห็นว่า แม้จะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่มีเงินสักบาทก็ทำบุญได้ ช่วยปลูกฝ้าย ทำผ้า เย็บ ย้อม ลงแรงช่วยงาน ทุกคนสามารถร่วมบุญได้หมด ไม่ได้หมายความว่าเงินไม่จำเป็นต่อการทำบุญ แต่เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ เงินอย่างเดียวไม่ใช่จะสามารถบันดาลทุกอย่างได้ แต่ถ้าเราลงมือทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ สิ่งนั้นก็จะเป็นบุญ คือแก่นของศาสนา คือไม่ติดบุญ แต่เชื่อในบุญและหลักธรรมคำสอบ และบุญก็ไม่ได้อยู่ที่วัดเพียงอย่างเดียว อยู่ที่ไหนเราก็สร้างบุญได้ และก็ตั้งใจว่าจะทำเรื่องจุลกฐินนี้ไปจนกว่าตัวเองจะไร้เรี่ยวแรง เพราะเห็นแล้วว่ามันรวมศาสตร์หลาย ๆ อย่างไว้ด้วยกัน”อาจารย์นุสรา หล่าว
อาจารย์นุสรา กล่าวว่า จุลกฐินในครั้งนี้ได้เห็นสิ่งสำคัญเกิดขึ้น คือการผสมผสานและสร้างเอกลักษณ์ระหว่างวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น แต่ละภูมิภาค ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่าทุกอย่างมันผสมผสานกันได้ ในแง่การผสานทางวัฒนธรรมสำหรับการทอผ้าเหนือ-ใต้ รวมถึงการเรียนรู้ร่วมกันในหลายมิติ ทั้งการทำผ้า วัฒนธรรมอาหาร เพราะโลกวันนี้เรามีการติดต่อไร้พรมแดน เราก็ถึงกันได้ไหลหากันได้ตลอด เรื่องบุญก็เช่นกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: