ตรัง-ชาวบ้านทำพิธีดุอาร์ขอแนวทางแก้ปัญหาพะยูนตาย
ตรัง-ชาวบ้านทำพิธีดุอาร์ขอแนวทางแก้ปัญหาพะยูนตาย ล่าสุด ทะเลอันดามันพะยูนตายไปแล้วกว่า 40 ตัว ส่วนของจ.ตรังปีนี้ตายไปแล้ว 9 ตัว สภาพป่วยไม่มีหญ้าทะเลในท้อง คาดเหลือประมาณ 60-80 ตัวเท่านั้น ใกล้สูญพันธุ์ โดยชาวบ้านขอทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ปัญหาตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน และสั่งการให้กรมอุทยานฯทำงานด้วย เพราะพะยูน หญ้าทะเลอาศัยในพื้นที่อุทยานฯด้วย ที่ผ่านมานิ่งดูดายไม่ช่วยแก้ปัญหา
ที่มูลนิธิอันดามัน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง สมัชชาชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง (นูหรีเพื่อบารอกัต) ร่วมกันประกอบพิธีทำบุญและสวดดุอาร์ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า เพื่อความเป็นศิริมงคลในการขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นําศาสนา และกรรมการ สมาชิกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจ.ตรัง และผู้เข้าร่วมงานสมัชชาร่วมพิธี ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลที่เกิดจากภาวะโลกร้อนและกิจกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนเสื่อมโทรมและตายไปเกือบหมด ทำให้พะยูนขาดอาหาร เกิดการอพยพย้ายถิ่น และพะยูนตายลงติดต่อกันเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาทางเครือข่ายประมงพื้นบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการ ได้พยายามแก้ปัญหา เพื่อฟื้นฟูหญ้าทะเล และยับยั้งการตายของพะยูนแต่ยังไม่สามารถกู้คืนความสมบูรณ์ทางทะเลกลับมาได้ ทำให้ชาวบ้านต้องร่วมกันทำบุญและสวดดุอาร์ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า เพื่อขอพรต่อองค์พระอัลเลาะห์ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อขอแนวทางแก้ปัญหาให้ทะเลตรังกลับมาฟื้นตัวสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และเรียกขวัญกำลังใจในการช่วยกันอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งขอพระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองพะยูนเพราะตอนนี้จนใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว เหลือเผ่าพันธุ์อีกไม่กี่ตัว หวั่นสูญหายไปจากทะเลไทย
จากนั้นได้ร่วมกันเสวนาถึงการฟื้นฟูทะเลตรัง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทะเลตรังกลับมาอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายอะเหร็น พระคง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง นายประจวบ โมฆรัตน์ รักษาราชการแทนผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 7 (สทช.7) ผู้แทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งผู้นําศาสนา กรรมการ และสมาชิกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ทดลองล้อมคอกหญ้าทะเล เร่งหาทางออกฟื้นฟูหญ้าทะเล ภาระกิจด่วนทำแข่งกับเวลาที่เหลืออยู่กับความอยู่รอดของพะยูน
- ชาวนาเผยต้นทุนการทำนาสูงแถมข้าวยังคงราคาตกต่ำอยากให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือ
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
- เจ้าหน้าที่ตำรวจ-สาธารณสุขและฝ่ายปกครอง บุกพบหนุ่มป่วน.
นายแสวง ขุนอาจ รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กล่าวว่า ชาวประมงพื้นบ้านได้ร่วมกันประกอบพิธีดูอาร์ เพื่อขอให้ช่วยปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และขอให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพราะในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะวิกฤติอย่างรุนแรง โดยเฉพาะพะยูน ช่วงนี้ตายลงติดๆ กันนับสิบตัวแล้ว ฉะนั้นจึงอยากให้ทุกภาคส่วนหันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในเรื่องการจัดการทรัพยากร ถ้าหากเราต่างคนต่างมาโทษกัน คงไม่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นมาได้ กลับมาทบทวนเรื่องความส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรกันใหม่
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง กล่าวว่า เฉพาะปีนี้ทะเลอันดามันตรังมีพะยูนตายไปแล้วกว่า 40 ตัว ส่วนของจ.ตรังปีนี้ตายไปแล้ว 9 ตัว สภาพป่วยทั้งหมดและไม่มีหญ้าอยู่ในท้อง แต่ถ้านับตั้งแต่เกิดสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนัก พบว่า ในช่วง 4 ปีมานี้มีพะยูนตายไปกว่า 120-130 ตัว ซึ่งถือว่าวิกฤติใหญ่มาก เฉพาะจังหวัดตรังเคยมีพะยูนถึง 180 ตัว และทั้งฝั่งอันดามันเคยมีพะยูนรวมกัน 200 ตัว แต่ตอนนี้น่าเหลือประมาณ 60-80 ตัวแล้ว รวมทั้งยังพบพะยูนส่วนหนึ่งอพยพไปอยู่แถวๆ อ่าวพังงาด้วย ขณะที่สถานการณ์หญ้าทะเลส่วนใหญ่ก็ไม่ดีขึ้นเลย แต่พบว่าการทำแปลงต้นพันธุ์หญ้าทะเลในพื้นที่ทดลองได้ผล หญ้ายาวขึ้น เตรียมขยายพื้นที่ฟื้นฟูในพื้นที่เสื่อมโทรมตามจุดต่างๆต่อไป รวมทั้งเสนอให้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อเร่งแก้ปัญหานี้ตลอดทั้งแนวชายฝั่งอันดามัน นอกจากนั้นขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้กรมอุทยานฯลงมาแก้ปัญหาด้วย เพราะพะยูน หญ้าทะเลอาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯด้วย ที่ผ่านมากรมอุทยานฯไม่ทำงานเลย ทั้งๆที่มีงบประมาณจากการจัดเก็บรายได้มหาศาล แต่ไม่สนใจดูแลธรรมชาติช่วยเหลือชาวบ้านและหน่วยงานอื่นๆในการแก้ปัญหาเลย
ทางด้านนายประจวบ โมฆรัตน์ รักษาราชการแทนผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 7 (สทช.7) ผู้แทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ตอนนี้วิกฤติพะยูนและหญ้าทะเลเกิดขึ้นไปทั่วทั้งฝั่งอันดามัน จึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ร่วมกัน เช่น การตรวจสอบกระแสข่าวที่ว่ามีชิ้นส่วนของพะยูนที่ตายลงหายไปอยู่ที่ไหนและเราจะจัดการอย่างไร การหาทางแก้ปัญหาอาหารพะยูนที่ไม่เพียงพอว่า จะสามารถนำอะไรมาทดแทนหญ้าทะเลได้บ้าง ซึ่งต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการมาช่วย เพราะในปี 2566-2567 มีพะยูนตายไปถึงประมาณ 70 ตัว ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก ส่วนหญ้าทะเลก็หายไปเกิน 60% จึงต้องเร่งทำงานร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: