ตรัง สปช.ตรัง ขอบคุณ “มนพร” สั่งเดินหน้าก่อสร้างอาคารผดส.สนามบินตรังให้เสร็จในปี 68 เผยรมช.เตรียมลงพื้นที่จี้งานเอง จี้สอบต่อหลังสงสัยตรวจรับงาน 58งวด โปร่งใสหรือไม่ ก่อนเร่งเดินหน้าก่อสร้างต่อโดยเร็ว เปิดตัวผู้ทิ้งงาน “บริษัท พ.” ทุนร้อยล้าน คู่สัญญากรมทย.หลายโครงการ
ผู้สื่อข่าวรายงานที่โรงแรมโรสอินน์ ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง นายรัตน์ ภู่กลาง ประธานเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน จังหวัดตรัง(สปช.ตรัง) พร้อมด้วยนายจิรศักดิ์ ควนจันทร์ แกนนำสปช.ตรัง. เปิดแถลงกรณีนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ท่าอากาศยานตรังวงเงิน 1.2 พันล้านบาท ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการประชาชนภายในสิ้นปี 2568 เพื่อรองรับการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่นของจังหวัดตรัง ขณะที่นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ดำเนินการบอกเลิกสัญญากับบริษัทผู้รับเหมาที่ทิ้งงานก่อสร้างไปกว่า 6 เดือนแล้ว ภายหลังเครือข่ายสปช.ตรัง ได้เดินทางขึ้นกทม.เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวต่อรมช.คมนาคม รวมทั้งยื่นต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และยื่นต่อนายวัน มูฮัมหมัด นอร์มะทา ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้สั่งการเร่งรัดติดตาม ภายหลังประชาชนชาวจังหวัดตรังได้รับความเดือดร้อนจากการทิ้งงานการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ไม่แล้วเสร็จ ทำให้ขาดโอกาสด้านการท่องเที่ยว กระทบเศรษฐกิจจังหวัด อาคารเดิมคับแคบ เที่ยวบินน้อย ไม่เกิดการแข่งขันของสายการบิน ทำให้ตั๋วเครื่องบินมาจังหวัดตรังทั้งไป-กลับมีราคาแพงมายาวนาน
นายรัตน์ ภู่กลาง ประธานสปช.ตรัง กล่าวว่า สปช.ได้เดินทางไปยังกรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานให้มาช่วยผลักดันแก้ไขความเดือดร้อนของชาวตรัง ทั้ง นายกรัฐมนตรี ผ่าน รมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน (ทย.) รวมถึงประธานรัฐสภา และต้องขอบคุณรมช.คมนาคมที่ได้ประชุมในวันนั้นทันที (30 พ.ย.67) รวมถึงขอบคุณอธิบดีกรมทย.ที่ไม่นิ่งนอนใจสั่งการบอกเลิกสัญญากับเอกชนผู้ที่ทิ้งงานเพื่อให้สามารถเดินหน้าได้ต่อ กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการทิ้งงานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และเรื่องปัญหาตั๋วเครื่องบินแพงตามที่ภาคประชาชนเดินทางมาร้องถึงกระทรวงคมนาคม โดยตนได้รับการประสานจากเลขาฯรัฐมนตรีว่า รมช.คมนาคมจะมีเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- สุดภูมิใจ! ยูเนสโกจ่อขึ้นทะเบียนเมนู “ต้มยำกุ้งไทย” มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ร้านอาหารดังเมืองตรัง ดัน “กุ้งแม่น้ำตรัง“ ขึ้นโต๊ะเสริฟ…
- สูญพันธุ์แน่! พะยูนตรัง ตายเพิ่มวันเดียว 2 ตัว ผลผ่าซากพบผอมโซ อ่อนแอจนเพรียงเกาะ เครือข่ายอนุรักษ์ ชี้ เข้าภาวะวิกฤตแล้ว
- ตรัง จังหวัดตรังเแถลงข่าวเปิดเส้นทางบิน Seaplane สู่เกาะกระดาน ตรัง
- จ่อรอบสอง 5-11 ธ.ค.ยังไหวมั้ย? ทหารพราน 45 ล้างห้องเรียนในโรงเรียน
ด้านนายจิระศักดิ์ ควนจันทร์ แกนนำสปช.ตรัง. กล่าวว่า สำหรับหนังสือร้องเรียนของสปช.ตรัง เรียกร้องสรุป 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้กรมท่าอากาศยานยกเลิกสัญญา ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินตรัง วงเงิน 1.2 พันล้านบาท ทันที ภายหลังผู้รับเหมาทิ้งงานชัดเจน 2.ให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบสอบสวนการตรวจรับงานทั้ง 58 งวดงาน ว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยโปร่งใสหรือไม่ และ 3.เร่งดำเนินการก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากความคับแคบของสนามบินทำให้จังหวัดตรังมีตัวเลือกสายการบินน้อยส่งผลให้ตั๋วเครื่องบินราคาแพง ซึ่งในวันนี้ถือว่าข้อที่ 1 ได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ต้องของคุณรมช.คมนาคม รวมถึงอธิบดีกรมทย.ที่ไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะแม้จะให้โอกาสกับผู้รับเหมากลับมาทำงานตั้งแต่ 1 ต.ค.-5 พ.ย. แล้ว แต่ก็ไม่กลับมา เกิดเป็นความเสียหายอย่างมาก อย่างไรก็ตามหลังจากนี้สปช.ตรังก็ต้องติดตามต่อในข้อที่ 2 และ 3 ที่เราเรียกร้อง คือการปัญหาที่เกิดขึ้น เราเรียกร้องให้มีการสอบสวนขั้นตอนการตรวจรับงานที่ผ่านมาทั้งหมด 58 งวดงาน ว่าถูกต้องโปร่งใส่หรือไม่ด้วย เพราะกังวลว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมีอะไรซุกซ่อนอยู่มากกว่าที่เห็น ก่อนที่จะเร่งเดินหน้าก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 นอกจากนี้ขอให้เร่งงานขยายทางวิ่ง(รันเวย์) ตามที่รมช.คมนาคมเร่งรัดด้วย เพราะขณะนี้ทราบว่ามีความล่าช้าเนื่องจากติดขัดกรณีการเสนอคืนที่ดิน เพื่อให้ท่าอากาศยานนานาชาติตรังสามรถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายสปช.ตรัง เครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ตรัง ต่างระดมลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง พบปัญหาการทิ้งงานก่อสร้าง โดยมีบริษัท พ.พาน (ชื่อสมมุติ) ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นคู่สัญญา จากข้อมูลพบว่าที่ผ่านมาบริษัท พ.พาน เคยเป็นคู่สัญญากับ กรม ทย.หลายโครงการ ทั้งนี้ การทิ้งงานมายาวนานกว่า 6 เดือนเศษ มีค่าปรับวันละ 1 ล้านบาท ยอดค่าปรับรวมขณะนี้ใกล้แตะ 200 ล้านบาทแล้ว ขณะที่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก และเป็นการทิ้งงานในงวดสุดท้ายทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมส่งงวดงานและเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 98% แต่กลับมีการทิ้งงานในงวดสุดท้าย (จากทั้งหมด 58 งวดงาน) ทำให้อาคารผู้โดยสารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ฝนตกหลังคารั่วลงมาทำให้ฝ้าเพดานพัง สายไฟห้อยระโยงระยางค์ น้ำเจิ่งนองพื้นอาคาร นอกจากนี้งานปรับภูมิทัศน์ภายในอาคาร งานจัดสวน ปลูกต้นไม้ตกแต่ง พบว่าต้นไม้ต่างๆ มีสภาพแห้งเหี่ยวตายทั้งหมด ทำให้หลายหน่วยงานต่างเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งปัญหาการทิ้งงานทิ้งร้างที่เกิดขึ้น ได้ส่งกระทบต่อประชาชนที่ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินแพงกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากเที่ยวยินน้อย การแข่งขันน้อย เพราะอาคารใหม่ไม่แล้วเสร็จให้ใช้งาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: