X

ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout

ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกหนังสือคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 373/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ โดยเนื้อหาในหนังสือคำสั่งดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปการศึกษา และให้ความสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษา หรือพัฒนาศักยภาพตามความถนัดของผู้เรียน รวมถึงการส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณค่าต่อไปในอนาคต ประกอบกับในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ได้มีมติรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ

นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ หรือมีชื่อย่อว่า “คกศ.”

ในส่วนของศึกษาธิการจังหวัดตรังได้ขานรับนโยบายดังกล่าว เรียกโรงเรียนในสังกัดศึกษาธิการจังหวัดตรัง โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนทัองถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุม เพื่อสำรวจจำนวนนักเรียนที่หลุดออกระบบการศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลนักเรียนที่หลุดออกนอกระบบเป็นรายบุคคล หาสาเหตุที่ทำให้นักเรียนหลุดออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งทั้งประเทศมีนักเรียนออกนอกระบบการศึกษากว่า 1 ล้านคน และจังหวัดตรังมีจำนวน 6,553 คน

นางอรทัย เกิดภิบาล ศึกษาธิการจังหวัดตรัง กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ตรังทางศึกษาธิการจังหวัดตรังตั้งเป้าไว้ว่าจะดึงเด็กนอกระบบการศึกษาเข้ามาสู่ระบบการศึกษาให้ได้ และนำข้อมูลของเด็กเหล่านี้มาพัฒนาตามศักยภาพ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย หากมีเด็กคนไหนต้องการเพิ่มทักษะทางวิชาชีพเรามีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่คอยสนับสนุน ให้เขามีงานทำและมีรายได้ ซึ่งThailand Zero dropout ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลที่ดึงมาจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ทราบจำนวนเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งข้อมูลนักเรียนทั้งประเทศมีจำนวนกว่า 1 ล้านคน และ จังหวัดตรังมีจำนวน 6,553 คนที่อยู่นอกระบบ ซึ่งต่อไปต้องตรวจสอบว่านักเรียนจำนวนนี้อยู้ในส่วนไหนบ้าง ทั้งนี้ ศกร., สพฐ ได้ทำระบบOBEC zero dropout เพื่อรองรับฐานข้อมูลของเด็ก และเชื่อมต่อกับ Thailand Zero dropout

สำหรับจังหวัดตรังมีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาทึกช่วงอายุตั้งแต่ปฐมวัย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงอายุ 12-18 ปี ที่จบการศึกษาภาคบังคับแต่ไม่ได้เรียนต่อในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กเหล่านี้ยังมีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบตามอัธยาศัยได้ โดยเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษามีสาเหตุแตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องฐานะครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอ ต้องออกไปประกอบอาชีพ และมีบางส่วนที่ได้นับการแนะแนวไม่ถูกต้อง แต่หลังจากนี้จะใช้เครือข่ายนำเขากลับมา

นายสถาพร มุ่งเพียรมั่น คณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา (จ.ตรัง) กล่าวว่า ได้มีการนำเสนอข้อมูลเด็ก และจะทำให้เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษากลับเข้าระบบให้ได้ทั้ง 6,553 คน โดยผ่านคณะทำงาน Trang zero dropout โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาอุตสาหกรรม โรงเรียนทุกสังกัด เราได้เข้าไปอยู่ในระยะที่หนึ่งของ Thailand zero dropout และได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการมาขับเคลื่อนให้กับ สพป.ตรัง เขต 1 และ เขต 2 โดยเป็น 13 จังหวัดนำร่อง และในระยะที่ 2 อีก 25 จังหวัดในปรงบประมาณที่ผ่าน โดยนายกรัฐมนตรีได้ลงนาม MOU ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ทุกหน่วยงานต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน โดยจังหวัดตรังได้นำนักเรียนกลับเข้าระบบ และส่งต่อให้กับ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ได้มีการประเมินเด็กตามความต้องการที่เขาต้องการเรียนรู้ และเมื่อผ่านการประเมินจะสามารถออกหลักฐานการจบการศึกษาได้ สามารถนำไปทำงานมีรายได้ และนำภาษีเข้าประเทศต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน