ตรัง ทดลองล้อมคอกหญ้าทะเล เพื่อเร่งหาทางออกในการฟื้นฟูหญ้าทะเลภาระกิจเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำแข่งกับเวลาที่เหลืออยู่กับความอยู่รอดของพะยูนที่กำลังขาดอาหาร ขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้าของนักวิชาการในการทดลองค้นหาอาหารทดแทนหญ้าทะเลก็ทำกันไป
โดยที่อ่าวสิเกา บ้านแหลมไทร หมู่ 3 ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง นายไพฑูรย์ แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยผศ.พรเทพ วิรัชวงศ์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัยตรัง นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 และชาวบ้าน ลงสำรวจพื้นที่หญ้าทะเลบ้านแหลมไทร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งเดิมพะยูนเข้ามาอาศัยและกินหญ้าทะเล เพื่อดูตัวอย่างพื้นที่ฟื้นฟูหญ้าทะเล โดยวิธีการทดลองล้อมคอกขนาด 5X5 เมตร ป้องกันสัตว์เข้าไปรบกวน โดยพบว่าได้ผลในเชิงการทดลอง เนื่องจากหญ้าทะเลมีการเจริญเติบโตได้ผลดีในบริเวณพื้นที่ล้อมคอกเพียง 5 เดือน วัดความยาวได้ประมาณ 1.10 เมตร แต่ที่เห็นนี้ เนื่องจากถูกคลื่นซัดจนอวนขาด ต้องซ่อมใหม่ จึงเหลือความยาวประมาณ 1 ฟุต จากเดิมเมื่อครบ 5 เดือนวัดได้ความยาว 1 เมตร 10 เซนติเมตร ลักษณะใบเรียวยาว ความกว้างของใบกว้าง เมื่อเปรียบเทียบกับหญ้าทะเลที่อยู่นอกคอก ซึ่งพบว่ายังมีหญ้าทะเลหลงเหลืออยู่กระจายเป็นหย่อมๆ ในลักษณะโผล่พ้นดินโคลนขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ส่วนบนของใบถูกสัตว์กัดกินจนเหลือน้อย และเมื่อทดลองขุดขึ้นมาดูพบหญ้ารากเหง้าของหญ้ายังสมบูรณ์ จึงเหมาะแก่การจะขยายพื้นที่ฟื้นฟูต่อไป เพื่อเร่งหาแหล่งอาหารให้พะยูนอย่างเร่งด่วน
นายไพฑูรย์ แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล บอกว่า วิธีการฟื้นฟูแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน อย่างบริเวณนี้เป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ เป็นการทดลองล้อมคอกหญ้าทะเลที่เหลือแต่ตอ โดยชาวบ้านมองว่าถูกรบกวนโดยสัตว์ ( ในที่นี้ คือ มีเต่าทะเลรวมอยู่ด้วย) มีการล้อมคอกไปแล้ว 5-6 เดือน ใช้อวนและไม้เป็นวัสดุ ซึ่งผลพบว่าได้หญ้าคืนมา และเป็นตัวอย่างความร่วมมือของชุมชน มหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ นอกจากนั้นตนได้ดูที่เขาปลูกหญ้าทะเลและล้อมไว้ด้วย ก็ต้องดูหลายๆพื้นที่ เพื่อเร่งหาวิธีการฟื้นฟู ทั้งนี้ ของแหลมไทรพบหญ้าทะเลโผล่ขึ้นมาแต่ใบเพียงเล็กน้อย เติบโตต่อไปไม่ได้ เพราะถูกสัตว์รบกวน แต่สภาพใต้โคลนข้างล่าง เมื่อขุดมาดูยังเห็นว่าหญ้าอุดมสมบูรณ์ จึงคิดว่าจะเป็นแนวทางในการฟื้นฟูต่อไป เพื่อให้หญ้าเจริญเติบโต ดีกว่าการปลูกทดแทน โดยผลการศึกษาที่อาจารย์ได้ทดลอง บอกว่า ล้อมในเวลา 1 เดือนความยาว 50 เซนติเมตร -1 เมตร จากเดิมมีแต่ตอ สำคัฐนับจากนี้จะต้องเร่งฟื้นฟูหญ้าทะเลให้ความสมบูรณ์คืนมา ซึ่งเห็นชัดระหว่างหญ้าที่อยู่ในคอก กับหญ้าที่อยู่นอกคอก จึงเป็นแนวทางฟื้นฟูอีกวิธีหนึ่ง จะเอาไปคำนวณค่าใช้จ่าย เพื่อเร่งฟื้นฟูเพิ่มเติมต่อไป
ผศ.พรเทพ วิรัชวงศ์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัยตรัง บอกว่า บ้านแหลมไทร มีเนื้อที่หญ้าทะเลประมาณ 2,000 ไร่ แต่ตอนนี้เสื่อมโทรม ภาระกิจหลักของตนคือ หญ้าทะเล ซึ่งหมายถึงระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ของชายฝั่ง มีผลต่อชุมชนชายฝั่งมีอาชีพจับสัตว์น้ำทะเล และลดสภาวะโลกร้อน แหล่งหญ้าทะเลตรังเชื่อมโยงพื้นที่ชายฝั่งทั้งกระบี่ และ จ.สตูล โดย จ.ตรัง มีแหล่งหญ้าทะเลหลายแปลง มีสภาพลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน สภาพดิน กระแสน้ำ การใช้ประโยชน์ จึงต้องทำการทดลองออกแบบ ในแต่ละที่ที่จะฟื้นฟู มีปัญหา ต้องวิเคราะห์สภาพปัญหา แต่ที่นี่ พบปัญหาของสัตว์ที่กินจนมากเกินไป อัตราการงอกชดเชยไม่ทัน จึงเสนอวิธีการล้อมคอก เปรียบเทียบให้เห็นใช้เวลา 5 เดือน พบว่าในคอกหญ้ายาวได้ 1 เมตร 10 เซนติเมตร จึงเป็นข้อมูลที่จะสนับสนุนหน่วยงานต่างๆและชาวบ้าน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำข้อมูลไปใช้ต่อไป ทาง มทร.ตรัง มีหน้าที่ให้ข้อมูลทางวิชาการ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา จ.ตรัง เคยประสบปัญหาป่าชายเลนถูกทำลายเสื่อมโทรม เราเคยช่วยกันฟื้นฟูและทำได้ผลสำเร็จมาแล้ว หญ้าทะเลก็คงเหมือนกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: