X

วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2567 ว่า เพจ “ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง ได้โพสข้อความพร้อมภาพ ระบุ เมื่อวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ร่วมกับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้สำรวจติดตามภายใต้โครงการสำรวจและศึกษาพฤติกรรมพะยูนในพื้นที่เเหล่งหญ้าทะเลหาดหยงหลำ-เกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เเละเเนวเชื่อมต่อของพะยูน บริเวณอุทยานเเห่งชาติหาดเจ้าไหม อ.สิเกา จ.ตรัง

จากการสำรวจตลอดระยะเวลา 7 วัน เบื้องต้นพบพะยูนจากการสำรวจ 7 วัน จำนวน 1 ตัว ในการสำรวจสังเกตเห็นพฤติกรรม การหากิน การขึ้นมาหายใจ เเละการพักผ่อน นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทดลองวางแปลง โดยใช้สาหร่ายผมนาง และหญ้าด่าง จากการทดลองยังไม่พบพะยูนเข้ามาในพื้นที่การทดลองทั้งนี้จากผลการสำรวจทั้งหมด จะนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำนวนประชากรพะยูนในทะเลตรัง ซึ่งขึ้นชือว่าเป็นเมืองหลวงพะยูน ในอดีตมีมากกว่า 200 ตัว แต่ในปัจจบุนพะยูนที่เหลืออยู่ในทะเลตรัง ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงจำนวน รวมทั้งไม่ทราบแน่ชัดง่าพะยูนในทะเลอันดามันเหลือประมาณกี่ตัวแล้ว เนื่องจากอยู่ในภาวะวิกฤติหนัก เพราะขาดอาหารจนป่วยตายจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ต้องเก็บซากกันรายวัน โดยเฉพาะพะยูนในทะเลตรัง จากเดิมเคยเป็นเมืองหลวงของพะยูน เพราะมีแหล่งอาหารคือหญ้าทะเลแปลงใหญ่ประมาณ 30,000 ไร่ แต่เริ่มเสื่อมโทรมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเครือข่ายอนุรักษ์ในพื้นที่เชื่อว่าจุดเริ่มต้นจากการขุดลอกร่องน้ำของกรมเจ้าท่า แล้วนำตะกอนดินและทรายไปตักทิ้งในทะเล ห่างจากบริเวณแหลมจุโหย- อ่าวทุ่งจีน เกาะลิบง เพียงประมาณ 5 กิโลเมตร จนถูกคลื่นซัดตะกอนทรายเข้ามาทับถมแหล่งหญ้าทะเลมายาวนาน และถูกซ้ำเติมด้วยสภาวะโลกร้อน ยิ่งเป็นสิ่งเร้าให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมหนัก และยากต่อการฟื้นฟูจนถึงขณะนี้ จนพะยูนขาดอาหาร และส่วนหนึ่งอพยพไปจังหวัดใกล้เคียงและเสี่ยงอันตรายรอบด้าน ทั้งขาดอาหาร เสี่ยงติดเครื่องมือประมง เสี่ยงถูกเรือชน ถูกใบพัดเรือ โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พะยูนในฝั่งอันดามันตายแล้ว 5 ตัว แบ่งเป็น จังหวัดตรัง 3 ตัว , จังหวัดกระบี่ 2 ตัว และจังหวัดภูเก็ต 1 ตัว ซึ่งซากถูกตัดหัวออกไปจนน่าสะเทือนใจ รวมในปี 2567 ณ ขณะนี้ พะยูนในทะเลอันดามันตายแล้วถึง 36 ตัว ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แล้ว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน