X

ตรัง เกษตรกรเลี้ยง 3 สัตว์เศรษฐกิจ ปูดำ-ปูหน้าขาว-กุ้งกุลา รายได้ดีมีตลาดรองรับ ปลดหนี้ 6 ล้านได้ในเวลาปีกว่า

ไปดูตัวอย่างเกษตรกรที่ขาดทุนหนักจากอาชีพเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม จนต้องปล่อยทิ้งร้างบ่อเลี้ยงกุ้ง แต่เพียงแค่ส่วนราชการเข้ามาแนะนำอาชีพทดลองเลี้ยงปูหน้าขาวในบ่อกุ้งร้าง ผ่านไปเพียงรอบเดียว เกษตรกรต่อยอดปรับวิธีการเลี้ยงด้วยตนเอง ด้วยการเพิ่มปูดำ และกุ้งกุลาดำลงไปเลี้ยงเพิ่มในบ่อเดียวกัน ทำรายได้เพิ่ม 3 เท่า ไม่ถึง 2 ปี สามารถปลดหนี้จากการเลี้ยงกุ้งได้ 6 ล้านบาท จึงเปิดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทำการเกษตรหัวก้าวหน้า โดยหวังจะมีเกษตรกรเลี้ยงเพิ่มเพราะตลาดต้องการมาก มีไม่พอจำหน่าย

นายวรุตม์ หลงสะ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปูจังหวัดตรัง นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมบ่อเลี้ยงปูหน้าขาว จำนวน 6 บ่อ เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ที่เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดตรังได้แนะนำให้เลี้ยง เพราะมองว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ใช้เวลาเลี้ยงสั้น ปูตัวใหญ่ ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ต่อมาหลังใช้เวลาเลี้ยงปูหน้าขาวได้เพียง 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน เกษตรกรหัวก้าวหน้าจึงคิดต่อยอด จึงได้ทดลองปล่อยปูดำ และปล่อยกุ้งกุลาดำลงไปเลี้ยงเพิ่มเติมในบ่อเดียวกัน ปรากฏว่า สัตว์เศรษฐกิจทั้ง 3 ชนิด สามารถเลี้ยงได้เจริญเติบโตตามขนาดที่ต้องการ และสามารถทยอยจับขายได้ทั้ง 3 ชนิด สร้างรายได้เป็น 3 เท่าในบ่อเดียว โดยบ่อแรกที่เห็นในภาพไม่มีน้ำนี้ เป็น 1 ใน 6 บ่อ ที่เพิ่งจับปูหน้าขาว จำนวน 300 กก. และกุ้งกุลาดำ จำนวน 150 กก. ขายไปเป็นล็อตสุดท้ายสำหรับบ่อนี้ พร้อมกับพาไปชมการใช้ไซปักปู ไซพับปู เพื่อดักปู ที่ได้น้ำหนักดีจากในบ่อต่างๆ พร้อมนำส่งร้านอาหารร้านประจำเพื่อทำสารพัดเมนูที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ

 

นายวรุตม์ หลงสะ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปูจังหวัดตรัง บอกว่า ตนเองเริ่มเลี้ยงกุ้งกุลาดำ พอกุ้งขาวเข้ามาก็เลี้ยงกุ้งขาว รวมเวลาได้ 28 ปี จนกระทั่งการเลี้ยงยุ่งยากมากขึ้น ทั้งกุ้งเกิดโรค สภาพอากาศก็ไม่ดี ก๊าซ ไฟฟ้า ต้นทุนอาหาร และเคมีภัณฑ์ต่างๆราคาแพงขึ้น ขณะที่ราคากุ้งกลับสวนทางราคาตกต่ำ ทำให้ขาดทุนติดต่อกันจำนวนมาก จนต้องหยุดตัวเอง พร้อมกับเป็นหนี้สินประมาณ 7 ล้านบาท จากนั้นก็หันไปกรีดยางพารา และทำสวนปาล์มน้ำมันแทน แต่ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดตรังเข้าไปส่งเสริมให้เลี้ยงปูหน้าขาว ในบ่อกุ้งร้าง ซึ่งตอนแรกตนเองก็ไม่ได้สนใจแต่อย่างใด ปรึกษาเพื่อนบ้าน ก็บอกว่า อย่าเลี้ยงเลยเดี๋ยวก็ตายหมด แต่ทางประมงมีงบมาให้พร้อมพันธุ์ปูหน้าขาว จึงยอมทดลองเลี้ยงดูไร่ละ 1,000 ตัว 3 ไร่ก็ลง 3,000 ตัว เลี้ยงมาได้ 45 วัน  นำไซไปดักดู ปูไม่เข้าไซสักตัว ตนเองก็คิดว่าปูคงตายหมดแล้ว แต่ก็ฝืนเลี้ยงไปเรื่อย ต่อมาอีก 10 วันหรือเท่ากับ 55 วัน  ก็มาดักไซใหม่ ก็พบว่ามีปูเข้ามา 7-10 ตัว ได้ตัวละครึ่งกิโลกรัม พอเริ่มเข้า 4 เดือนก็เริ่มขายได้ ขายรอบแรกบ่อที่ 1 ได้เงิน 280,000 บาท ต่อมาจับขายทั้ง 6 บ่อ  โดยราคาถ้าเป็นปูหน้าขาวเนื้อกก.ละ 450 บาท แต่หากเป็นปูหน้าขาวไข่ กิโลกรัมละ 500 บาท ตนจึงตื่นเต้นจากนั้นเมื่อลงเลี้ยงรุ่นต่อไป จึงคิดว่าลองปล่อยปูดำและกุ้งกุลาดำลงไปเลี้ยงด้วย ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ตลาดต้องการสูงอยู่แล้ว โดยเลี้ยงแบบอิงธรรมชาติน้ำขึ้นน้ำลงเข้ามาในบ่อ ทำให้มีสัตว์น้ำชนิดอื่นๆเข้ามาอาศัยรวมกันในบ่ออีกหลายชนิด ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา มีทั้งปลากระพง ปลานิล ปลาขี้ตัง และปลาทะเลหลายชนิด ซึ่งปลาพวกนี้พอจับก็แบ่งแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ และส่วนที่เหลือนำไปทำเหยื่อเลี้ยงปู เลี้ยงกุ้งในบ่อ ทำให้สามารถประหยัดอาหารปู อาหารกุ้งได้อย่างมาก โดยอาหารที่ให้ปูจะเป็นเศษเนื้อปลาวันละ 5 กิโลกรัม  และขณะนี้มีตลาดต่างประเทศมาเลเซียมาติดต่อขอซื้อ แต่ตนเองไม่เพียงพอที่จะขายส่งให้เขา    จากเมื่อก่อนที่เคยเลี้ยงกุ้ง ต้นทุน 7แสน  เลี้ยงประมาณ 4 เดือน จนกว่าจะได้จับ แต่พอมาเลี้ยงปู แต่ว่าเต็มที่ 6 เดือน แต่แค่ 100 วันเราเริ่มจับขายได้แล้ว แล้วก็สามารถเอาลูกปูมาลงเพิ่มได้เลย จะไม่ทำให้ขาดบ่อ ซึ่งต้นทุนไม่เกิน 30,000 บาท ระยะการเลี้ยง 6 เดือน ซึ่งเราไม่ต้องไปซื้อก๊าซหุงต้มมาปั่นตีน้ำ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า แค่วัด pH ค่าน้ำอย่างเดียว ต้นทุนการเลี้ยงต่างกันมาก ความเสี่ยงแทบไม่มี    เมื่อก่อนตนเองเป็นหนี้จากการเลี้ยงกุ้ง 7 ล้านบาท ช่วงนั้นราคากุ้งไม่ดีเหลือกิโลกรัมละ 90 บาท ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงตกกก.ละ 150 บาทแล้ว ทำให้เป็นหนี้ จนต้องขายที่ดินใช้หนี้แต่ก็ยังไม่หลุดหนี้ แต่พอเปลี่ยนหันมาเลี้ยงปูหน้าขาว ปูดำ และกุ้งกุลาดำในบ่อเดียวกัน โดยราคาก็เท่ากันทั้งปูเนื้อและปูไข่ ส่วนกุ้งกุลาดำ กก.ละ 400 บาท  ประมาณเกือบ 2 ปี ทำให้จ่ายหนี้ได้จำนวน 6 ล้านกว่าบาทแล้ว แล้วตอนนี้เหลือเพียงแค่ 700,000 กว่าบาทก็จะไม่เป็นหนี้แล้ว  ทั้งนี้ การเลี้ยงปูไม่ยากเพียงแต่ต้องศึกษาและควบคุมสภาพน้ำในระยะแรกเท่านั้น หลังจากนั้นปูจะปรับสภาพได้เอง โดยปูหน้าขาว 100 วันถึง 4 เดือนก็จะได้เงิน

ส่วนปูดำรับมาจากชาวบ้านใส่บ่อไว้ประมาณ 15 วัน ก็จะได้น้ำหนักดี  ทั้งนี้ ปูไข่ พอเริ่มไข่ก็เริ่มขายได้เลยน้ำหนักจะอยู่ที่ 2 ขีดขึ้นไป ราคากก.ละ 500 บาท แต่ถ้าตัวผู้หรือปูเนื้อ น้ำหนักต้องให้ได้ 4 -5 ขีด ราคากก.ละ 450 บาท  ส่วนปูหน้าขาวโตเต็มที่จะได้ถึง 8 ขีด เคยได้รอบที่แล้วใหญ่สุด 7 ขีด ส่วนกุ้งกุลาดำเลี้ยงประมาณ 5-6 เดือนก็จับขายได้ ทำให้สามารถทำรายได้ต่อเนื่อง มีรายได้ทุกวัน    ส่วนตลาดส่งร้านค้า ร้านอาหารในอำเภอกันตังก็ไม่เพียงพอ ซึ่งจะมีลูกค้าประจำ ขณะที่ออเดอร์จากต่างประเทศ เช่น มาเลเซียยังไม่มีผลผลิตส่งให้เพราะขายในจังหวัดก็ไม่เพียงพอ  จึงคิดสร้างเครือข่ายการเลี้ยงเพื่อป้อนตลาด โดยเกษตรกรมาศึกษาการเลี้ยงจากตนเองได้ โดยขณะนี้สมาชิกเกษตรผู้เลี้ยงปู อ.กันตัง มีอยู่ประมาณ 40 รายแล้ว และเริ่มขยายไปยังอ.ย่านตาขาวและ อ.ปะเหลียน ด้วย สมาชิกส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ที่เคยเลี้ยงกุ้งมาก่อน สำหรับผู้เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมตอนนี้ตลาดไม่ดีเลย ราคาตก หากเกษตรกรท่านใดสนใจที่จะมาเรียนรู้หรือสนใจสามารถติดต่อได้ที่ 0650464925 หรือติดต่อประมงชายฝั่งอำเภอสิเกา อำเภอกันตังและประมงจังหวัดตรัง

ทั้งนี้ นายวรุตม์ ได้นำปูที่จับจากบ่อไปจัดส่งที่ร้านอาหาร  “ ครัวใหญ่เชยซีฟู๊ด” อ.กันตัง ซึ่งเป็นลูกค้าประจำสั่งซื้อปู ทั้งปูเนื้อ ปูไข่ และกุ้งกุลาดำจากเกษตรกรสดๆจากบ่อทุกวัน   เพื่อไว้รองรับลูกค้าที่มีจำนวนมาก โดยเมนูเด่นจากปู เช่น เมนูหลนปูไข่  แกงส้มปูไข่หน่อไม้ดอง แกงกะทิปูไข่ ปูไข่ผัดผงกะหรี่ และปูไข่นึ่ง เป็นต้น ส่วนกุ้งกุลาดำก็ตัวใหญ่ สามารถทำได้หลายเมนูที่ทุกคนชื่นชอบ

นางวัลคุ์วดี ผลิผล เจ้าของร้าน บอกว่า ร้านครัวใหญ่เชยซีฟู๊ด จะเน้นซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรที่เลี้ยงปู กุ้งโดยตรง  และต้องเลี้ยงแบบธรรมชาติ รวมทั้งจากชาวประมง ไม่มีสารเคมี โดยจะคัดพิเศษ เน้นปูเนื้อแน่นๆ ไข่แน่นๆ ใช้ปูไข่ไซส์ใหญ่ จะใช้ทั้งปูดำและปูหน้าขาว ซึ่งทางร้านจะรับซื้อไม่อั้น และต้องการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ และจะได้ปู กุ้ง สดจากธรรมชาติ จึงทำให้ลูกค้าติดใจในรสชาติ โดยลักษณะเด่นของปูหน้าขาว เนื้อจะมีความนิ่มและเนื้อแน่น มีรสชาติหวาน แต่เปลือกจะนิ่มกว่าปูดำ เมนูหลักๆ ที่ลูกค้านิยมชื่นชอบก็จะเป็นเมนูหลนปูไข่ แกงส้มปูไข่หน่อไม้ดอง ปูไข่ผัดผงกะหรี่ และปูไข่นึ่ง จะส่วนของราคาเริ่มต้น จานละ 180 บาทขึ้นไป หรือขึ้นอยู่กับขนาดคนทาน  ส่วนกุ้งกุลาดำก็สามารถทำได้หลายเมนูเช่นกัน ล้วนแต่เป็นเมนูที่ลูกค้าชื่นชอบ ซึ่งข้อดีคือ เรามีวัตถุดิบคุณภาพจากเกษตรกรป้อนร้านโดยตรง ไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ ร้านก็มีวัตถุดิบ ขณะที่เกษตรกรก็มีตลาดรองรับไม่อั้นอยู่แล้ว รวมทั้งเมนูอาหารทะเลอื่นๆสดๆจากทะเล  หากลูกค้าสนใจสามารถโทรสั่งจองติดตามทางเพจ ใหญ่เชยซีฟู้ดได้เลย  และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ชาวประมงโดยตรง

 

 

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน