X

ชวน” คลี่ปมขัดแย้งแก้พ.ร.บ.กลาโหม นักการเมือง-ทหาร ไม่ไวใจกันเอง สลับกันแก้หวังกระชับอำนาจ อ้างตัดไฟรปห.แค่ปลายเหตุ ต้นเหตุเพราะนักการเมืองโกง!

ตรัง-“ชวน” คลี่ปมขัดแย้งแก้พ.ร.บ.กลาโหม เพราะนักการเมือง-ทหาร ไม่ไว้ใจกันเองมาตลอด สลับกันแก้หวังกระชับอำนาจตัวเอง อ้างตัดไฟรัฐประหารแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุเพราะนักการเมืองโกง! แต่บางครั้งทหารก็เอาแต่พวกพ้อง ไม่สนคนมีความสามารถ โว “พล.อ.สุรยุทธ์” ได้เป็นผบ.ทบ.เพราะนักการเมือง ชื่อ “ชวน หลีกภัย” กล้าตั้งคนมือสะอาด ข้ามห้วยนอกไลน์ 5 เสือกองทัพบก

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่บ้านวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์กรณีส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ… ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยขณะนี้เว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีเนื้อหาเปิดให้ฝ่ายการเมืองโดยรัฐบาลสามารถมีส่วนในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารได้ จนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจส่งผลให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคตได้ ว่า เดิมทีเดียวมีพ.ร.บ.บริหารราชการกระทรวงกลาโหมปี 2503 เมื่อสมัยตนเข้าไปเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งก็ใช้กฎหมายฉบับนั้นแต่ไม่ได้กำหนดว่าการแต่งตั้งทหารขึ้นมาเป็นนายพล จะต้องประกอบด้วยใครบ้าง แต่เป็นการบริหารทั่วไป จนกระทั่งมีการยึดอำนาจโดยพล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน อดีตผบ.ทบ. แล้วต่อมาก็มีรัฐบาลใหม่คือรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาแก้พ.ร.บ.บริหารราชการกระทรวงกลาโหมในปี 2551 โดยมากำหนดเงื่อนไขว่าการแต่งตั้งนายพลจะต้องผ่านการพิจารณาของกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีกลาโหมเป็นประธาน แล้วมีการตั้งตัวแทนเหล่าทัพ ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. รวมทั้งรองผบ.ต่างๆ รวมถึงปลัดกระทรวงเป็นเลขานุการ ซึ่งแต่เดิมไม่มี ทั้งนี้เพื่อป้องกันนักการเมืองไม่ให้เข้ามาในกลุ่มกรรมการ

.

นายชวนกล่าวอีกว่า มาจนปัจจุบัน ได้มีการเพิ่มบทบัญญัติบางมาตราที่ป้องกันการยึดอำนาจปฏิวัติขึ้นมา ฉะนั้นปัญหาคือว่าการที่นักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง มันจะเป็นเรื่องผิดพลาดทั้งหมดจริงหรือไม่ ดังนั้นต้องถามต่อว่าแล้วพล.อ.สุรยุทธ์ ได้เป็นผบ.ทบ.เพราะใคร ก็เพราะนักการเมืองซึ่งก็คือตนในยุคที่ตนเป็นรมว.กลาโหม ถ้าไม่ใช่ตนคิดว่าไม่ได้เป็น เพราะตนเอาทหารที่เชื่อถือได้ในความสามารถมาเป็นผบ.ทบ. มีความซื่อสัตย์สุจริตในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ประเทศไทยเกิดวิกฤต ตนเข้าไปเป็นนายกฯครั้งที่ 2 ในปี 2540 แล้วผู้นำทหารในยุคนั้นเสนอนายทหารระดับพลเอกคนหนึ่ง เข้ามามาเป็นผบ.ทบ. แต่ตนดูแล้วเห็นว่าคนที่เหมาะสมในสถานการณ์นั้น ส่วนพล.อ.สุรยุทธ์ แม้วันนั้นพล.อ.สุรยุทธ์เคยเป็น 5 เสือแล้วถูกออกไปจากตำแหน่งเดิม แล้วไปเป็นตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวกับ 5 เสือแล้ว แต่คำตอบก็คือไม่มีอะไรห้าม ตนก็เลยเลือกพล.อ.สุรยุทธ์ มาเป็นผบ.ทบ. แต่เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งในการทำงานร่วมกัน ตนก็เลยเชิญพล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร มาพบ แล้วก็บอกท่านว่า คนที่ท่านเสนอมาตนให้เปลี่ยนเป็นพล.อ.สุรยุทธ์ ถ้าไม่เปลี่ยนในฐานะที่ตัวเองเป็นรมว.กลาโหม ก็จะเปลี่ยนโดยให้เหตุผลว่าเรากำลังมีวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่กำลังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ต้องการทหารที่มือสะอาด คนที่ท่านเสนอนั้นเป็นคนดี ไม่มีปัญหา แต่ว่าคนที่เหมาะสมกว่าก็คือพล.อ.สุรยทธ์ ดีว่าพล.อ.เชษฐา ก็เข้าใจ และปฏิบัติตามที่ตนแนะนำ แล้วตนก็เชิญทหารที่ท่านแต่งตั้งมาพบ แล้วก็เล่าให้ฟังว่า ท่านต้องไปขอบคุณพล.อ.เชษฐา ที่เสนอท่านมาแต่ตนเปลี่ยนให้ไปเปลี่ยนใหม่เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมเอาไหม

.

นายชวนกล่าวต่อว่า ในที่สุด ในฐานผู้ใหญ่ท่านนั้นท่านก็ตกใจ ตอนนี้ไม่มีอะไรอ้อมค้อม ตรงไปตรงมา ท่านก็บอกว่าท่านขออยู่ที่เดิมเป็นรองผบ.ทบ. ก็เลยตั้งพล.อ.สุรยุทธ์ ท่านเลยได้เป็นผบ.ทบ.เพราะนักการเมือง ฉะนั้นการที่กฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดว่าห้ามนักการเมือง ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ตัวบุคคล แต่การที่พล.อ.สุรยุทธ์ มาเปลี่ยนกฎหมายตอนที่ท่านเป็นนายกฯหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะการแต่งตั้งในสมัยท่านเสนอไปรัฐบาลสมัยนั้นคือนายทักษิณ ชินวัตร เขาเปลี่ยนเขาแก้ง่ายง่าย และสิ่งที่พล.อ.สุรยุทธ์จุลานนท์เสนอไปนั้นเขาไม่เอา เขาขอแก้ไข แต่นั่นก็เป็นสิทธิ์ถ้าไม่เหมาะสม อีกตัวอย่างหนึ่งคือสมัยนายทักษิณเป็นนายกฯ ย้ายแม่ทัพภาคที่ 4 รอบ 4-5 เดือน/ครั้ง ทหารก็เลยต้องมาแก้ไขกฎหมาย และบัดนี้กลุ่มนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ก็จะแก้กลับไปที่เดิม แต่ก็ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาในสภาฯ

“ดังนั้นส่วนหนึ่งสำคัญที่สุดคือตัวคน แล้วทำไมพล.อ.สุรยุทธ์ถึงได้เป็นผบ.ทบ. ก็เพราะนักการเมืองที่เป็นรมว.กลาโหมเห็นคุณค่าของพล.อ.สุรยุทธ์ ถ้าไม่ใช่ผม พล.อ.สุรยุทธ์ก็คงไม่ได้เป็นผบ.ทบ. ท่านได้เป็นเพราะนักการเมือง คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่า ส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวบุคคล ตัวบุคคลจึงสำคัญ และในขณะที่ไปออกระเบียบห้ามนั้น แล้วทหารจะแน่ใจหรือว่าทหารทุกคนดีหมด เพราะทหารก็คือคนเหมือนกันกับนักการเมือง ถ้าทหารดีก็ดีไป ถ้าทหารไม่ดีก็เอาแต่พรรคพวกตัวเอง เอารุ่นตัวเอง ไม่สนใจความสามารถคนอื่น อันนี้คือสิ่งที่สำคัญ เพราะเราไม่มีรุ่น สายตาเราเป็นกลางได้ แต่ทหารจะมีรุ่น บางทีก็เอารุ่นเอาพวกเดียวกัน บางทีก็มองข้ามความสามารถไป แต่ก็มีที่ทหารบางครั้งก็เลือกคนดีเข้ามา เพราะไม่อยากเลือกคนที่มีปัญหาเข้ามาซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของบ้านเมือง ฉะนั้น ทั้งหมดนี้นอกจากเนื้อจากกติกาที่กำหนดแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงคนด้วย”นายชวนกล่าว

 

นายชวนกล่าวว่า สำหรับแรงต้านและข้อกังวลในขณะนี้ ก็เพราะมีการเขียนข้อความเรื่องการปฏิวัติยึดอำนาจเข้าไปด้วย ซึ่งคนทั่วไปอ่านอ่านกฎหมายแล้วก็รู้สึกว่า คงจะไม่เป็นผลที่สามารถปฏิบัติได้ เพราะใครจะรัฐประหาร ก็ใช้อำนาจก็ยกเลิกกฎหมายได้อยู่แล้ว จริงๆแล้วเราต้องรู้ว่าแต่ละครั้งที่มีการยืดอำนาจ ถ้าเป็นยุคสมัยก่อนตั้งแต่สมัยตนเป็นส.ส.ครั้งแรกเมื่อ 55 ปีที่แล้ว มีการอำนาจโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ครั้งนั้นเป็นการยืดอำนาจโดยท่านการรำคาญผู้แทนของตัวเอง ท่านเลี้ยงผู้แทนโดยเอางบประมาณแผ่นดินไปแจกให้พรรคการเมืองของท่าน คนของท่าน คนละ 3 แสนกว่าบาท ตนก็เป็นคนที่ต่อต้านคัดค้านในสมัยนั้น ตนเป็นฝ่ายค้านบอกว่า ผิด ไม่ถูกต้อง ในที่สุดจอมพลถนอมก็เลยต้องยึดอำนาจ เพราะว่า 2 ปีต่อมาส.ส.ของท่าน ไม่ขอ 3 แสนบาทแล้ว เขาขอ 1 ล้านบาท รัฐบาลก็ไม่ยอม ก็เลยทะเลาะกันระหว่างรัฐบาลกับส.ส. จอมพลถนอมก็เลยตัดความรำคาญ จึงยึดอำนาจ ยึดอำนาจสมัยนั้นทำง่ายง่าย แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้หรอก ตอนหลังจึงเป็นเรื่องของการคอร์รัปชั่น เช่นคำว่า บุฟเฟ่ต์คาบิเนตครม. ที่ทุจริตโกงกินแบบบุฟเฟ่ต์ ก็กลายเป็นเงื่อนไขของการปฏิวัติ และตอนที่พล.อ.สนธิ ยึดอำนาจ ก็มีเหตุผลคือ 1.ทุจริตโกงกิน 2.มีความแตกแยกสามัคคีในชาติ 3.แทรกแซงองค์กรอิสระ และ4.มีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 3 ข้อนี้เป็นเหตุผลที่เป็นของจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ดังนั้นในการยึดอำนาจ คนส่วนใหญ่ก็จะเออออ ไม่ค่อยมีใครที่จะต่อต้านคัดค้าน ยกเว้นคนที่ถูกยึดอำนาจ เพราะว่ามีพฤติกรรมบางอย่าง เพราะอยู่ดีๆ จะยึดอำนาจคนไม่ยอม ประเด็นสำคัญคือ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเห็นว่า พฤติกรรมของนักการเมืองเองก็เป็นส่วนสำคัญ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน