X

ตรัง “โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน” บอกรักทะเลด้วยสองมือ ณ หาดฉางหลาง ทะเลตรัง ก้าวขา-พาสองมือเก็บขยะทะเล รังสรรค์งานศิลป์

ตรัง-โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน รวมพลบอกรักทะเลด้วยสองมือ ที่หาดฉางหลาง ทะเลตรัง ประชาชนจับมืออุทยานฯเจ้าไหม-กรมทช.-ออฟโรด-ศิลปิน-ท้องถิ่น-ภาคีอนุรักษ์ ก้าวขา-พาสองมือเก็บขยะทะเล รังสรรค์งานศิลป์ TRASH HERO แนะสร้างจิตสำนึกลด-คัดแยกขยะ ชี้ภัยร้าย ไมโครพลาสติก-สารเคมีจากขยะ ต่อปะการังและสัตว์ทะเล สุดท้ายกลับสู่ร่างกายคน

เมื่อเร็วๆนี้ ที่บริเวณหาดฉางหลาง ภายในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เครือข่ายภาคประชาชน นำโดยกลุ่มบูมเมอแรงออฟโรด ร่วมกับ มูลนิธิอันดามัน อาสาสมัครกลุ่ม TRASH HERO TRANG อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กลุ่มอสม.ตำบลไม้ฝาด ภาคประชาชน เอกชน ท้องถิ่น กลุ่มดำน้ำเก็บขยะทะเล และ ภาคีจิตอาสาอนุรักษ์ ร่วมจัดกิจกรรม “โลกเปลี่ยน..เราไม่เปลี่ยน Nature Change but We don’t. ร่วมกิจกรรมเก็บขยะทะเล ทั้งพื้นที่ริมหาด และออกเรือดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเลตรัง เพื่อนำลดปริมาณขยะทะเลที่ส่งผลต่อกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ส่งผลต่อปะการังและสัตว์ทะเลหายาก ส่งเสริมการอนุรักษ์พะยูน ลดผลกระทบจากขยะทะเลในระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ยังนำขยะที่เก็บได้ มาแนะแนวให้องค์ความรู้ด้านการคัดแยกอย่างถูกวิธี เพื่อบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี ก่อนจะนำมาให้เหล่าศิลปินรังสรรค์เป็นงานศิลปะ ‘Installation Art’ หรือ การแสดงงานศิลปะจัดวาง จากขยะทะเล โดยกลุ่มศิลปินชาวตรัง จัดแสดงบริเวณหาดฉางหลาง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เมื่อวันเสาร์วันที่ 21ธ.ค.67 เพื่อใช้ขยะทะเลสร้างงานศิลปะสื่อสารแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน รวมถึงประชาชนทั่วไปสนใจเข้าชมงานจำนวนมาก

สำหรับ โครงการ “โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน” เป็นกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านการร่วมกันทำกิจกรรมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ด้วยจิตสาธารณะ เพื่อสื่อสารจากภาคประชาชน ว่า แม้โลกเปลี่ยนไป..แต่จิตสาธารณะของจากภาคประชาชนจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนและปกป้องรักษาทะเลอันดามันได้

ทั้งนี้ กิจกรรม โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน จัดขึ้นโดยภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดตรัง ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายการท่องเที่ยว และ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อแสดงความใส่ใจในสนธิสัญญาพลาสติก และ โครงการ MOU ปากเมง ลดปัญหาการทิ้งขยะพลาสติกในทะเลจังหวัดตรัง ภายใต้ตรังยั่งยืน อีกทั้งยังมีจุดประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์พะยูน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการตายที่เพิ่มขึ้นในปีนี้(2567) กิจกรรมจัดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2567 โดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การเก็บขยะทะเล การสร้างสรรค์ศิลปะจากขยะทะเล การดำน้ำเก็บขยะ กิจกรรมดนตรีที่ใช้ขยะทะเลเป็นเครื่องดนตรี รวมถึงการให้ความสำคัญกับการร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

นายวินัย ชูเสียงแจ้ว กำนันตำบลไม้ฝาด กล่าวว่า ในฐานะกำนันตำบลไม้ฝาด ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายและพี่น้องประชาชน ที่มาช่วยกันเก็บขยะและร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งโครงการโลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน เป็นโครงการที่ดี และตนขอฝากไปยังนักท่องเที่ยวให้ท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม เมื่อมาเที่ยวแล้วก็ขอให้ทิ้งขยะให้ถูกที่ หรือนำขยะกลับไปด้วย ซึ่งบริเวณชายหาดฉางหลาง ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลความสะอาด หากทุกคนมาเที่ยวแล้วทิ้งขยะกันคนละนิดคนละหน่อย หลายๆคนรวมกันก็เป็นขยะจำนวนมาก เมื่อมีขยะความสวยงามน่ามองของทะเลก็ลดลง หากทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน ทรัพยากรธรรมชาติของไทยก็จะยั่งยืน

ด้านนายธนิตศักดิ์ ธนาศักดิ์กุลศิริ กลุ่มสตูล28Dive ผู้ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า เราเป็นทีมเก็บขยะใต้น้ำ แต่เมื่อมีโครงการเราก็จะทำงานร่วมกันหมด สำหรับกิจกรรมโลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน เมื่อทราบจากพันธมิตรในพื้นที่จังหวัดตรังว่าจะมีกิจกรรมเก็บขยะ ก็ตอบรับมาร่วมเลย และต่อไปเราเห็นสภาพปัญหาและการต่อยอดแก้ปัญหาของที่ตรังแล้ว ต่อไปเราจะนำไปปรับใช้กับจังหวัดสตูล ด้วยการถอดบทเรียนเรื่องขยะ การคัดแยกขยะ หากให้พูดถึงขยะนั่นหมายถึงความฟุ่มเฟือย เช่น เราซื้อแกงหนึ่งถุงเรามีพลาสติกที่เป็นขยะทั้งถุงแกง ถุงก๊อบแก๊ป มีหนังยาง ทุกอย่างเมื่อไปถึงบ้านก็กลายเป็นขยะ หากเราแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน ขยะก็ไม่มาเพ่นพ่านในพื้นที่สาธารณะ

“และอีกอยางหนึ่งที่ทำให้ขยะมีมากขึ้น เป็นเพราะคนขาดจิตสำนึก แต่ดีใจและต้องขอบคุณทีมอาสาสมัครต่างๆที่ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านมากวาดและจัดเก็บให้สะอาดเรียบร้อย ผมขอฝากให้ทุกคนมีจิตสำนึกที่ดี เริ่มจากบ้านและสังคมที่เราอยู่ ในที่สุดประเทศเราก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ”ผู้แทนกลุ่มสตูล28Dive ระบุ

ขณะที่นายกฤษกร ฤทธากรณ์ อายุ 17 ปี นักเรียนจากโรงเรียนวังวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง และ นางสาว พิชญ์สินี เซ่งง่าย อายุ 17 นักเรียนจากโรงเรียนเดียวกัน กล่าวว่า มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เพราะเห็นจากเฟสบุ๊ค ก็ตัดสินใจกับเพื่อนขับมอเตอร์ไซค์มาเลยจากอำเภอวังวิเศษ เพราะปกติพวกเราสนใจและทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และทำกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนผ่านสภานักเรียน และโดยส่วนตัวก็เลี้ยงเต่า ทำให้เข้าใจว่าขยะพลาสติกเป็นอันตรายต่อสัตว์ต่างๆที่กินไปโดยไม่รู้เรื่องอย่างไร ก็ต้องขอฝากว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างขยะ ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ทำให้สัตว์ทะเลที่เขาไม่รู้เรื่องอะไรต้องมารับเคราะห์ และขยะยังเป็นตัวทำลายระบบนิเวศน์ในทะเล ก็ขอให้มาช่วยกันลดขยะในส่วนนี้

ด้านนายเดชา รักสุวรรณ แกนนำอาสากลุ่ม TRASH HERO TRANG กล่าวว่า สำหรับหลักการแยกขยะอย่างง่ายๆคือขยะไหนที่ไม่สามารถขายให้ร้านรับซื้อของเก่าได้ ร้านรับซื้อของเก่าไม่รับซื้อ หมายความว่าขยะนั้นไม่มีมูลค่า ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ สำหรับการเก็บขยะชายหาดหลักการทั่วก็คือเก็บไปเรื่อยๆ เจอขยะตรงไหนก็เก็บตรงนั้น โดยขยะทะเลจะมีรูปแบบเฉพาะคือช่วงที่มีพายุเข้าขยะก็โดนพัดเข้ามาจะกองรวมกัน สำหรับพื้นที่ทะเลตรัง เช่น หาดปากเมง หาดฉางหลาง ส่วนใหญ่เป็นขยะที่มาจากคนทิ้ง คือ ขยะบก และ ไหลมาจากแม่น้ำลำคลองลงสู่ทะเล แต่เมื่อเข้าหน้ามรสุมขยะพวกนี้ก็จะโดนพัดขึ้นฝั่งวนเวียนอยู่อย่างนี้ ขอฝากสำหรับนักท่องเที่ยวที่เตรียมอาหารมากินชายทะเลด้วยว่า ก่อนออกจากบ้าน ก็ต้องเตรียมภาชนะมาใส่อาหาร เตรียมขวดน้ำส่วนตัวมา และไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้า

“เพราะขยะที่อยู่ตามชายหาดนอกจากจะทำให้ตามชายหาดไม่สวยงามแล้ว ยังไปทำลายระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งทะเลเป็นแหล่งอาหารของโลกกว่า 50% และขยะได้ไปทำลายแหล่งปะการังด้วย เพราะขยะบางชนิดมีสารเคมีปนเปื้อน ทำให้น้ำเสียและปะการังฟอกขาว ที่อยู่ของสัตว์น้ำก็ลดน้อยถอยลง สัตว์ทะเลหายากก็กินพลาสติก และไมโครพลาสติก คือมีขนาดที่เล็กมากๆ ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตสัตว์ จึงพบว่าอาหารทะเล 100% ที่วางขายในตลาด มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกอยู่ด้วย เพราะสัตว์ทะเลเหล่านั้นได้กินไมโครพลาสติกเข้าไป สุดท้ายก็กลับสู่ร่างกายคน”นายเดชากล่าวทิ้งท้าย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน