แกนนำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ รวมทั้งตัวแทนพนักงานการยาง และสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) รวมประมาณ 150 คน ได้ย้ายสถานที่จัดประชุมระดมความคิดเห็นคัดค้านการให้เอกชนจัดเก็บเงินเซส
วันที่ 14 มีนาคม 2561 ที่ชุมนุมสหกรณ์ยางจังหวัดตรัง ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.ตรัง แกนนำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ รวมทั้งตัวแทนพนักงานการยาง และสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) รวมประมาณ 150 คน ได้ย้ายสถานที่จัดประชุมระดมความคิดเห็นคัดค้านการให้เอกชนจัดเก็บเงินเซส จากสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดตรัง ไปที่ชุมนุมสหกรณ์ยางจังหวัดตรัง หลังถูกเจ้าหน้าที่หน่วยมั่นคงร้องขอให้ออกจากพื้นที่ กยท. ตามที่นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยได้สั่งการด้วยวาจามายังผู้บริหาร กยท.ตรัง ห้ามไม่ให้เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ใช้พื้นที่ในการเคลื่อนไหวคัดค้านผู้ว่าฯและประธานบอร์ด กยท. ที่จะให้เอกชนจัดเก็บเงินเซส ซึ่งตลอดทั้งวันมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนอกเครื่องแบบทั้ง ทหาร ตำรวจ ตชด. ตำรวจสันติบาล ตำรวจพื้นที่ ฝ่ายปกครองร่วมสังเกตการณ์เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนพนักงานการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง ร่วมแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ดดังกล่าว และพร้อมจะเดินหน้าเคลื่อนไหวร่วมกับชาวสวนยางทุกกลุ่ม
โดยมติที่ประชุมออกมาทั้งหมด 4 ข้อ คือ 1. ให้การยางแห่งประเทศไทย ยกเลิกการประกวดราคาจัดหาผู้รับจ้างบริหารการจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกยาง(Cess) และขอบเขตงาน (TOR)โครงการบริหารการจัดเก็บค่าธรรมเนียม การส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร(Cess) โดยทันที 2. ให้การยางแห่งประเทศไทย ตั้งคณะกรรมการทำงานการจัดเก็บเงินเซสขึ้นมา 1 ชุด โดยมีตัวแทนจากทุกฝ่าย ทั้ง กยท., สร.กยท. และตัวแทนเกษตรกรร่วมเป็นกรรมการ 3. วันที่ 21มีนาคมนี้ หากการยางแห่งประเทศไทย ยังยืนยันที่จะเดินหน้าให้เอกชนจัดเก็บเงินเซสต่อไป เตรียมจะยกระดับการคัดค้านต่อไป และ 4. เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริหารและพนักงาน เจ้าหน้าที่ของ กยท.ตรังล่วงหน้า หากผู้บริหารการยางจะลงโทษผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง และพนักงาน กยท.เหตุเพราะเครือข่ายจะเข้าไปใช้ห้องประชุม กยท.ตรังจัดประชุมในตอนต้น แต่ถูกผู้ว่าฯกยท.สั่งห้ามด้วยวาจาไม่ให้มีการใช้ห้องประชุม เกรงจะผู้บริหาร กยท.จะกลั่นแกล้งผอ.กยท. และพนักงาน กยท.ตรัง
ทั้งนี้ ในที่ประชุมระดมความคิดเห็นแกนนำเครือข่ายจะพูดโจมตีการทำงานของผู้ว่าฯและบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย ถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำตลอดระยะของการดำรงตำแหน่งผู้บริหารการยางฯ ทั้งความล้มเหลวของบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย ที่ กยท.จับมือกับ 5 เสือการยาง ลงทุน 1,200 ล้านบาท ตั้งบริษัทเข้าประมูลยางในตลาดกลางยางพารา แต่มองว่าเป็นการทำลายระบบกลไกของตลาดกลาง , ความล้มเหลวของโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 180,000 ตัน เริ่มตั้งแต่เดือน 1 มค. – 31 ธค.61 แต่ขณะนี้รับซื้อไปได้เพียงจำนวน 3,900 ตันเท่านั้น และต้องหยุดโครงการจนถึงขณะนี้ และการประกาศTOR ให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้จัดเก็บเงินธรรมเนียมค่าส่งออกยางพารานอกราชอาณาจักร (CESS) ระยะเวลาจัดเก็บ 5 ปี โดยให้เอกชนจำนวน 5% ของจำนวนเงินที่จัดเก็บได้ หรือปีละ 400 ล้านบาท รวมประมาณ 2,000 ล้านบาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: