X

ตรัง พบซากอิฐโบราณ บริเวณคลองระบายน้ำริมทุ่งนา คาดเคยเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แห่งลุ่มน้ำคลองนางน้อย

พบซากอิฐโบราณ บริเวณคลองระบายน้ำริมทุ่งนา ในพื้นที่ลุ่มน้ำนางน้อย อำเภอเมืองตรัง

วันที่  3 เมษายน 2561 พระสมุห์สุรศักดิ์   หรือฉายาสุรสัก โก เจ้าอาวาสวัดหัวถนน หมู่ที่ 6 ต.นาพละ อ.เมือง จ.ตรัง  พร้อมด้วยนายปรีชา  เดชเหมือน อายุ 63 ปี อดีตกำนัน ต.นาพละ นำผู้สื่อข่าวเดินทางไปกลางทุ่งนา เส้นทางคลองระบายน้ำ ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำคู่ขนานกับคลองชลประทานที่ตัดผ่านพื้นที่ เพื่อผันน้ำให้ประชาชนชาวตำบลนาพละได้ใช้สำหรับการทำนา เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์  หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านที่ลงไปสูบน้ำในคลองระบายน้ำดังกล่าว เพื่อจับปลาในหน้าแล้งว่า พบซากอิฐโบราณที่ทำจากดินเหนียวถูกจัดวางซ้อนกันเป็นชั้นๆ เหมือนลักษณะสิ่งปลูกสร้างโดยฝีมือมนุษย์อยู่ลึกใต้พื้นดินลงไปประมาณ 1 เมตร ริมตลิ่งคลองระบายน้ำทั้ง 2 ด้าน ระยะทางยาวประมาณ 20  เมตร ในสภาพถูกรถแบ็คโฮขุดทำคลองระบายน้ำผ่าน เผยให้เห็นอิฐโบราณที่ยังคงอยู่ในลักษณะถูกจัดซ้อนกันอย่างแข็งแรง แน่นหนา แม้จะจมอยู่ใต้น้ำมายาวนาน โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน   เพราะสภาพที่เป็นอยู่คือ ทุ่งนาที่คนรุ่นปู่ย่าตายายทำมาก่อนจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน  เชื่อว่าจะต้องแหล่งประวัติศาสตร์ของพื้นที่

 

ทั้งนี้ ทั้งพระสมุห์สุรศักดิ์   หรือฉายาสุรสัก โก เจ้าอาวาสวัดหัวถนน และนายปรีชา  เดชเหมือน อายุ 63 ปี อดีตกำนัน ต.นาพละ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ในอดีตผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่อายุประมาณ 70 – 80 ปี ต่างก็บอกว่าบริเวณจุดที่พบเห็นซากอิฐดินเหนียวโบราณดังกล่าวนี้ ไม่เคยมีใครรู้ว่าเคยเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือโบราณสถานใดๆมาก่อน จึงเชื่อว่าน่าจะอายุหลายร้อยปีมาแล้ว เชื่ออาจเป็นโบราณสถาน หรือสถานที่ก่อสร้างเทวสถาน  ขณะที่วัดหัวถนน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร ก่อสร้างขึ้นสมัยพระยาตรัง เมื่อปี 2358  ทั้งนี้ คลองชลประทานถูกขุดผ่านมาประมาณกว่า 20 ปีแล้ว และมีการขุดคลองระบายน้ำขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ  6 ปีที่ผ่านมา เผื่อผันน้ำให้ประชาชนใช้ทำการเกษตร

นายปรีชา  เดชเหมือน อายุ 63 ปี อดีตกำนัน ต.นาพละ ตนเริ่มรับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่เมื่อปี 2525  เป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นกำนันจนกระทั่งเกษียณอายุแล้ว ก็ไม่เคยพบเห็นสิ่งปลูกสร้างนี้มาก่อน เชื่อว่าในอดีตอาจจะเป็นการสร้างวัดเก่า  หรือพื้นที่นี้อาจเคยเป็นแม่น้ำ หรือลำคลองขนาดใหญ่มาก่อน เพราะพื้นที่ใกล้กันทั้งซ้ายขวาห่างออกไปประมาณ 300 – 500 เมตร มีคลองนางน้อย และคลองน้ำเจ็ดไหลผ่าน แล้วจุดที่พบนี้ก็อาจจะเป็นแม่น้ำอีกสายหรือคลองสาขาขนาดใหญ่  แล้วอาจมีการก่อสร้างท่าเรือเล็กๆ เพื่อขนถ่ายข้าวเปลือกลงเรือ เพื่อขนออกไปขาย เพราะตั้งแต่ตนจำความได้เคยมีคนในหมู่บ้าน ขนมัดข้าวเปลือกที่เก็บได้จากนาลงเรือ ขนาดความยาวประมาณ 12 เมตร ลงเรือที่คลองนางน้อย ครั้งละเต็มลำเรือหรือประมาณ 500 มัด เพื่อนำไปขาย  เพราะตำบลนาพละ และ อ.นาโยง เป็นถิ่นทำนามาตั้งแต่โบราณแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ไม่เคยเล่าให้ฟังว่า บริเวณนี้เคยเป็นแม่น้ำหรือมีท่าเรือมาก่อน เชื่ออายุหลายร้อยปี  ล่าสุด กำลังประสานนักโบราณคดี  สำนักศิลปากรที่ 15 จ.ภูเก็ต กรมศิลปากร ให้เดินทางมาตรวจสอบแล้ว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน