นักโบราณคดีเข้าตรวจสอบซากอิฐโบราณที่ค้นพบกลางทุ่งนาในจังหวัดตรัง ระบุมีอายุ 200-400 ปี ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา และยังพบเศษภาชนะหม้อเครื่องปั้นดินเผาของไทย และเศษกระเบื้องเคลือบที่มาจากเมืองจีน ซึ่งสมัยอยุธยาไทยเราทำมาค้าขายกับประเทศจีน
วันที่ 4 เมษายน 2561 ตามที่ได้มีชาวบ้านไปสูบน้ำจับปลาในคลองระบายน้ำ ใกล้คลองส่งน้ำชลประทาน หมู่ที่ 6 ต.นาพละ อ.เมือง จ.ตรัง แล้วพบซากอิฐดินเผาโบราณที่ทำจากดินเหนียวถูกจัดวางซ้อนกันเป็นชั้นๆอย่างแข็งแรง แน่นหนา เหมือนลักษณะสิ่งปลูกสร้างอาคาร โดยฝีมือมนุษย์ บริเวณริมตลิ่งทั้ง 2 ฝั่งคลอง ระยะทางยาวประมาณ 30 เมตร ซึ่งสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นผืนนากว้างใหญ่ที่ชาวบ้านทำนามาหลายชั่วอายุคน จนกระทั่งระบบส่งน้ำชลประทานตัดผ่าน เพื่อผันน้ำให้ประชาชนใช้สำหรับการเพาะปลูก ทำนา และเลี้ยงสัตว์ ก็มีขุดคลองระบายน้ำผ่านบริเวณดังกล่าว จนกระทั่งชาวบ้านมาพบซากสิ่งก่อสร้าง ที่ถูกเครื่องจักรขุดแยกออกเป็นคลองระบายน้ำ จึงแจ้งเจ้าอาวาสวัดหัวถนน ซึ่งอยู่ใกล้กัน และผู้นำในพื้นที่ แจ้งเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบ
ล่าสุด นางสาวเพลงเมธา ขาวหนูนา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 11 จ.สงขลา และคณะ พร้อมด้วยนายประยูร หนูสุก วัฒนธรรมจังหวัดตรัง ,พ.ต.ท.สันทัด วินสน รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง , พระสมุห์สุรศักดิ์ หรือฉายาสุรสัก โก เจ้าอาวาสวัดหัวถนน ,นายครองพิชญ์ ชัยภักดี กำนันต.นาพละ และนายปรีชา เดชเหมือน อดีตกำนัน ต.นาพละ เดินทางเข้าไปตรวจสอบและเก็บหลักฐาน
ข่าวน่าสนใจ:
นางสาวเพลงเมธา ขาวหนูนา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 11 จ.สงขลา กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น คาดว่าอิฐที่พบถูกจัดวางซ้อนกันเป็นหลายๆ ชั้น น่าจะเป็นฐานอาคารสิ่งก่อสร้างบางอย่างที่ทำจากดินเผา ตรงกับสมัยอยุธยา หรือประมาณ 200 – 400 ปีมาแล้ว นอกจากนั้นยังพบเศษภาชนะหม้อเครื่องปั้นดินเผาของไทย และเศษกระเบื้องเคลือบที่มาจากเมืองจีน ซึ่งสมัยอยุธยาไทยเราทำมาค้าขายกับประเทศจีน ทั้งนี้ จะนำตัวอย่างทั้งหมดส่งไปตรวจพิสูจน์ความชัดเจนต่อไป พร้อมกับรายงานให้กรมศิลปากรได้รับทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนในพื้นที่ให้ทางตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน ร่วมกันใช้เชือกกั้นรอบๆบริเวณพื้นที่ และจัดเวรยามหมุนเวียนเฝ้าตลอด 24 ชม. เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนหรือนักเสี่ยงโชคเข้าไปขุดคุ้ยหาของมีค่าบริเวณพื้นที่โดยรอบทั้งหมด เพราะไม่มีใครทราบว่าฐานอาคารดังกล่าวจะมีขนาดความกว้าง หรือยาว กินพื้นที่ประมาณเท่าไร ป้องกันการทำลายร่องรอยหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ รอจนกว่าทางกรมศิลปกรจะเข้ามาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ หลังชาวบ้านทราบข่าวได้เดินทางไปดูเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอนาคตอาจกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: