นครตรังบินสำรวจภาพมุมสูงคลองห้วยยาง เพื่อวางแผนป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครตรัง
นายแพทย์รักษ์ บุญเจริญ รองนายกเทศมนตรี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง พร้อมด้วยนางกรรณิการ์ บัวเลิศ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง นายพิมล ณ นคร ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครตรัง และเจ้าหน้าที่สำนักการช่างฯ ลงพื้นที่สำรวจคลองห้วยยาง เพื่อหามาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครตรัง ทั้งนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ สำหรับในพื้นที่จังหวัดตรังมีปริมาณฝนตกเกือบทุกวัน ทำให้ประชาชนกังวลและหวั่นว่าจะเกิดน้ำท่วมขึ้น โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียง หากการระบายน้ำไม่สามารถระบายได้อย่างรวดเร็ว อาจทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนได้ ทางเทศบาลนครตรังจึงเร่งดำเนินการหาทางป้องกันปัญหาดังกล่าว
ด้านนายแพทย์รักษ์ บุญเจริญ รองนายกเทศมนตรี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวว่า ในครั้งนี้ได้แบ่งชุดออกสำรวจเป็น 2 ชุดคือ ภาคพื้นดิน (เดินสำรวจ) และทางอากาศ โดยนำโดรนขึ้นบินเพื่อสำรวจภาพมุมสูงของคลองห้วยยาง เริ่มจากจุดสะพานหลังโรงแรมธรรมรินทร์ ธนา ไปสิ้นสุดบริเวณโรงพระท้ายแป๊ะกง จากการสำรวจพบว่า ภาพรวมของลำคลองในบางบริเวณจะมีพื้นที่กว้าง ,แคบ, ตื้นเขิน และเป็นคอขวด โดยเฉพาะช่วงลอดใต้สะพานจะมีลักษณะเป็นคอขวดจากกว้างมาแคบ ทำให้การระบายน้ำในช่วงฝนตกหนัก น้ำจะเดินทางมาจากลำคลองที่กว้างและถูกบีบอัดให้แคบลงในช่วงลอดสะพาน เมื่อไม่สามารถระบายได้อย่างรวดเร็วน้ำจึงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน นอกจากนี้ยังมีการทิ้งขยะเช่น วัสดุก่อสร้าง ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า ซากอะไหล่รถ ลงในลำคลอง และมีวัชพืชกีดขวางทางน้ำ ทำให้บางช่วงตื้นเขินน้ำระบายได้ช้า สำหรับการสำรวจครั้งนี้เป็นเพียงช่วงบนของลำคลองเท่านั้น ยังต้องสำรวจในช่วงล่างของลำคลองจากโรงแรมธรรมรินทร์ ธนา ไปจนถึงบริเวณพื้นที่รับน้ำสุดปลายสาย อาจจะเชื่อมโยงถึงพื้นที่ของ อปท.ใกล้เคียง
ด้านการดำเนินงานเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครตรัง ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักการช่างระดมกำลังเจ้าหน้าที่ขุดลอกคลองห้วยยางในบริเวณที่ตื้นเขิน เพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้มากยิ่งขึ้น แต่ด้วยปัญหาไม่สามารถนำเครื่องจักรหนัก เช่นรถแบ็คโฮลงปฏิบัติงาน ได้ ต้องอาศัยกำลังคนที่มีอยู่ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการทำงานครอบคลุมทั้งแนวคลอง จึงดำเนินการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เบื้องต้นได้วางแนวทางคือ ดำเนินการกำจัดวัชพืชและขุดลอกตะกอนดินทรายเพื่อขยายลำคลอง และหากฝนตกหนัก หรือมีปริมาณน้ำมาก จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำในบริเวณหัวสะพานที่เป็นคอขวด เช่น สะพานโรงรับจำนำ และสะพานโรงพยาบาลตรังชาตะ เพื่อให้น้ำสามารถระบายได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้หลังจากสำรวจลำคลองตลอดสายแล้ว จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวร่วมกันต่อไป.
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: