X

รพ.วชิระภูเก็ต แจงสาเหตุ ทำเด็ก 15 วันแขนหัก เกิดจากการห่อตรึง เสียใจ-ขออภัย พ่อแม่ ยังไม่มั่นใจ รพ. ตอบสาเหตุไม่ได้

รพ.วชิระภูเก็ต แจงสาเหตุ ทำเด็ก 15 วันแขนหัก เกิดจากการห่อตรึง เสียใจ-ขออภัย พ่อแม่ ยังไม่มั่นใจ รพ. ตอบสาเหตุไม่ได้
  วันนี้ 8 มิ.ย.65 ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ ตึกคุณพุ่ม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการ รพ.วชิระภูเก็ต พร้อมคณะแพทย์และพยาบาล รพ.วชิระภูเก็ต แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนกรณี ผู้ปกครองของทารกแรกเกิดเข้าแจ้งความที่สภ.เมืองภูเก็ต เหตุเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไม่บอกสาเหตุที่เด็กแขนซ้ายหัก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.65

ซึ่งทาง นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการ รพ.วชิระภูเก็ต ได้แถลงข่าวชี้แจงให้กับสื่อมวลชน รวมทั้งน.ส.อัจฉรา จันทราช และ นายจักรกฤช นิ่มหนู พ่อและแม่ของเด็ก ที่มารอฟังการแถลงข่าวว่า ตามที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้รับเด็กเข้ารักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด ด้วยเรื่องสำลักหายใจเหนื่อย และมีภาวะพร่องออกซิเจน ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นั้น ได้รับการรักษาด้วยการให้ออกซิเจน สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และยาปฏิชีวนะ ทารกสามารถคลื่อนไหวแขนขาสองข้างได้ตามปกติ แขนขาไม่ผิดรูป

โดยเหตุการณ์ในวันก่อนและหลังเกิดเหตุ เมื่อ วันที่ 5 มิถุนายน 2565 เวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่ชั่งน้ำหนักทารก ยังพบว่าสามารถขยับแขนขา ทั้งสองข้างได้ตามปกติ หลังจากนั้น เวลา 22.00 น. มีการวัดสัญญาณชีพ ระดับออกซิเจน และ ให้นมตามเวลา พบว่าทารกดิ้น จึงห่อตัวทารกแบบตรึง 3 ตำแหน่งไว้ (แขน ลำตัว และ ขา) ต่อมา วันที่ 6 มิถุนายน 2565 เวลา 02.00 น. เจ้าหน้าที่คลายผ้าห่อตัว เปลี่ยนเป็นห่อด้วยผ้าผืนเดียว วัดสัญญาณชีพ ให้นมทารก โดยไม่ได้ประเมินการเคลื่อนไหว เนื่องจากทารกหลับ เวลา 06.00 น. วัดสัญญาณชีพ และให้นมทารก โดยไม่ได้ประเมินการเคลื่อนไหว เนื่องจากทารกหลับ เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่จะอาบน้ำให้ทารก พบว่าทารกไม่ขยับแขนข้างซ้าย แขนซ้ายอยู่ในท่าศอกเหยียด ตันแขนบิดเข้าหาแนบกับลำตัว จึงได้ปรึกษากุมารแพทย์ประเมินและตรวจร่างกาย ไม่พบรอยฟกช้ำเขียว หรือบาดแผลบริเวณผิวหนังของเด็ก หรือบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย ได้ปรึกษาแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ มาตรวจดูอาการและให้ถ่ายภาพรังสีแขนซ้าย พบว่ากระดูกต้นแขนข้ายหัก แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ได้รักษาโดยยึดตรึงแขนซ้ายไว้

ในเบื้องต้นได้สรุปว่า เนื่องจากไม่พบร่องรอยฟกช้ำ หรือบาดแผลภายนอก จึงสันนิฐานว่า สาเหตุที่ทำให้กระดูกแขนซ้ายของทารกหัก มาจากการที่ห่อตรึงไว้ โดยเฉพาะบริเวณแขนที่บิดหมุนแนบลำตัวค่อนไปทางด้านหลังและมีแรงกระแทกบริเวณศอกจากการยก และวางทารก โดยแนวทางการรักษากระดูกต้นแขนซ้ายหัก แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อได้ให้การรักษา ด้วยวิธีการที่ทำให้ทารกสบายตัวมากที่สุด โดยแพทย์ใช้วิธีการใช้ผ้าดามยึดแขนที่หักไว้กับลำตัวเด็กเป็นเวลา 2 – 3 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเฝือก หรือผ่าตัด เนื่องจากกระดูกของทารกจะมีการเชื่อมประสานกันเองและจะนัดติดตามอาการหลังออกจากโรงพยาบาล

ซึ่งโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ขอแสดงความเสียใจ และขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลได้ดำเนินการทบทวนเหตุการณ์เบื้องต้น และจะตั้งกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง เพื่อนำมาพัฒนาระบบการดูแลรักษาให้มีคุณภาพและเกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วย

นายจักรกฤช นิ่มหนู พ่อเด็ก บอกว่า หลังจากที่ได้รับฟังการแถลงข่าววันนี้ ก็ยังไม่มั่นใจ เพราะเหมือนกับที่ได้พูดคุยกันเอาไว้ เป็นเรื่องเดิมๆ ว่าการรักษาต่อไปจะทำอย่างไร แต่ว่าสาเหตุเขายังตอบไม่ได้ ต้องตรวจสอบก่อน คนเป็นพ่อก็รู้สึกท้อ ถามไปก็ตอบไม่ได้สักอย่าง ก็จะรอดูว่าเขาจะช่วยอย่างไรบ้าง อยากให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรมาว่าจะทำอย่างไร จะรักษาลูกอย่างไรบ้าง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน