ภูเก็ต ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ตรวจค้น 17 บริษัทนอมินีรัสเซีย รับทำเอกสารเท็จ ให้ชาวรัสเซียในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต คาดเอี่ยวขบวนการฟอกเงิน
วันที่ 4 เม.ย. 2567 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) สั่งการให้ตำรวจ กก.5 บก.ป. นำกำลังตรวจค้น ที่ตั้งของบริษัทต้องสงสัยซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของคนต่างชาติ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 8 จุด รวม 17 บริษัท ตามหมายค้นของ ศาลอาญาที่ 311-318/2567 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2567
ก่อนหน้าที่ได้มีคนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลอกให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชั่นสำหรับควบคุมโทรศัพท์
จากนั้นได้ดูดเงินจากบัญชีของผู้เสียหายโอนไปยังบัญชีของคนร้ายรวมกว่า 5 แสนบาท พบว่าคนร้ายได้โอนเงินไปยังบัญชีต้องสงสัยชายชาวรัสเซียคนหนึ่ง ก่อนจะพบว่าชายชาวรัสเซียดังกล่าวได้ทำรายการถอนเงินสดออกจากบัญชีผ่านธนาคารในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในเวลาต่อเนื่องกัน
ตำรวจกก.5 บก.ป. ได้รับมอบหมายจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของคนร้าย พบว่าการทำธุรกรรมของชายชาวรัสเซียคนดังกล่าว และ มีพฤติการณ์รับโอนเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี จากกระเป๋าดิจิตอลที่ไม่มีการยืนยันตัวตน (non-custodial wallet) จากนั้นจะมีการขายเหรียญจำนวนมากโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในประเทศไทยของตน และถอนเงินที่ได้ออกเป็นเงินสดโดยทันทีในช่วงระหว่างวันที่ 7 ก.ค. 2566 -19 พ.ย. 2566 พบว่าชายชาวรัสเซียคนดังกล่าว ได้มีการถอนเงินสดผ่านเคาท์เตอร์ธนาคาร และตู้ ATM จากบัญชีธนาคาร จำนวน 3 บัญชี รวมเป็นเงินประมาณ 186 ล้านบาท อย่างผิดปกติ เชื่อได้ว่าเป็นรูปแบบการฟอกเงินอย่างหนึ่ง จากตรวจสอบหลักฐานการเปิดบัญชีพบว่า ชายชาวรัสเซียคนดังกล่าว ได้แสดงหลักฐานใบอนุญาตทำงานยืนยันว่าเป็นลูกจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าว ไม่มีการดำเนินกิจการอยู่จริง น่าเชื่อว่าได้จดทะเบียนขึ้นมาเพื่อใช้ในการสร้างเอกสารเท็จเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน และขออนุญาตอยู่ในต่อในราชการอาณาจักรเป็นการชั่วคราว (VISA) ให้กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ โดยบริษัทดังกล่าวมีกรรมการ และผู้ถือหุ้นเป็นผู้หญิงไทย จำนวน 2 คน และหญิงชาวรัสเซีย จำนวน 1 คน
นอกจากนั้นยังพบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวยังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการ ของบริษัทอื่นอีกรวม ทั้งสิ้น 38 บริษัท เชื่อว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน 2.ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้าง หุ้นส่วนหรือบริษัทจํากัด หรือนิติบุคคลใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย (นอมินี)
หลังจากเจ้าหน้าที่ฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลอาญาขอออกหมายค้น เพื่อเข้าตรวจค้นพบที่ตั้งของบริษัทต้องสงสัย ในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต จำนวน 8 จุด รวม 17 บริษัท
ผลการตรวจค้นพบ ผู้หญิงชาวไทย จำนวน 2 คน รับว่าได้จัดตั้งบริษัทรับจ้างจดทะเบียนบริษัท, รับดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน, ดำเนินการขอ VISA ให้กับชาวต่างชาติ และยื่นขอใบอนุญาตต่างๆให้กับชาวต่างชาติ โดยมีการจัดตั้งบริษัทที่ไม่ได้มีการดำเนินกิจการจริงขึ้นมา เพื่อใช้ในการสร้างเอกสารเท็จเพื่อยื่นขออนุญาตต่างๆให้กับชาวต่างชาติจริง
พบบริเวณชั้นสองของอาคารสำนักงานมีการจัดวางอุปกรณ์คล้ายสำนักงานไว้สำหรับจัดฉากเพื่อถ่ายภาพการทำงานเพื่อใช้ในการยื่นขอใบอนุญาตต่างๆให้กับชาวต่างชาติ จึงได้ตรวจยึด 1.คอมพิวเตอร์สำหรับจัดทำเอกสารเท็จ และจัดเก็บข้อมูลลูกค้าชาวต่างชาติ จำนวน 2 เครื่อง , 2.ตราประทับบริษัทต่างๆ กว่า 50 บริษัท, 3.เอกสารต่างๆ จำนวนประมาณ 500 แผ่น ซึ่งจะได้ตรวจสอบรายละเอียดเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการตามกฎหมายกับคนไทยและชาวต่างชาติที่ร่วมกันกระทำความผิดต่อไป
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัย การกระทำของบุคคลและนิติบุคล ซึ่งช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวโดยการสร้างเอกสารเท็จ และแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถมีเอกสารที่ใช้ในการเปิดบัญชีธนาคารไทยได้นั้น ย่อมอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติในการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิตอล ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือเป็นทรัพย์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านกระบวนการสำแดงตามปกติ และสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ จึงเป็นช่องทางสำหรับคนร้ายในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือกลุ่มผู้กระทำผิดอย่างอื่นใช้ในการฟอกเงินที่ได้จากการกระทำความผิด ก่อนนำไปลงทุนทำธุรกิจต่างๆ แข่งขันและแย่งงานคนไทย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: