X

“รมต.จักรพงษ์” สั่งรุกแก้ท่วม – แล้ง – น้ำเสีย เร่งรัดโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาพังงา – ภูเก็ต ให้ทันปี 70

ภูเก็ต รมต.จักรพงษ์ ลงพื้นที่เยือน จ.ภูเก็ต ติดตามสถานการณ์น้ำและแผนงานโครงการด้านน้ำ สั่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัว พร้อมเร่งรัดโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาพังงา – ภูเก็ต ให้เสร็จภายในปี 70

วันนี้ (8 ส.ค. 67) นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและแผนงานโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน (ชป.)

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นต้น เข้าร่วม ณ ห้องประชุมโครงการชลประทานภูเก็ต โดยได้รับฟังรายงานในประเด็นสำคัญด้านน้ำ ได้แก่ แผนพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาพังงา – ภูเก็ต รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมและการให้ความช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา จากนั้นได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางวาด อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

นายจักรพงษ์ ได้กล่าวมอบนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย โดยรัฐบาลได้เน้นย้ำให้หน่วยงานด้านน้ำมุ่งเน้นการทำงานเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาเชิงรุก ในการลดการเกิดภัยหรือบรรเทาเหตุการณ์อุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงปัญหาด้านคุณภาพน้ำ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยได้มอบหมายให้ ชป. บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ของจังหวัดภูเก็ตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอและเกิดความสมดุลตลอดทั้งปี

และให้ กปภ. เร่งรัดโครงการก่อสร้างปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาพังงา – ภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีเป้าหมายในก่อสร้างระบบผลิตน้ำขนาด 120,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน ให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่ม 35,000 ราย มีพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา อำเภอถลาง อำเภอกะทู้ และ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดในระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (ปี 67 – 70) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอุปโภค-บริโภคให้เกิดขึ้นกับประชาชนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ได้ตามเป้าหมาย พร้อมกันนี้ ให้ ปภ. ดำเนินการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัย และหาแนวทางการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ให้ สทนช. ติดตามความก้าวหน้าตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 ของภาคใต้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจุดเสี่ยงต่าง ๆ ที่เคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันท่วงทีและวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำและการเติบโตของจังหวัดภูเก็ต

ด้านเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภคนับเป็นปัญหาหลักด้านน้ำในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปายังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาของชุมชนเมือง ประกอบกับโครงข่ายระบบท่อส่งน้ำประปาที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่และมีระบบส่งน้ำประปาชำรุด นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตยังประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเกิดจากคลองระบายน้ำมีศักยภาพในการระบายน้ำไม่เพียงพอ ตลอดจนปัจจัยจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น สะพาน ท่อลอดถนน ที่มีขนาดไม่เหมาะสมต่อการระบายน้ำ รวมทั้งน้ำทะเลหนุนบริเวณริมชายฝั่ง โดยส่วนใหญ่จะพบปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่อำเภอถลาง อำเภอกะทู้ อำเภอเมืองภูเก็ต และอีกปัญหาสำคัญคือเรื่องน้ำเสียส่วนใหญ่ที่เกิดจากแหล่งชุมชนและสถานบริการ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประชาชนจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการจัดทำแผนงานโครงการตามแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในระยะสั้น (ปี 66 – 70) ระยะกลาง (ปี 71 – 75) และระยะยาว (ปี 76 – 80) รวม 461 โครงการ หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน จะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้กว่า 77 ล้าน ลบ.ม. ลดพื้นที่น้ำท่วมรวม 18,789 ไร่ บำบัดน้ำเสียได้เพิ่มขึ้นกว่า 22 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี

“จากแผนหลักฯ ดังกล่าว สทนช. ได้จัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการที่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยจัดทำเป็นแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำ และโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมจำนวน 142 โครงการ ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 3,241 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 86,941 ครัวเรือน พื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 2,450 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 9.81 ล้าน ลบ.ม. โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการที่ได้รับอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้แก่จังหวัดภูเก็ตต่อไป” ดร.สุรสีห์ กล่าว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน