กรุงเทพฯ – นักวิชาการจุฬาฯ ระบุ การล่าสัตว์ป่า ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังส่งผลกระทบกับความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ด้วย เผยไม่สามารถแก้นิสัยกลุ่มคนชอบล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงได้ แต่ป้องกันได้ โดยครอบครัวต้องเริ่มปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องให้กับเด็ก และบังคับใช้กฏหมายให้รุนแรง เด็ดขาด
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาครั้งที่ 11 เรื่อง “สัตว์โลกที่ถูกคุกคาม : วาระที่รอการแก้ไข” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และระดมสมองหาแนวทางป้องกันการล่าสัตว์ป่า หลังข่าวการล่าเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร สร้างแรงกระเพื่อมและความตื่นตัวในสังคมอย่างมาก
ดร.สรณรัชฏ์ กาญจนะวนิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ชี้ว่า ปัจจุบันปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์และพืช รวมทั้งปัญหามลภาวะที่เกิดจากการใช้ปุ๋ย กำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะการสูญพันธุ์ ที่มีข้อมูลระบุชัดเจนว่า เกิดจากการค้าสัตว์และล่าสัตว์ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางชีวภาพ
เนื่องจากในระบบนิเวศนั้น สิ่งมีชีวิตหนึ่งกินสิ่งมีชีวิตหนึ่งเป็นอาหาร แล้วอาจถูกสัตว์อื่นกินเป็นอาหารต่อกันเป็นทอดๆ ทำให้เกิดระบบห่วงโซ่อาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ หากสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งถูกล่าอย่างผิดธรรมชาติ จนสูญพันธุ์ จะทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารเปลี่ยนแปลงไป
ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ ยกตัวอย่างว่า เมื่อสูญเสียเสือดำที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารไปเพียง 1 ตัว อาจทำให้สัตว์หรือพืชบางชนิด เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติ สิ่งที่ตามมาคือ จะส่งผลกระทบกับความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ ที่ยังต้องบริโภคและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ
ข้อมูลเหล่านี้หลายคนอาจเคยได้ยินมาก่อน แต่ทำไมยังมีการล่าสัตว์ป่าเกิดขึ้นในศตวรรษนี้ ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นักวิชาการภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า เป็นเพราะยังมีความเชื่อว่า การบริโภคอวัยวะหรือชิ้นส่วนสัตว์บางชนิด จะช่วยเสริมสมรรถภาพร่างกาย จึงทำให้เกิดอุปสงค์อุปทาน เกิดความต้องการล่าสัตว์เพื่อสนองความเชื่อเหล่านั้น เช่น ความเชื่อว่าการบริโภค”นอแรด” จะช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ
รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ วิเคราะห์และจำแนกพฤติกรรมของกลุ่มคนล่าสัตว์ คือ ล่าเพื่อเป็นอาหาร , ล่าเพื่อความอยู่รอด เช่น การล่าสัตว์ป่าหรือหาของป่าไปขายเพื่อให้ได้เงินมาดำรงชีวิต ซึงจะไปสอดคล้องกับกลุ่มคนที่ต้องการอวัยวะหรือชิ้นส่วนของสัตว์ป่ามาบริโภคตามความเชื่อที่ผิดๆ ทำให้เกิดอุปสงค์อุปทาน
แต่ยังมีนักล่าอีกกลุ่มที่ร้ายแรงและสร้างความเสียหายมาก คือ กลุ่มนักล่าเพื่อความสนุก ความบันเทิง และเป็นเกมกีฬา โดยการวิเคราะห์สภาพจิตของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ยังไม่สามารถทำได้ จึงมีการนำผลวิเคราะห์สภาพจิตใจของฆาตกรหรือฆาตกรต่อเนื่อง มาศึกษาและเชื่อมโยง เพื่อหาเหตุผลว่า ทำไมต้องล่า
จากการวิเคราะห์จะพบว่า คนกลุ่มนี้ มักจะเป็นคนมีฐานะดี มีอำนาจทางการเงินและสถานะทางสังคมสูง หลงตัวเอง ไม่มีความเห็นอกเห็นใจบุคคลอื่น หรือกลุ่มคนที่มีทุกอย่างเพียบพร้อม แต่ต้องการล่าสัตว์เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับชีวิต นอกจากนี้ยังล่าเพื่อสร้างความมั่นใจ สร้างความรู้สึกมีอำนาจให้กับตัวเอง รวมทั้งล่าสัตว์เพราะต้องการ “Animal Trophy” หรือรางวัลจากการสะสมซากสัตว์ หรือชิ้นส่วนต่างๆของสัตว์ ยิ่งเป็นสัตว์ดุร้ายหรือหายากเท่าไหร่ก็จะยิ่งภาคภูมิใจกับผลงานของตัวเอง
ส่วนแนวทางแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดการล่าสัตว์ รศ.ดร.สมโภชน์ บอกว่า ในกลุ่มที่ล่าเพื่อเป็นอาหาร หรือล่าเพื่อนำไปขายตามความเชื่อ สามารถป้องกันได้ด้วยการให้ความรู้ และเพิ่มบทลงโทษทางกฏหมายที่รุนแรง เด็ดขาด แต่เนื่องจากสภาพสังคมของไทย ที่ยังมีระบบอุปถัมภ์ ทำให้การบังคับใช้กฏหมายยังไม่เต็มที่เท่าที่ควร
ขณะที่กลุ่มนักล่าเพื่อความบันเทิงนั้น ไม่สามารถใช้เพียงแค่กฏหมายที่รุนแรงแก้ปัญหาได้ แต่ป้องกันได้ โดยครอบครัวต้องเป็นตัวจักรสำคัญ เร่งปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องให้กับเด็ก ไม่ใช้หรือสอนความรุนแรงให้กับเด็ก
ในวงเสวนา ยังถกกันถึงประเด็นที่กลุ่มคนในสังคมบางกลุ่มตั้งคำถาม ว่าทำไมเสือดำจึงสำคัญกว่าหมู หรือวัว ทำไมเสือดำถูกล่าตัวหนึ่ง จึงสำคัญกว่าการฆ่าหมูหรือวัวเพื่อเป็นอาหาร กลุ่มนักวิชาการที่ร่วมวงเสวนาให้เหตุผลว่า เสือดำ หมู หรือวัว ต่างมีความสำคัญเท่ากัน แต่มีบทบาทในระบบความหลากหลายทางชีวภาพที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ จำนวนของเสือดำยังมีน้อยกว่าหมูหรือวัว ที่มีคนเลี้ยงเพื่อการบริโภค จึงทำให้การสูญเสียเสือดำ 1 ตัว เป็นเรื่องสำคัญที่สังคมต้องตระหนัก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: