หนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการฝึกอบรม สร้างคน สร้างโคก หนองนา ด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำ หลักสูตรพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นโครงการที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจน ด้วยการนำ ‘ศาสตร์พระราชา’ คือศาสตร์การจัดการ และการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษา คิดค้น และวิจัย แล้วพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เพื่อใช้ในการจัดการลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ เมื่อนำองค์ความรู้นี้มาปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ข่าวน่าสนใจ:
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
- บ้านใหญ่พรรคเพื่อไทยเชียงราย เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.พร้อมกับนำทีมผู้สมัคร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ทั้ง 36 เขต ในนามพรรคเพื่อไทย
- พรรคประชาชนเปิดตัว นายแพทย์จิรชาติ เรื่องวัชรินทร์ หรือ หมอมุดสัง ชิง นายก อบจ.สุราษฎร์ ฯ สมัครจันทร์นี้
- เพชรบูรณ์ - "ครอบครัวศรีประโค" บริจาคกระจกตาพ่อที่เสียชีวิต หวังช่วยให้ผู้อื่นกลับมามองเห็น
โครงการฝึกอบรมครั้งนี้ มีชื่อเรียกสั้นๆว่า “ฟื้นฟูลุ่มน้ำ ตามรอยพ่อ” โดยรุ่นที่ 4 เพิ่งจบลงไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนล้อมศรีรินทร์ ต.หนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมกว่า 70 คน เดินทางมาจากทั่วทุกภาคของประเทศ จากหลากหลายสาขาอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย
นายสุภัสชญา จังโกฎิ หรือ “สมาร์ท” หนุ่มน้อยวัย 22 ปี ครูสอนเด็กตาบอดจากโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน จ. ลพบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้เล่าให้ฟังว่า ตนเองก็มีแม่เป็นคนพิการตาบอดและอยู่ดูแลแม่มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งคนพิการตาบอดนั้นต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเด็กๆ เขาหวังจะนำองค์ความรู้ในหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรื่องทักษะการดำรงชีวิต แล้วถ่ายทอดต่อให้กับเด็กๆในโรงเรียนรวมถึงนำผู้ปกครองมาฝึกอาชีพ มาเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ การปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี เมื่อจบการศึกษาออกไป หากครอบครัวใดมีพื้นที่ทำกิน ก็นำความรู้ที่ได้ไปใช้เพื่อหาเลี้ยงตัวเองต่อไป
ส่วนนายสถาปัฐ แสงสุริยา หรือ “ต้น” วัย 31 ปี ครูจากโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดฯ จ. ลพบุรี เช่นกัน และเป็นเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ภาคสนามที่สอนเรื่องการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหวสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น “ต้น”เล่าว่า คนตาบอดในพื้นที่จังหวัดลพบุรีส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดการอบรมพัฒนาความรู้เสริมในด้านต่างๆ พ่อแม่หลายคนต้องออกไปทำงานหารายได้มาเลี้ยงดูลูกพิการ ซึ่งการปล่อยให้เด็กอยู่เพียงลำพัง บางครั้งก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดฯ จึงมุ่งหวังให้เด็กๆมีความสามารถในการดูแลตัวเอง โดยให้ความรู้ในเรื่องทักษะการดำรงชีวิต สอดแทรกกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีพื้นฐานเริ่มจากการค่อยๆลงมือทำ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น โรงเรียนจะส่งเสริมเรื่องการประกอบอาชีพทางการเกษตรเล็กๆน้อยๆ แล้วรับซื้อผลผลิตเหล่านั้น เด็กๆก็จะค่อยๆเรียนรู้และดูแลตัวเองต่อไปได้ในอนาคต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองคนบอกว่าจะนำองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ไปถ่ายทอดต่อให้กับบุคคลากรครูในโรงเรียนด้วย
การอบรมครั้งนี้นำโดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง หนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาเป็นผู้ถ่ายทอด ศาสตร์พระราชา สู่การปฏิบัติ ทั้งเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, เกษตรทฤษฎีใหม่, วิธีปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน, นวัตกรรม และวิธีบริหารบนความขาดแคลน รวมถึงแนวคิดทฤษฎีบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง
นอกจากนี้ยังมีวิทยากรอีกหลายท่าน มาให้ความรู้เรื่องการบริหารการจัดการน้ำและการออกแบบพื้นที่ตามหลักภูมิสังคม ฐานการเรียนรู้เพื่อพึ่งพาตนเอง ทั้งการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักจุลินทรีย์ ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคในครัวเรือน การลงแปลงฝึกปฏิบัติเอามื้อสามัคคี และการขับเคลื่อนเครือข่าย สร้างคน สร้างโคกหนองนาโมเดล ฯลฯ
นายปุณยวัจน์ ปางสะอาด และ นางสาวจิดาภา บริบูรณ์ วัย 40 ปี สองสามีภรรยาเดินทางจาก อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เพื่อมาเข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ เพราะมีความสนใจในศาสตร์พระราชา ทั้งเรื่องการออกแบบโคกหนองนาโมเดล และการทำเกษตรอินทรีย์ เดิมทีทั้งคู่ใช้เวลาว่างในวันหยุดสุดสัปดาห์จากการทำงานประจำในโรงงานอุตสาหกรรม มาทำนาปลูกข้าวบนพื้นที่ 16 ไร่ แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตลดต่ำลงทุกปีเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ขาดการออกแบบพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งหลังผ่านการอบรมครั้งนี้ ทั้งคู่ตั้งใจจะนำความรู้ที่ได้กลับไปทำเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นที่ 4 ไร่ที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากครอบครัว ออกแบบพื้นที่ตามหลักโคกหนองนาโมเดล และทำเกษตรผสมผสานเพื่อความยั่งยืนต่อไป
โครงการฝึกอบรมสร้างคน สร้างโคก หนองนา ด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำ เป็นความร่วมมือของ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ มาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ “ศาสตร์พระราชา” เป็นศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษา ทดลอง ทรงงานมาตลอดพระชนม์ชีพ และพระราชทานแก่ชาวไทยและชาวโลกเพื่อแก้ปัญหาทุกด้านอย่างยั่งยืน จนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ถวายพระเกียรติด้วยการประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็น “วันดินโลก” มีการจัดตั้งสมัชชาดินโลก สมัชชาดินแห่งเอเชีย สมัชชาดินแห่งประเทศไทย ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย CESRA (Center of Excellence for Soil Research in Asia) ซึ่งมีเป้าหมาย 3 เรื่องตรงกับที่พระองค์ทรงทำไว้ทั้งหมด คือ Soil Pollution การทำกสิกรรมธรรมชาติ หยุดสารพิษลงดิน Soil Erosion หยุดการชะล้างและการพังทลายของหน้าดิน ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และ Soil Diversity การสร้างความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนดิน
ในปีนี้จะมีการจัด งานมหกรรมวันดินโลก 2019 ระหว่างวันที่ 7 – 8 ธันวาคมนี้ ที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ภายในงานมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนดินพิษให้เป็นดินดี, เปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นป่าสามอย่าง, กิจกรรมห้องเรียนทอล์ค แอนด์ ทำ กับคนกสิกรรมธรรมชาติ สลับกับกิจกรรมเสวนาและภาคบันเทิง ตลอดทั้งเช้าจรดค่ำ ทั้งสองวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานแต่อย่างใด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: