เห็นภาพที่เทศบาลตำบลโนนสัง จ.หนองบัวลำภู โดยนายกเทศมนตรีตำบลโนนสัง ด.ต.ประยูร บุญช่วย นำทีม ปรับพื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ที่เคยเป็นท้องน้ำ แต่สภาพปัจจุบันกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้า โดยระดมสูบน้ำจากลำรางใกล้เคียงที่ทั้งขุ่น ทั้งเต็มไปด้วยโคลนเลน เพื่อสร้างอ่างน้ำเทียม ๆ จัดเป็นสถานที่ “ลอยกระทง” แล้วน่าใจหาย ครับ
ที่ตั้งตัวอำเภอโนนสัง ตามสภาพภูมิประเทศตั้งอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ถือว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ตัวอ่างฯ กินเนื้อที่ทั้งเขต จ.ขอนแก่น และ จ.หนองบัวลำภู เพื่อความจุน้ำขนาด 2,431 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้พื้นที่ ที่ราษฎรที่อาศัย ทำมาหากินบางส่วนต้องอพยพหนีน้ำท่วมไปอยู่ที่อื่น แต่ในโซนที่เป็นตัวอำเภอโนนสังปัจจุบันมีการบล็อกพื้นที่กันน้ำด้วยการสร้างคันกั้นที่สูง เพื่อไม่ให้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเอ่อไหลเข้าท่วม
จะเรียกตัวอำเภอโนนสังในฤดูน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีจำนวนเก็บกักมาก ว่าคล้าย ๆ กับประเทศเนเธอร์แลนด์ที่บางส่วนอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำที่มีการสร้างคันคูกั้นก็ว่าได้
ถ้าสังเกตจากภาพ หลังคันดินที่สูงลิ่วจะเป็นสำนักงานส่วนราชการ ศาลาที่สร้างขึ้นหลังคันดินแล้วยื่นออกมา ถือเป็นศาลาที่ยื่นลงมาในอ่างเก็บน้ำไว้เป็นที่กินลมชมวิวของคนเมืองนี้ บันไดที่ทอดลงข้างคูคันกั้นน้ำ เป็นที่สำหรับจัดงานประเพณีลอยกระทงในวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี
ปีนี้เกิดอะไรขึ้น กับที่นี่ ? จากเวิ้งน้ำ กลายเป็นทุ่งหญ้า จนต้องสั่งระดมสูบน้ำมาขังในเนื้อที่ไม่ถึงไร่แบบตื้น ๆ จากนั้นจะนำสะพานไม้ชั่วคราวต่อยื่นออกมาให้ประชาชนสามารถลงไปลอยกระทงได้ เป็นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม…แม้ยามขัดสน
ปัญหาใหญ่คือน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ปีนี้น้อยมากผิดปกติครับ ตรวจสอบ ณ วันที่ 22 พ.ย.2561 ในวันลอยกระทงจากความจุของอ่างเก็บน้ำ 2,431 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือน้ำเพียง 835 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 34% ของความจุ แต่ในจำนวนน้ำที่มีอยู่ใช้ได้จริงเพียง 254 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นแค่ 10 %ของความจุอ่างเท่านั้น ที่เหลือสำรองไว้สำหรับความปลอดภัยของตัวเขื่อน
ชาวบ้านเหนือเขื่อนอย่าง อ.โนนสัง ต้องสูบน้ำทำบึงเทียมเพื่อลอยกระทงปีนี้ เป็น “สัญญาณเตือน”ที่ชัดเจนครับว่า ผลกระทบจากน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ที่เหลือน้อยมาก สร้างความเดือดร้อนไม่เฉพาะคนเหนือเขื่อนอย่าง อ.โนนสัง อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ชาวอ.ภูเวียง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่นช่วงหน้าแล้งนี้เท่านั้น แต่ยังกระทบอย่างรุนแรงถึงชุมชนท้ายเขื่อนตามลุ่มน้ำพอง ลุ่มน้ำชี ใน จ.ขอนแก่นและ จ.มหาสารคาม ที่อาจกระทบหนักกว่าชุมชนเหนือเขื่อนฯ ด้วยซ้ำไป
ที่วิจารณ์ถึงปัญหาน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ปลายฤดูฝนเหลือน้อยผิดปกติ หลัก ๆ เน้น ๆ เป็นเรื่อง “การบริหารจัดการ”ที่ผิดพลาด ครับ
การตัดสินใจระดมเปิดสปิลเวย์ระบายน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำพองช่วงเดือน มิ.ย.2561 เพียงแค่ระดับน้ำในเขื่อนเริ่มตึง ๆ ก็ปล่อยน้ำทิ้ง วันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุผลว่าเป็นการ “พร่องน้ำ” รองรับพายุอีกหลายลูกที่กำลังจะทยอยเข้ามา จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ และมีหลายคนคัดค้านว่าเป็นการบริหารการจัดการแบบไม่เป็นวิทยาศาสตร์ …ว่าง่าย ๆ คือ “ตื่นตูม” จนเกินจริง
ราคาข้าวปีนี้ถึงจะเฉียดตันละ 2 หมื่นบาท แต่ก็ไม่ได้เป็นผลดีกับชาวบ้าน เพราะแม้ราคาจะจูงใจทำให้ชาวบ้านอยากปลูกข้าวสร้างรายได้ ทั้งในเขตชลประทานกว่า 3 แสนไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทานที่สูบน้ำจากน้ำพอง น้ำชีเพื่อทำนาปรัง สถานการณ์เช่นนี้ถือว่า “วิกฤต” ที่ต้องประคองน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ให้ผ่านเดือนพ.ค.2562 หรืออีก 6 เดือนข้างหน้า
ชาวนาจะถูกห้ามสูบน้ำเข้านา หรือในเขตชลประทานเน้นให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อไม่ให้กระทบกับน้ำที่จะต้องใช้ผลิตประปา และเพื่อการอุตสาหกรรม
ลอยกระทงแบบเงียบเหงา ข้าวราคาดีแต่ไม่มีน้ำจะปลูก แม้จะมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน แต่กลับมีปริมาณน้ำเหลือก้นอ่างเพียงน้อยนิดและกำลังเข้าสู่ช่วงการ “ปันส่วนน้ำ” เพื่อให้รอดในอีก 6 เดือนข้างหน้า
หากจะเห็นชัดก็ลองตรวจสอบปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งภาคอีสานที่รับน้ำจากฟ้าเดียวกันเปรียบเทียบ…มันชัดเจนว่าปัญหามาจากการบริหารจัดการของที่นี่เป็นหลัก.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: