X

ทางออกของกฟผ.คือใช้สายส่งไฟฟ้าของเดิมที่มีอยู่

เหตุผลที่ชาวสะเดา สงขลาค้านการสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าผ่านเขาเล่ ที่กำลังพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และเป็นสวนสาธารณะของประชาชน ก็เพียงห่วงเรื่องทัศนียภาพ ที่ กฟผ.ก็พอมีทางออก

วันที่ 13 พ.ค. นี้ เทศบาลเมืองสะเดานัดจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เกี่ยวกับแนวสายไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 230 กิโลวัตต์ พาดผ่านพื้นที่เขาเล่ สะเดา ที่คนในพื้นที่ นำโดยเทศบาลเมืองสะเดา คัดค้านแนวสายไฟ กับกฟผ.ตั้งปี ปี 2561 แต่สุดท้ายไม่เป็นผลจนต้องพึ่งศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่าแนวสายส่งไฟฟ้าของกฟผ.ที่ผ่านเขาเล่ พื้นที่ที่กำลังพัฒนาในโครงการก่อสร้างพุทธอุทยาน เพื่อประโยชน์ประชาชนใช้ร่วมกันจะถูกบดบังทัศนียภาพจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

ผมคุยกับคุณสุเมธ ศศิธร หรือที่ชาวบ้านเรียก นายกฯโกติ้ว นายกเทศมนตรีเมืองสะเดา สงขลา ที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการคัดค้านแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงถึงสาเหตุที่ต้องจัดรับฟังความคิดเห็น  นายกฯสุเมธ ก็พูดชัดว่า ไม่ใช่การคัดค้านการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงของกฟผ. เพราะทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์การพัฒนาในพื้นที่โดยเฉพาะโครงการเศรษฐกิจพิเศษสะเดา ที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ประเด็นที่คัดค้านคือไม่เห็นด้วยกับแนวสายไฟที่ผ่านเขาเล่ ที่กำลังก่อสร้างพุทธอุทยานเขาเล่ สะเดา

ก่อนหน้านี้ปี 2561 เทศบาลเมืองสะเดา ได้ส่งหนังสือคัดค้านแนวสายไฟฟ้าแรงสูง ที่ผ่านเขาเล่ถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยขอให้ กฟผ.ใช้แนวสายส่งเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อไปที่สถานีไฟฟ้าย่อยที่อยู่บริเวณใกล้เคียง โดยไม่ต้องวางแนวสายไฟฟ้าแรงสูงใหม่ขึ้นมาอีก และกฟผ.ก็ให้เจ้าหน้าที่มาเจรจา อ้างความจำเป็นด้านความมั่นคง การบริหารจัดการ จนสุดท้ายก็มีหนังสือตอบกลับจากกฟผ.ว่า ไม่สามารรถเปลี่ยนแนวสายส่งไฟฟ้าได้ หากไม่เห็นด้วยก็ให้ยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครอง

เมษายน ที่ผ่านมาเทศบาล และชาวบ้านที่ร่วมลงชื่อ 3 พันคน ก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง และเข้าสู่กระบวนการไต่สวน  จนสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมนี้ เทศบาลฯ ก็ต้องจัดเวทีชี้แจงกับชาวบ้านถึงที่มาที่ไปทั้งหมด และหากมีผู้ไม่เห็นด้วยเพิ่มเติมก็ให้ลงชื่อร่วมคัดค้านยื่นต่อศาลปกครอง

นายกฯ สุเมธ บอกถึงความจำเป็นในการคัดค้านว่า โครงการก่อสร้างพุทธอุทยานเขาเล่ สะเดา มีประชาชน มูลนิธิ ร่วมบริจาคเงินแล้ว กว่า 100 ล้านบาท เพื่อจัดสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ทางพุทธประวัติ และประติมากรรมต่างๆ ซึ่งจำลองมาจากประเทศอินเดีย และทำภูมิสถาปัตย์ไว้แล้ว ที่นี่จะสร้างเป็นสวนสาธารณะ ชื่อสวนลุมพินีวัน ซึ่งมีขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ของชาวสะเดา หรือนักท่องเที่ยวที่สนใจทั้งชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้นยังมีสวนกวาง และภูมิสถาปัตย์อื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติในช่วงประสูติ จนเจริญวัย ซึ่งแนวสายส่งไฟฟ้าใหม่ พาดผ่านอกจากเป็นบริเวณพุทธอุทยาน  ยังมีอาคารอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริขององค์พระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งมีงบประมาณเรียบร้อยแล้ว 23 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง

นึกภาพง่าย ๆ ถ้าไปจากหาดใหญ่เข้าตัวเมืองสะเดา มองด้านขวาภูเขาที่เห็นก็คือเขาเล่ ที่เป็นภูเขาลูกเดียวของสะเดา ถึงแยกโรงพักแล้วเลี้ยวขวาไปทางปาดังเบซา กิโลกว่า ๆ ก็จะเห็นสายไฟฟ้าแรงสูงขึงตัดขวางถนน นั่นคือแนวสายส่งไฟฟ้าเดิมที่ใช้อยู่ เลี้ยวขวาไปอีก ประมาณ 500 เมตร จากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเดิม ก็จะเจอสายส่งไฟฟ้าแรงสูงใหม่ที่จะผ่านเขาเล่ คิดแบบชาวบ้านก็คือ ทำไมต้องวางระบบสายส่งไฟฟ้าใหม่ เพราะแนวสายไฟฟ้าเดิมที่ไปสิ้นสุดท้ายสถานีไฟฟ้าย่อย ที่ห่างชายแดนฝั่งด่านนอก 12 ก.ม.และด่านปาดังเบซา 12 ก.ม.

ถ้าใช้แนวสายส่งเดิม จากจุดเขาเล่ไปถึงสถานีไฟฟ้าย่อย ก็เพียง 5 เสาไฟแต่ทำไมต้องสร้างระบบสายส่งใหม่จากเขาเล่ไปสถานีไฟฟ้าย่อยที่เดิม ที่ต้องวางเสาไม่ต่ำกว่า 10 ต้น

หากระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแนวใหม่ก่อสร้างเสร็จ การเข้าไปเขาเล่ ที่จะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ทางพุทธศาสนา สถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ด่านแรกที่เจอก็คือแนวสายไฟแรงสูงขวางถนน ซ้อนกัน  2 ชั้น ขึ้นไปบนเขามองทางไหนก็เจอแต่สายไฟฟ้าเต็มไปหมด ทัศนียภาพแห่งการพักผ่อนหย่อนใจเสียหาย นี่เป็นเหตุผลที่ชาวบ้านที่นั่นคัดค้าน

กฟผ.ในฐานะหน่วยงานที่จะต้องจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้ ให้เพียงพอ ก็มักมองในมุมการทำให้เกิดความเสถียร เหตุผลที่ต้องวางโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าผ่านเขาดำ สตูล กับเขาเล่ สะเดาก็เหตุผลเดียวกันคือ “ความมั่นคง “ แม้ระบบโครงข่ายสายส่งเดิมมีอยู่แล้ว แต่หากเกิดปัญหาก็ต้องมีทางออกคือสร้างระบบโครงข่ายสายส่งใหม่ขึ้นมาเพื่อให้มีทางเลือกเมื่อเกิดปัญหา

เมื่อมีผู้คัดค้านและไม่มีเหตุผลที่เพียงพอที่จะทำให้ชาวบ้านยอมรับในแนวโครงข่ายสายส่งใหม่ที่จะสร้างขึ้นมาเป็นคู่ขนานกับของแนวสายส่งเก่า ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออก ทางออกก็ใช้แนวสายเดิมเพียงการเพิ่มวงจรในโครงข่ายสายส่งก็จบ โดยไม่ต้องก่อสร้างวางสายเพิ่มใหม่เกะกะ เสียเงินเวณคืนพื้นที่ชาวบ้าน หรือผ่านป่าเขา .

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์