โรงเรียนเปิดเทอมทั่วประเทศ 16 พ.ค.นี้ เรื่อง “นมโรงเรียน” ที่ยังไม่ส่งกล่องแรกก็เริ่มแฉกันเรื่อย ๆ หลังมติครม. 26 มี.ค.62 ที่รวบอำนาจให้ข้าราชการจัดการนมโรงเรียนภายใต้งบประมาณปีละ 1.4 หมื่นล้าน ผลประโยชน์ระดับนี้มันล่อตา ล่อใจ
17 พ.ค.เป็นวันนัดประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด แต่ล่าสุดกรรมการได้รับแจ้งขอเลื่อนประชุมเป็นวันที่ 27 พ.ค.นั่นก็ชัดเจนว่าบทบาทของมิลค์บอร์ดที่เคยเป็นองค์กรในการบริหาจัดการนมโรงเรียนมายาวนานถูกดีดออกจากโครงการนมโรงเรียนเรียบร้อย
ณ 14 พ.ค.62 โครงการนมโรงเรียน ที่จะต้องส่งให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศในวงเงินปีละ 1.4 หมื่นล้าน เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมฟรีปีละ 18 ลิตร และรัฐบาลนี้มีนโยบายจะเพิ่มเป็นคนละ 25 ลิตรในปี 2564 คงมีการจัดการเรียบร้อยไปแล้ว โดย”คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน” จำนวน 15 คน ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน
นี่คือปมปัญหาของมติครม. ที่น่าติดตามหลังรวบอำนาจจาก “มิลค์บอร์ด”มาตั้งกรรมการใหม่ที่เป็นข้าราชการแบบล้วน ๆ แต่ก็ยังมีปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน ที่ต่างกับมิลค์บอร์ด ที่นอกจากจะมีปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการแล้วยังมี “ผู้มีส่วนได้เสีย” จากตัวแทนเกษตรกร 5 คนจาก 5 ภาค และผู้ประกอบการโรงนม 5 คนร่วมเป็นกรรมการ
ระบบที่มีผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาเป็นกรรมการถูกมองว่ามีการใช้เส้นสนกลในกับผลประโยชน์ปีละ 1.4 หมื่นล้าน แต่ข้อเท็จจริงคนในวงการก็รู้ว่าคนอุ้มเค๊กก้อนโต 1.4 หมื่นล้านต่อปีคือใคร …ใครเป็นคนได้ชิ้นปลามันทุกครั้งทุกปี
หลัง “กฤษฎา บุญราช” รมว.เกษตรฯ ผ่าตัดโครงสร้างนมโรงเรียน โดยใช้มติครม.26 มี.ค.62 เพื่อล้างระบบที่มติครม.15 ธ.ค.52 วางไว้ ผมบอกตรง ๆ ว่า “หวาดเสียว” เพราะยังมีคนที่เคยมีบทบาทในวงการนมโรงเรียนที่ชื่อกระฉ่อนทั่วประเทศ แค่เอ่ยชื่อเล่นเจ้าของโรงนมทั่วประเทศที่ได้โควต้านมโรงเรียนเขารู้กิตติศัพท์ของ“2 เสี่ย”กันหมด
หน้าที่ของโรงนมที่ผ่านมา คุณมีหน้าที่ยื่นประมูล พอได้มาก็ผลิตอย่างเดียว เรื่องส่งนมตามโรงเรียนต่าง ๆ การเคลียร์ปัญหา การเก็บเงิน 2 เสี่ยจัดการให้เสร็จสรรพ แค่ขอกล่องละ 50 สตางค์ เป็น 50 สตางค์จากปีละ 2 พันล้านกล่อง ถ้าเหมาหมด 2 เสี่ยรับอย่างน้อยก็ 1 พันล้านบาทปี
2 เสี่ยที่ว่าก็ยังเดินเข้า ออก กระทรวงเป็นว่าเล่น ยิ่งรวบอำนาจการจัดการนมโรงเรียน โดยตัดมิลค์บอร์ดที่อาจจะ “เดินไม่คล่อง”เพราะมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมเป็นบอร์ดถึง 10 คน หากบอร์ดตามโครงสร้างใหม่ที่มีเฉพาะข้าราชการล้วน ๆ และยิ่งเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเสร็จสรรพ ระดับเสี่ยก็น่าจะเดินคล่องขึ้น
การจัดสรรนำโรงเรียนตามระบบเดิมที่มีมิลค์บอร์ดเป็นองค์กรจัดการสูงสุด จะต้องอนุกรรมการนมโรงเรียน เพื่อทำการจัดสรรโควต้า และนำเสนอต่อมิลค์บอร์ดอนุมัติ แต่ระบบไหม่ ให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ที่ตั้งขึ้นใหม่โดยไม่ต้องมีผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นกรรมการ โดยอ้างว่าจะทำให้เกณฑ์การจัดสรรสิทธิหรือโควต้ามีความเป็นธรรมและโปร่งใสยิ่งขึ้น
การจัดสรรสิทธิหรือโควต้า ให้กับโรงนมเพื่อส่งตามโรงเรียนเดิมให้อนุกรรมการนมโรงเรียนไปจัดการแล้วเสนอมิลค์บอร์ดอนุมัติ ระบบใหม่ แยกเป็น 5 กลุ่มพื้นที่ดูแลรับผิดชอบเป็นอนุกรรมการจัดสรรโควต้านม โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มที่มีผู้เลี้ยงวัวนมเยอะ เป็นประธานจัดสรรโควต้า
5 กลุ่มจังหวัด แยกเป็น
กลุ่ม1 ประกอบด้วย จ.อยุธยา นนทบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สระบุรี ลพบุรี และปทุมธานี ในคณะนี้ ผวจ.สระบุรีเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่ม 2 (เขต 2 และ 3 ) ประกอบด้วย จ.นครนายก ปราจีนบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา จันทบุรี สมุทรปราการ สระแก้วระยอง ชลบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และสุรินทร์ โดยมี ผวจ.นครราชสีมาเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่ม 3 (เขต 4) ประกอบด้วย จ.อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย กาฬสินธุ์ เลย นครพนม มหาสารคาม หนองบัวลำภู สกลนคร มุกดาหาร บึงกาฬ ร้อยเอ็ด และขอนแก่น ซึ่งคณะนี้ ผวจ.ขอนแก่นเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่มที่ 4 (เขต 5,6) พื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา น่าน สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ผวจ. เชียงใหม่เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่มที่ 5 (เขต 7,8,9 ) ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ราชบุรี กระบี่ นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง ผวจ.ราชบุรีเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
สรุปตามระบบใหม่ผู้มีอำนาจจัดสรรโควต้านมโรงเรียนคือผู้ว่าราชการจังหวัด 5 คน โดยมีปศุสัตว์จังหวัดเป็นผู้ชง นักประมูลงานย่อมเข้าใจดีว่าหากระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่อันไหนยาก ง่ายกว่ากัน ?
ที่ผ่าตัดระบบโดยมติครม.ก็อ้างเรื่องเกษตรกรชุมนุมและยื่นเรื่องให้รมว.เกษตรฯ แก้ปัญหา เมื่อ 24 ก.ย.61 โดยวันนั้นที่ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าพบ รมว.เกษตรฯ ได้แฉข้อมูลว่ามีการ “ไซฟ่อนนม” เกษตรกรระดับเสี่ย ให้ข้อมูลว่า ทั้งประเทศไทย มีแม่โคนม 6 แสนตัว ผลิตน้ำนมดิบ 3.1 พันตัน ต่อวัน เข้าระบบนมโรงเรียน 1,170 พันตันต่อวัน เด็กนักเรียนกิน 260 วันต่อปี ส่วนที่เหลือเป็นนมพาณิชย์ แต่กลับมีตัวเลขปริมาณนมเข้าสู่นมโรงเรียน มากถึง 1,400 ตันต่อวัน ที่นมส่วนเกิน ไม่มีการรับซื้อนมจากเกษตรกร ถือเป็นการไซฟ่อนตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบที่ทำให้ตัวเลขมันพุ่ง ไปถึง 200-300 ตันต่อวัน โดยมิลค์บอร์ด ก็ไม่เคยแก้ไข
เป็นการแฉตัวเลขการไซฟ่อนนม จน รมว.เกษตรเดินเรื่องต่อจนออกเป็นมติครม.รื้อระบบ
หัวข้อข่าวรับมติครม.บ้างก็ว่าเป็นการ “ล้มขาใหญ่นมโรงเรียน” บ้างก็ว่า “ผู้เลี้ยงโคนมเฮ” แต่วันนี้ 14 มี.ค. ก่อนเปิดเทอม 2 วัน กลุ่มสหกรณ์โคนม ทั่วประเทศ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรฯ ทั้งเรื่องกลุ่มสหกรณ์โคนมภาคกลาง 14 สหกรณ์ ถูกแทรกแซงนมโรงเรียนอย่างไม่เป็นธรรม ผิดหลักการบริหารจัดการโลจิสติกส์ แถมถูกลดปริมาณนม กว่า 120 ตันต่อวัน และสูญเสียรายได้ กว่า 800 ล้านบาทต่อปี
ที่มามากกว่านั้นยังมีเรื่องโรงนมย่านภาคใต้ ไปอ้างว่าซื้อนมดิบที่ภาคเหนือมามาผลิตนมโรงเรียนส่งให้โรงเรียนในภาคใต้ทั้งที่ไม่มีการซื้อจริง…มันเกิดอะไรขึ้น ?
เรื่องนมโรงเรียนแค่ยังไม่ส่งเข้าโรงเรียนกล่องแรก เรื่องนี้ท่าจะยาว ผมคงต้องเขียนเรื่องนี้ต่อไปจนเปิดเทอม เพราะแม้จะผ่าตัดระบบยังไง ก็แค่ลดขั้นตอนการวิ่งเต้นเพื่อได้โควตาง่ายขึ้น โดยมี “เสี่ยขาใหญ่” ยังเป็นผู้เล่นตัวเป้า เดิม ๆ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: