การผ่าตัดระบบนมโรงเรียน ยุครัฐบาล คสช.โดยอ้างเหตุผลโล๊ะขาใหญ่ ไล่ล่าขบวนการไซฟอน แจ้งตัวเลขนมเป็นเท็จเพียงเพื่อหวังประโยชน์จากการขอเพิ่มโควตาการจัดสรร เอาเข้าจริงยังไม่ทันส่งนมกล่องแรกของปี หนังม้วนเก่าก็เริ่มฉายซ้ำจนได้
งบประมาณปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลจัดสรรให้กับนักเรียนเพื่อดื่มเป็นอาหารเสริมทั่วประเทศ 7.4 ล้านคน ตลอดช่วงเวลาการเรียน 260 วันต่อปี ปริมาณนม ปีละ 18 ล้านตัน มูลค่า 1.4 หมื่นล้าน และมีเป้าการขยายการบริโภคนมของนักเรียน เป็น 25 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ยังจะตกอยู่ในวังวนของกลุ่มผลประโยชน์ แม้กระทั่งการทำมาหากินกับเด็กก็ยังไม่เว้นอย่างนั้นหรือ
การยกเลิกระบบเดิมที่มีคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด ดำเนินการ และตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ โดยมีกรรมการเป็นข้าราชการล้วน ๆ ก็อ้างการป้องกันไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียมาเป็นกรรมการเพราะจะไม่เป็นธรรมในการจัดสรรสิทธิการส่งนม
แต่เอาเข้าจริงผลประโยชน์ที่ล่อตา ล่อใจ กำไรเห็น ๆ อย่างนมโรงเรียน หลายคนจ้องที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมมาตลอด และฉาวโฉ่เรื่องทุจริตมาตลอดทั้งเรื่องนมเน่า นมเสีย เรื่องเงินเปอร์เซ็นต์นม รู้กันมานาน เห็นกันตลอด แต่ดูเหมือนจะยากกับการจัดการ
การจัดสรรสิทธิหรือโควตาให้กับผู้ประกอบการ ระบบใหม่ แยกเป็น 5 กลุ่มพื้นที่ดูแลรับผิดชอบเป็นอนุกรรมการจัดสรร โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มที่มีผู้เลี้ยงวัวนมเยอะเป็นประธาน ตามหลักการก็ให้แต่ละกลุ่มไปพิจารณาพื้นที่ของตนเองมีน้ำนมดิบปริมาณเท่าไร หากไม่เพียงพอ ก็ให้มองเขตใกล้เคียง หรือ กลุ่มไหนที่มีน้ำนมดิบเกิน ก็ให้ประสานไปที่กลุ่มข้างเคียงเช่นเดียวกัน
การคัดผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการต้องดูความเหมาะสม เช่นหากพื้นที่ไกลเกินไปอาจมีปัญหาการขนส่ง นมอาจมีปัญหา เด็กท้องเสีย ผู้ว่าฯมีสิทธิ์ที่จะไม่เอาเพราะต้องดูเรื่องโลจิสติกส์เป็นหลัก ว่าง่ายๆ ต้องใช้นมในพื้นที่เป็นหลัก ไม่พอก็เสริมจากพื้นที่อื่น
แต่ยังไม่ทันไร เรื่องเก่า ๆ ที่เคยหมักหมมมานาน โดยเฉพาะปัญหาไซฟอน หรือแต่งตังเลขนม ที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการจับได้แต่ไม่มีการลงโทษ แม้กฎใหม่จะคาดโทษ และจะต้องโดนฟ้องเรียกค่าเสียหายด้วยแต่ก็ยังมีคนพยายามทำแบบเดิม ๆ
มีเรื่องร้องเรียนที่ส่อไปในทางที่ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ในการพิจารณาจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการ ในพื้นที่กลุ่มที่ 5 ที่ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ราชบุรี กระบี่ นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง โดยมี ผวจ.ราชบุรีเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กรณีสหกรณ์โคนม ที่เป็นของผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์นมที่ จ.กาญจนบุรี และจ.พัทลุง ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ได้โควต้านมโรงเรียนในโซนเขต 5 ระบุว่ามีการซื้อขายนมดิบกับสหกรณ์โคนมหริภุญชัย จำกัด สหกรณ์โคนมสันกำแพง (ป่าตึงห้วยหม้อ) จำกัด สหกรณ์โคนมแม่ออน จำกัด จำ และสหกรณ์โคนมแม่ทา จำกัด ทั้งที่ความจริงสหกรณ์ทั้ง 4 ที่ ลำพูน และ.เชียงใหม่ ไม่ได้ขายนมดิบให้กับสหกรณ์ที่อ้าง แต่ขายให้กับอ.ส.ค.แต่กลับมีใบรับรองซื้อขายกับสหกรณ์ที่แอบอ้าง
ถ้าว่ากันตามการแจ้งตัวเลขนมดิบในมือก็เท่ากับว่าเป็นการซื้อนมดิบจากภาคเหนือ ทั้งลำพูน เชียงใหม่ มาขายที่โซนภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งผิดธรรมชาติ เพราะระยะทางไป-กลับร่วม 3,000 ก.ม.สำหรับการขนส่งนม และสหกรณ์ที่ถูกกล่าวอ้างว่าขายนมดิบตามที่อ้างก็ออกมาปฏิเสธ
สหกรณ์ฯที่ลำพูน เชียงใหม่ ขายนมดิบให้กับ อ.ส.ค.แต่ทำไมถึงมีรายชื่อขายนมดิบให้กับผู้ประกอบการจำหน่ายนมโรงเรียน ที่ จ.กาญจนบุรี นี่เป็นปัญหาลึกลับที่แฝงตัวอยู่ในวงการนมโรงเรียนมายาวนาน
ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการหลายรายมักแจ้งแจ้งรับซื้อน้ำนมดิบมากกว่าที่รับซื้อจากเกษตรกรก็เพื่อเป็นข้ออ้างขอเพิ่มโควต้าในการจัดสรรสิทธิเพิ่มขึ้นจากเดิมตามประมาณนมดิบที่มี
วิธีการแต่งตัวเลข เพื่อเพิ่มโควต้านมโรงเรียน ถือเป็นกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะการได้โควตานมโรงเรียนถือเป็น “กำไร”แบบเต็ม ๆ ไม่ต้องเสี่ยงเหมือนการทำนมพาณิชย์ หากมีนมดิบจริงวันละ 100 ตัน ก็อ้างตัวเลขจำนวนนมดิบที่สูง ๆ เช่นบอกว่ามี 150 ตัน เพื่อจะได้รับจัดสรรโควต้านมโรงเรียน 100 ตัน เท่ากับได้เต็ม 100% ตามสินค้าที่มี
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวเลขการผลิตนมดิบของไทยมันผิดเพี้ยนมาตลอด จากทั่วประเทศมีแม่โค 6 แสนตัว แต่ละวันผลิตน้ำนมดิบได้ 3.1 พันตัน เข้าระบบนมโรงเรียน 1,170 พันตันต่อวันเพื่อเด็กนักเรียนกิน 260 วันต่อปี ที่เหลือเป็นนมพาณิชย์ แต่ กลับปรากฎว่าตัวเลขปริมาณนมเข้าสู่นมโรงเรียน มากถึง 1,400 ตันต่อวัน ทำให้ตัวเลขนมดิบ เกินจริงกว่า 300 ตันต่อวัน
มันเป็นการไซฟอน แจ้งตัวเลขปริมาณนมอันเป็นเท็จตบตากรรมการจัดสรรโควต้านม และเป็นเหตุผลใหญ่ของการรื้อระบบ และมีประกาศคณะกรรมการ อาหารนมเพื่อเด็กฯที่พยายามปิดทางการไซฟอน โดยกำหนดให้ การรับน้ำนมโคจากศูนย์รวบรวมน้ำนมโค ให้แนบสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม กับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและ/หรือหนังสือรับรองการใช้นมโค กำหนดขนาดนี้แต่ก็ยังซิกแซกหลุดรอดกันจนได้
นอกจากตีกรอบเรื่องที่มาที่ไปของนมดิบ ยังตั้งเงื่อนไขกับผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องลงนามรับเงื่อนไขระบบเกษตรพันธสัญญา ผูกมัด ใครผิดนัด เบี้ยวรับน้ำนมดิบเกษตรกร ส่งนมไม่ครบ ผิดมาตรฐาน นมบูด เด็กท้องเสีย จะใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 มาจัดการ
ดูเหมือนมาตรการป้องกันการไซฟอน เมกตัวเลข โควต้าลม นมโรงเรียนจะดูดี แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นจริงได้ขนาดไหน ?
ความจริงที่รู้กันทั้งวงการ “ขาใหญ่” ตัวจริง…ไม่มีนมสักหยด!
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: