คดี “ตายายเก็บเห็ด”ที่นายอุดม ศิริสอน วัย 57 ปี และนางแดง ศิริสอน อายุ 54 ปี ติดคุกในคดีความผิดตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และพ.ร.บ.ป่าไม้ ที่ดราม่ามากว่า 8 ปี ได้ปิดฉากลงแล้ว หลังทั้งสองได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และถูกปล่อยตัวจากเรือนจำถือเป็นการลดโทษเร็วกว่ากำหนด 1 ปีเศษ
ย้อนกลับไปดูที่มาของคดีนี้ ที่หลายคนก็ยังคาใจกับคำว่า “ตายายเก็บเห็ด” โดยที่มาของคดีเริ่มเมื่อช่วงวันที่ 12-19 ก.ค.2553 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ตรวจสอบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงระแนง ต.โนนสะอาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พบมีพื้นที่ป่าถูกบุกรุกรวมเนื้อที่ทั้งหมด 73 ไร่ พบของกลางเป็นไม้ที่ถูกตัดเป็นไม้สัก และไม้กระยาเลย ในบริเวณสวนป่า จำนวนมาก
ในที่เกิดเหตุไม่พบผู้กระทำความผิด แต่พื้นที่ใกล้เคียงพบรถจักรยานยนต์จอดอยู่ 1 คันจึงทำการตรวจยึดและขายผลและทราบว่าเจ้าของรถเป็นนายอุดม ศิริสอน ขณะนั้นอายุ 48 ปี และนางแดง ศิริสอน ภรรยานายอุดม ขณะนั้น อายุ 45 ปี
เมื่อตรวจที่บริเวณที่บ้านพักนายอุดม และนางแดงก็พบของกลางเป็นไม้สัก และไม้กระยาเลย ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. เป็นจำนวนรวม 1,148 ท่อน คิดเป็นเงินมูลค่ารวม 552,160 บาท ซึ่งถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่า มีความเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
ข่าวน่าสนใจ:
สุดท้ายสามีภรรยาคู่นี้ ถูกตั้งต้องหาในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484
ผลการดำเนินคดี
1. ชั้นพนักงานสอบสวน เห็นควรสั่งฟ้องตามสำนวนการสอบสวน
2. ชั้นอัยการ พนักงานอัยการ เป็นโจทย์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์
3. วันที่ 26 ก.ย.2554 ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์พิพากษา ความผิดฐานร่วมกันบุกรุก แผ้วถาง ก่นสร้าง ทำไม้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้จำคุกคนละ 11 ปี และความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้าม อันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุกคนละ 19 ปี รวมจำคุกคนละ 30 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 15 ปี ริบของกลางทั้งหมด
4. วันที่ 20 ก.พ.2555 ศาลอุทธรณ์พิพากษา แก้โทษคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำคุกคนละ 14 ปี 12 เดือน
5.วันที่ 2 พ.ค.2560 ศาลฎีกา พิพากษาจำคุกคนละ 5 ปี
6. วันที่ 16 พ.ค.2562 ทั้งสองได้รับพระราชทานอภัยโทษ ปล่อยตัวจากเรือนจำ
รวมระยะเวลาของคดีนี้จากต้นจนจบ เป็นเวลา 8 ปี 10 เดือน
กระแสดราม่า “ตายายเก็บเห็ด” เริ่มเกิดขึ้นเมื่อช่วงหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำคุกคนละ15 ปี แต่ทั้งสองไม่ยอมเข้าคุก ทนายความได้ยื่นประกันตัว เพื่อขอต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2554 และทำให้คนอายุ 48 ปี กลายเป็น “ตา” อีกคนอายุ 45 ปี ก็กลายเป็น “ยาย”ในช่วงการประโคมข่าวของสื่อบางสำนักในช่วงนี้
คำว่า “เก็บเห็ด” ก็เป็นการขยายจากสำนวนในชั้นสอบสวนของตำรวจ ที่นายอุดม และ นางแดง อ้างว่า ไม่ได้อยู่ในขบวนการมอดไม้ แต่วันนั้นทั้งสองได้เข้าไปเก็บเห็ดกันในป่า แต่บังเอิญดวงซวยใกล้จุดที่เก็บเห็ดมีขบวนการตัดไม้ อยู่ในบริเวณใกล้เคียง และช่วงจังหวะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปในพื้นที่เพื่อจะจับกุม ทั้งสองกลัวโดนร่างแหถูกจับเลยรีบหนีออกจากพื้นที่อย่างกระทันหันจนต้องทิ้งจักรยานยนต์ไว้
และบังเอิญอีกเช่นกันวันที่ตำรวจเข้าไปสอบสวนทั้งสองที่บ้าน เป็นช่วงที่กำลังทำกับข้าว และมีเมนู “แกงเห็ด”พอดี ตำรวจเลยเก็บหลักฐานเอา “แกงเห็ด”ใส่ถุงพลาสติกเก็บเป็นหลักฐานประกอบสำนวนด้วย ทุกอย่างเลยถูกโยงขมวดลงตัวเป็นประโยคเด็ด “ตายายเก็บเห็ด”ในช่วงที่มีการยื่นประกันตัวเพื่อต่อสู้ในขั้นอุทธรณ์
เหตุผลในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ที่ทีมทนายคนดังเข้าไปจับคดี อ้างว่าเนื่องจากช่วงการพิจารณาในศาลชั้นต้นจำเลยปฏิเสธที่จะตั้งทนาย และได้รับการแนะนำจากเพื่อนบ้านว่าให้รับสารภาพไปเพราะโทษมีแค่ปรับเล็ก ๆ น้อย ๆ คดีจะได้จบ ๆ และช่วงการต่อสู้คดีนายอุดมเกิดอุบัติเหตุรถล้มนอนสลบ 3 วัน 3 คืน จนมีปัญหากับการได้ยิน พอศาลถามก็ฟังไม่ถนัดก็ได้แต่พยักหน้า เออ ๆ ออ ๆไป
กระแสสังคมกับคดีตายายเก็บเห็ดที่ผ่านสารพัดสื่อสร้างความกดดันกับกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะช่วงกระแสการเมืองที่พยายามปลุกอารมณ์ผู้คนให้เห็น ความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้คำ ๆ นี้ ขจรขจายขยายกว้างยังกับไฟลามทุ่ง และถูกนำไปเปรียบเทียบกับหลายเหตุการณ์ในหลายมิติ
แต่หากไล่เรียงผลขอการพิจารณาคดี และข้อต่อสู้ของอีกฝ่ายก็จะเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน
คนจน ๆ ในชนบท เข้าป่าแค่เก็บเห็ดมาปรุงเป็นอาหารแล้วถูกจับส่งฟ้องศาลรับโทษหนักเป็นประเด็นอ่อนไหวแต่คนในชุมชน หมู่บ้านที่มีฐานข้อมูลรายละเอียดบุคคลในระดับลึกกว่าคนในสังคมเมือง ต่างรู้ฐานะของแต่ละคนว่าใครทำอะไรบ้าง ใครมีความเป็นอยู่ระดับไหน
ระดับนายอุดม นางแดง ชาวบ้านที่มีรถบรรทุกหกล้อไว้รับจ้างและใช้งานส่วนตัวได้ นี่ก็ถือว่าความเป็นอยู่เมื่อเทียบกับครอบครัวชาวบ้านทั่วไปถือว่าไม่ธรรมดาแน่นอน
มองผ่านม่านคำว่า “ตายยายเก็บเห็ด” จากคดีนี้ที่สะท้อนผ่านสื่อทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลบนโลกอินเทอร์เนต ในมุมลึก ๆ ไม่ใช่แค่คำสนุกปาก บางคน บางกลุ่มก็นำไปใช้ในการเคลื่อนไหวทางสังคมในเชิงเสียดสีประชดประชัน จนยากที่จะรู้ความจริงของเรื่องคืออะไร แต่มันก็สะท้อนความคิดเห็นทางสังคมได้ว่าในฐานะคนอ่านก็ต้องคิดตามครับ
ยุค “ดราม่านิยมเหลือล้น” มันน่าสงสาร”ความจริง”เอามาก ๆ เลย.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: